ย้อนอดีต มองอนาคต 45ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน ผ่านสายตา “เตช บุนนาค”

หมายเหตุ “มติชน” – ปีนี้ครบรอบ 45 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน มติชนได้พูดคุยกับ ท่านเตช บุนนาค ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ถึงจีนที่่ท่านเห็นในอดีต จนถึงความท้าทายในการการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ท่ามกลางโลกที่การตอบโต้กันทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเผ็ดร้อนรุนแรงในปัจจุบัน ว่าไทยควรดำรงตนอย่างไรท่ามกลางสภาวการณ์ดังกล่าว
///

เตช บุนนาค

๐หากมองย้อนไปตั้งแต่เมื่อได้เดินทางไปจีนครั้งแรกในปีพ.ศ. 2516 เพื่อเตรียมพร้อมเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมาจนถึงปัจจุบัน เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เราเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 แต่การเริ่มพูดคุยกันอย่างเป็นทางการเริ่มมาตั้งแต่ปี 2516 โลกเมื่อ 45 ปีที่แล้วกับโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน ใครจะคิดว่าจีนจะพัฒนาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้นของโลกได้เร็วขนาดนี้ เพราะเมื่อปี 2518 จีนยังคงเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่งเต็มที่ ยังอยู่ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เมื่อเรามีชีวิตอยู่ต่อมาอีก 45 ปีแล้วได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น

ครั้งแรกที่ผมเดินทางไปจีนในปี 2516 เมื่อได้ข้ามสะพานจากฮ่องกงไปยังเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมง มีอาคารก่ออิฐถือปูนอยู่สัก 3 หลังได้ จีนที่เราเคยเห็นในยุคแรกมันสะอาด บริสุทธิ์ เมื่อเทียบกับโลกทุนนิยม มันเหมือนไปยังอีกโลกหนึ่งจริงๆ การที่เราได้ไปเห็นอีกโลกหนึ่งซึ่งแตกต่างจากโลกทุนนิยมมันเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น เพราะจีนถือเป็นดินแดนลึกลับสำหรับคนในยุคนั้น ใครจะคิดว่า 45 ปีต่อมาเมืองเซินเจิ้นแห่งนี้จะมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน กลายเป็นเมืองที่ทันสมัยแบบเซี่ยงไฮ้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุคนเท่านั้น มันเหลือเชื่อ

Advertisement

คนเซินเจิ้นจะไปเรียนหนังสือที่ฮ่องกง ส่วนคนฮ่องกงจะมาอยู่ที่เซินเจิ้น เพราะแม้จะเป็นเมืองที่แพงที่สุดของจีนแต่ก็ยังถูกกว่าฮ่องกง หรือในปี 2533 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ผมเป็นทูตที่จีน ก่อนย้ายไปประจำการที่เจนีวา ผมได้ไปเยี่ยมเซินเจิ้นอีกครั้ง และได้ไปดูโรงงานจีนที่เพิ่งผลิตซีดีรอมได้เป็นครั้งแรก ขณะนี้จีนก้าวไปถึงการมีเทคโนโลยี 5จี ที่ทันสมัยที่สุดในโลก ผลิตมือถือที่ทันสมัยมากขึ้นได้เอง มันเป็นคนละโลกกันเลย จีนเป็นประเทศเดียวที่เปลี่ยนแปลงไปขนาดนี้ในเวลาไม่ถึง 40 ปีเสียด้วยซ้ำ

๐มองพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย-จีนใน 45 ปีที่ผ่านมาอย่างไร

มันให้อะไรมากเหลือเกิน เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ดั้งเดิมระหว่างคนไทยกับคนจีนซึ่งที่จริงมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะไทย-จีนอยู่เคียงข้างกันมาตลอดในประวัติศาสตร์เป็นพันๆ ปี ผมพูดเสมอว่าคนในเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวัฒนธรรมเหมือนกัน ซึ่งไม่เหมือนกับคนเอเชียใต้หรือชาติตะวันตก เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดีและมากกว่า เรารู้สึกเป็นมิตร มองตากันแล้วเข้าใจกันได้มากกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์หลังไม่ได้มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ปี 2492 ที่ได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกันไปเมื่อสาธารณรัฐจีนกลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน

Advertisement

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอีกครั้งเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การทูตของไทยในปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่ในช่วงปี 2498-2518 เราอยู่ในยุคสงครามเย็น ซึ่งมีการตัดขาดกันระหว่างจีนซึ่งเป็นผู้นำโลกคอมมิวนิสต์กับสหรัฐและประเทศโลกเสรี การสถาปนาความสัมพันธ์กันอีกครั้งแสดงให้เห็นและเปลี่ยนความคิดของคนในสมัยนั้น ว่าจีนคอมมิวนิสต์ก็คือคนจีนที่เรารู้จักมาเหมือนเดิมในประวัติศาตร์ และในช่วง 40-45 ปีที่ผ่านมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เปลี่ยนการปกครองไปอย่างสิ้นเชิง

๐ปัจจุบันหลายคนมองว่าไทยหันไปหาจีนมากเกินไป

ผมว่าเราไม่ได้หันไปหาจีน แต่ประเทศตะวันตกต่างหากที่หันหลังให้เราหรือหมางเมินเราโดยยึดหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตก จึงเลือกที่จะไม่มีความสัมพันธ์กับเรา ขณะที่จีนเขาถือว่าการเมืองของเราเป็นเรื่องภายใน ถ้าเรามีรัฐบาลเขาก็พร้อมที่จะมีความสัมพันธ์กับเราแบบปกติ นี่คือความแตกต่าง บางทีตะวันตกก็หันมามองเราบ้าง แต่ก็ไม่ได้เห็นเต็มที่ เขาก็มีหลักการของเขาว่าต้องเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง ทหารต้องไม่ปฏิวัติ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของการเมืองไทย ขณะที่จีนเขาก็มีความสัมพันธ์กับเราตามปกติ เพราะเขายึดความเป็นจริง

ในทางทหาร ทำไมเราหันไปซื้ออาวุธจีน ก็เพราะชาติตะวันตกเมื่อเรามีรัฐบาลทหาร เขาไม่ขายอาวุธให้เรา ที่สำคัญคืออาวุธจีนนั้นถูกกว่า แน่นอนว่าเราไม่ได้ร่ำรวย รถถังหรือเรือดำน้ำจีนก็ถูกกว่าของสหรัฐ อังกฤษ หรือเยอรมนี เราก็ซื้อของจีน มันเป็นหลักคิดง่ายๆ คือเราซื้อของที่คุณภาพใช้ได้ และซื้อของที่เรามีเงินพอจะซื้อได้ แต่ถ้าเรามีเงินมากกว่านี้ เราก็อาจจะซื้อของที่แพงกว่า ความจริงเราก็ไม่ได้เพิ่งซื้อ แต่เราซื้ออาวุธจากจีนตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นทูตที่จีนแล้ว ทั้งรถถัง รถหุ้มเกราะ หรือต่อเรือ มันไม่ได้เป็นอะไรใหม่

เรื่องเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ตอนนี้จีนเป็นเหมือนอังกฤษในศตวรรษที่ 19 คือเป็นโรงงานของโลก ผลิตทุกอย่างในราคาย่อมเยาว์ ทั่วโลกรวมถึงไทยก็ซื้อของจากจีน อเมริกาก็ซื้อของจากจีน ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแอปเปิ้ลก็ทำในจีนทั้งนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มที่น่าสนใจที่บางประเทศนำโดยสหรัฐต้องการแยกการผลิตต่างๆ ออกมาจากจีน โดยหันมาผลิตสินค้าเองบ้างแทนที่จะใช้ของที่ผลิตในจีนทั้งหมด ไม่อย่างนั้นต่อไปก็จะต้องพึ่งพาจีนทุกอย่าง ซึ่งไม่ดีต่อความมั่นคงของสหรัฐเอง มันก็มีเหตุผลถ้าไม่ทำไปเลยเถิด

๐ขณะนี้จีนและสหรัฐกำลังทำสงครามการค้ากัน ไทยควรวางตัวอย่างไร

การวางตัวมีหลายระดับ แต่ระดับที่สำคัญที่สุดซึ่งผมให้ความสำคัญที่สุดคือเราต้องเข้าข้างประเทศที่วางตัวเป็นกลางอย่างสร้างสรรค์ และทำตัวเป็นสะพานระหว่างจีน-สหรัฐ เราต้องดำรงตัวไปกับประเทศเหล่านั้น เพื่อรักษาระบบการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ได้ก่อร่างสร้างตัวกันมาตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้นำโลก นั่นหมายความว่าเราต้องรักษากฎระเบียบการเมืองระหว่างประเทศว่าด้วยความสำพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและยึดมั่นต่อพันธกรณีในองค์การการค้าโลก เราต้องส่งเสริมทุกอย่างที่ก่อตั้งขึ้นมาในกรอบของสหประชาชาติเพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศขึ้น ไม่อย่างนั้นความตึงเครียดก็จะระเบิดขึ้นได้

สหรัฐในสมัยอดีตประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน เคยมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสันนิบาตชาติ แต่ภายหลังก็ถอนตัวออกไปจนประเทศต่างๆ ถอนตัวตาม ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองระหว่างประเทศ ไม่มีเวทีสำหรับการพูดคุย หรือมีตัวกลาง จนนำไปสู่การเผชิญหน้า และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉันใดก็ฉันนั้น ในโลกปัจจุบัน ประเทศอย่างไทยและประเทศต่างๆ ก็ต้องส่งเสริมองค์การต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบพหุภาคีและกรอบของสหประชาชาติ และต้องส่งเสริมให้สหรัฐมีบทบาทในองค์การเหล่านั้น ไม่ใช่ถอนตัวออกไป

ขณะนี้งานไกล่เกลี่ยทางการค้าก็ชะงักงัน เพราะไม่มีการแต่งตั้งตุลาการขององค์กรอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลก การมีองค์การต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์จึงจะสามารถไกล่เกลี่ยเรื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่สหรัฐถอนตัวออกไปและบังคับให้ประเทศต่างๆ ทำตามตัวเอง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ผมรู้สึกชื่นชมจีนที่ปัจจุบันเป็นประเทศที่สนับสนุนการทำงานของสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก องค์การอนามัยโลก และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าจีนมีความรับผิดชอบต่อสากลโลก ในขณะที่สหรัฐกำลังถอนตัวออกไป ซึ่งจีนก็ทำได้ดี
ขณะเดียวกันเราควรจะรักษาศักดิ์ศรีของตัวเราเอง เราไม่ควรหันไปทางจีนและต่อต้านสหรัฐ ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง เราควรร่วมไปกับอาเซียนเพื่อที่จะสนับสนุนทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองในกรอบพหุภาคี เราควรอยู่ตรงนั้น ซึ่งมีหลายประเทศที่เขาก็เห็นด้วยอย่างนั้น ไม่ว่าจะในกรอบอาเซียนก็ดี หรือใช้เวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ก็ดี

ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องพูดว่าเราไม่เอาเรื่องที่ต้องมาทำลายกรอบพหุภาคี ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐเองเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา แต่สหรัฐควรเป็นผู้นำคู่กับจีนที่จะต้องส่งเสริมรักษากรอบต่างๆ เหล่านี้ต่อไปเพื่อความสงบสุขของโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image