สัมภาษณ์พิเศษ : อธิบดีกรมการกงสุล เผยภารกิจกต.รับมือโควิด

หมายเหตุ “มติชน” นับตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน ที่รัฐบาลใช้มาตรการชะลอการเดินทางเข้าประเทศของคนไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงการต่างประเทศโดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกมีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตั้งแต่การช่วยเหลือคนไทยจำนวนมากที่ตกทุกข์ได้ยากเนื่องจากกลับบ้านไม่ได้ นักเรียนนักศึกษาไทยในต่างแดน แรงงานไทยในต่างประเทศที่ต้องตกงาน แรงงานไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ ฯลฯ ขณะที่ในประเทศ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานในต่างแดนของไทย รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ ก็คือกรมการกงสุล “มติชน” จึงพูดคุยกับ นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล ถึงการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงมุมมองของงาน ท่ามกลางสภาวะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างที่ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะยุติลงเมื่อใด
///
กระทรวงได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนไทยในช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 
ในช่วงแรกๆ ที่สถานการณ์ยังสับสนอลหม่านอยู่พอสมควร สถานเอกอัครทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทย (สอท.และสกญ.) ทั่วโลกได้ช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่ายอุปกรณ์อนามัย ถุงยังชีพ ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในต่างประเทศให้พิจารณาอำนวยความสะดวกในการขยายระยะเวลาการตรวจลงตราให้คนไทยพำนักในต่างประเทศไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนคนไทยในต่างประเทศที่ติดโควิด-19 สอท.และสกญ.ได้ดูแลติดตามอาการ และช่วยประสานงานกับหน่วยงานทางสาธารณสุขของประเทศต้นทางเพื่อให้การดูแลรักษา
นอกจากนี้ กระทรวงยังได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งกลุ่มสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่คนไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายประเทศ อาทิ อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และอุซเบกิสถาน ขณะที่ในอีกหลายประเทศก็มีกลุ่มไลน์ที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ เพื่อช่วยลดความเครียดและสร้างความอุ่นใจให้กับคนไทยไกลบ้าน ขณะที่คนไทยที่มีความประสงค์เดินทางกลับไทยแต่ไม่มีเงิน กระทรวงก็ให้ยืมเงินอุดหนุนช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศจากสอท.และสกญ.ในพื้นที่ เพื่อให้พวกเขาสามารถเดินทางกลับบ้านได้
นับตั้งแต่มีมาตรการชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทย กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อำนวยความสะดวกให้คนไทยกลับบ้านตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนถึงปัจจุบันกว่าแสนคน เกือบ 700 เที่ยวบิน เฉลี่ยแล้วมีคนไทยเดินทางกลับประมาณเดือนละ 12,000 – 14,000 คน ซึ่งขณะนี้เรากำลังจะมีการปรับเปลี่ยนระบบการลงทะเบียนสำหรับคนไทยที่เดินทางกลับประเทศใหม่เป็นการลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อให้สะดวกสำหรับประชาชนมากขึ้น โดยได้มีการเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกและฮ่องกงในเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป
ล่าสุดเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มในการเดินทางเข้าประเทศแล้ว 
ในส่วนของคนต่างประเทศ เดิมห้ามเข้าทั้งหมดเว้นแต่คนที่เข้าข่ายตามมาตรการผ่อนปรนของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพียงไม่กี่กลุ่ม ล่าสุดที่ประชุม ศบค. เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เห็นชอบกับการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เพราะทราบดีว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น กระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนมาตรการดังกล่าว จึงได้เสนอมาตรการผ่อนคลายวีซ่าให้กับกลุ่มคนที่จะมาอยู่ในไทยแบบระยะยาว หรือคนที่มีอสังหาริมทรัพย์ในไทย นักธุรกิจที่เข้ามาทำงานแต่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงาน ผู้บริหารบริษัทต่างๆ ที่มีบัตรเอเปค โดยเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน
อย่างไรก็ดี การนำคนเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมดยังต้องรักษาความสมดุลระหว่างความปลอดภัยสาธารณะและเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ที่เข้ามาจะต้องทำตามเงื่อนไขที่มีอยู่เดิมและต้องผ่านข้อกำหนดทั่วไปประกอบด้วยการกักตัว 14 วัน ต้องมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีโควิด-19 ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ (ราว 3.2 ล้านบาท) มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางปลอดเชื้อโควิด-19 และมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (fit to fly) นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ หรือ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งเป็นวีซ่าเฉพาะกิจที่ใช้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไปแล้ว และคิดว่าน่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
เมื่อจำนวนคนที่จะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น ทั้งคนไทยและต่างประเทศ การดำเนินการแบบเดิมที่สอท.และสกญ.จะต้องจัดเที่ยวบินเอง จึงอาจไม่สนองความต้องการ กระทรวงจึงพัฒนาระบบออกใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศ (COE) ให้เป็นระบบออนไลน์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวไทยและชาวต่างชาติ รองรับการเปิดให้สายการบินเข้ามาไทยได้สะดวกขึ้นในลักษณะกึ่งพาณิชย์ โดยผู้ที่จะเข้ามาต้องมีวีซ่าและ COE เมื่อเข้าข้อกำหนดตามเงื่อนไขก็สามารถไปซื้อตั๋วเครื่องบินได้ จะทำให้มีคนเดินทางเข้าไทยมากกว่าเดิม เพราะเดินทางมาได้ง่ายขึ้น มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านเที่ยวบินและสนับสนุนการให้มีการเดินทางเข้าไทยได้สะดวกกว่าเดิม รวมถึงความเป็นไปได้ที่ที่จะอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางมาเปลี่ยนเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรณภูมิได้
โควิด-19 จะกลายเป็นโอกาสสำหรับไทยอย่างไร และเราต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง 
ถ้าเราคำนึงว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกยาวจนกว่าจะมีวัคซีน ก็เป็นโอกาสที่เราจะเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองใหม่เพื่อให้รับกับสถานการณ์ใหม่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจุดแข็งที่เราสามารถคุมโควิด-19 ได้เป็นต้นทุน ฉะนั้นเราอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่นในการแข่งขัน เพราะมีเมืองอีกมากมายที่ขณะนี้ยังต้องล็อกดาวน์ มีข้อจำกัดการออกจากบ้านเรือนหรือการรวมตัวกัน ขณะที่ไทยเริ่มผ่อนคลาย มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบทั้งหมด
หากเรามองเป็นโอกาสก็เป็นโอกาสจริงๆ ผมเห็นว่าการที่ไทยมีอัตราการแพร่เชื้อต่ำไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่สิ่งนี้ก็มีราคาที่เราต้องจ่ายสูงต่อการคุมโรค ดังนั้นคนต่างประเทศที่จะเข้ามาในไทยก็ต้องพร้อมที่จะจ่ายต้นทุนส่วนนี้ด้วย เพราะเรามีค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ คนต่างประเทศที่เราจะให้เข้ามาในไทยในช่วงนี้จึงจำเป็นต้องมีการคัดกรองคนที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจและเป็นผู้ที่มีศักยภาพสูงจริงๆ และต้องคุ้มกับราคาที่คนไทยต้องจ่ายไปเพื่อรักษาสถานการณ์ในประเทศไม่ให้มีการแพร่ระบาด นับจากนี้ไปเรื่องสาธารณสุขก็ควรเอามาใช้พิจารณาความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ด้วย
ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่ๆ มีการจัดลำดับความเข้มแข็งของหนังสือเดินทางของประเทศต่างๆ ปรากฏว่าหนังสือเดินทางของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอันดับสูง คนอยากได้สัญชาติของประเทศเหล่านั้นมากขึ้นเพราะไม่มีการแพร่ระบาดและปลอดภัย ขณะที่ในส่วนของไทย ปัจจุบันหลายชาติในยุโรป อาทิ อังกฤษ ก็เปิดให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศของเขาได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน เพราะเขามองว่ามิติด้านสาธารณสุขของไทยมีความเข้มแข็ง และเราเป็นประเทศที่ปลอดภัย ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยจึงมีความน่าเชื่อถือกว่าเดิม ต่างจากเดิมที่การการเดินทางมักจะดูจากอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นหลักเท่านั้น
ความปลอดภัยสาธารณะด้านสาธารณสุขจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในการเดินทางระหว่างประเทศในอนาคต หากดูในเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศ เราควรมองไปข้างหน้าโดยปรับปรุงระบบการตรวจลงตราใหม่ จากเดิมที่ดูกลุ่มคนมีฐานะทางเศรษฐกิจ ก็ต้องนำเอาประเด็นเรื่องสาธารณสุขมาพิจารณาประกอบด้วย นโยบายฟรีวีซ่าหรือการยื่นทำวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว (VoA) คงไม่สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ New Normal เพราะเราต้องมีการคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ปล่อยให้มาดูกันที่ปลายทาง
ลดการสัมผัสหรือแออัด ขณะเดียวกันต้องพัฒนาสนามบินให้เป็นที่ตรวจโควิด-19 ได้ และทราบข้อมูลเลย เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าเมือง ต่อไประบบการตรวจลงตราก็อาจจะต้องออกแบบพัฒนาเพื่องดเว้น
การสัมผัสทั้งหมด
อนาคตของการท่องเที่ยวแบบใหม่ก็ต้องปรับตัวทั้งหมดเช่นกัน การเดินทางไปเป็นกลุ่มใหญ่ๆ จะหายไป เน้นนักท่องเที่ยวคนเดียวหรือกลุ่มเล็ก ลดการแออัด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเองก็ต้องเปลี่ยนแปลง โรงแรมขนาดใหญ่อาจไม่เป็นที่นิยม คนอาจนิยมโรงแรมแบบที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ขณะที่เมืองรองก็อาจจะกลายเป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวมากขึ้น ไทยเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม และเราควรต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ปรับรอไว้ก่อน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image