คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เศรษฐศาสตร์แห่งโอลิมปิก

REUTERS/Tony Gentile

นครรีโอเดจาเนโร ในฐานะเจ้าภาพต้องดิ้นรนรับมือกับสารพันปัญหาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาที่อ้างอิงกันว่าเป็น “มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ” ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรมน้อยใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขาดงบประมาณสนับสนุนในการจัดการแข่งขัน จนทำให้สนาม, ที่พักนักกีฬา, ถนนหนทางและระบบขนส่งมวลชนแล้วเสร็จไม่ทันตามกำหนด ปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจขาดวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เรื่อยไปจนถึงปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์, มลภาวะกับการระบาดของไวรัสซิกา

ยิ่ง “รีโอเกมส์ 2016” ต้องดิ้นรนมากเท่าใด คำถามที่ว่า การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์คุ้มค่ากับการลงทุนมหาศาลจริงหรือ ก็ยิ่งน่าแสวงหาคำตอบมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ปรากฏชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ นับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เรื่อยมา “ต้นทุน” ในการเป็นเจ้าภาพโดยรวมทั้งหมดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดกรณีตัวอย่างหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของการเป็นเจ้าภาพไม่ได้มีมากมายอย่างที่อวดอ้างกันไว้ก่อนหน้า หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ไม่ได้มีอยู่เลย สิ่งที่หลงเหลืออยู่หลังเกมการแข่งขัน กลับเป็นหนี้สินก้อนมหึมากับค่าใช้จ่ายต่อเนื่องในการทะนุบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างเพื่อการแข่งขันเท่านั้นเอง

โอลิมปิกเกมส์ ในรูปแบบที่เราเห็นกันอยู่ซึ่งเรียกขานกันว่าเป็นรูปแบบ “โมเดิร์นเกม” นั้นเริ่มต้นในปี 1896 นับแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงค่อนศตวรรษที่ 20 เจ้าภาพมักเป็นชาติพัฒนาแล้ว ถ้าหากไม่เป็นเมืองในยุโรปก็เป็นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่สะเทือนเท่าใดนักกับการนำงบประมาณของรัฐมาใช้เพื่อการนี้ เพราะอยู่ในสถานะที่ดีพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

Advertisement

จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงในทศวรรษที่ 1970 เมื่อจำนวนของชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันซัมเมอร์ โอลิมปิก เพิ่มขึ้นเกือบเป็น 2 เท่า มีอีเวนต์หรือรายการแข่งขันเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 ของที่เคยแข่งชิงเหรียญกันในทศวรรษ 1960 ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 1960 เรื่อยมาค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพแทบทุกครั้งทะลุเกินประมาณการชนิดแทบน้ำตาไหลพราก

เหตุการณ์สังหารผู้ประท้วงการเป็นเจ้าภาพของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ในปี 1968 ก่อนหน้าพิธีเปิดเพียงไม่กี่วัน ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของโอลิมปิกขึ้นมาในครั้งถัดไป เมื่อเดนเวอร์กลายเป็นเมืองเจ้าภาพเมืองแรกและเมืองเดียวที่ประกาศถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1972 ทั้งๆ ที่ได้รับคัดเลือกแล้ว หลังผลประชามติไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินภาษีเพื่อการเป็นเจ้าภาพ

มิวนิก ที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพแทน เผชิญกับเหตุร้ายที่คาดไม่ถึง เมื่อเกิดเหตุสังหารหมู่นักกีฬาอิสราเอลถึงหมู่บ้านนักกีฬา

Advertisement

การรับเป็นเจ้าภาพของนครมอนทรีออล ในปี 1976 กลายเป็นสัญลักษณ์ของการ “ขาดทุน” ขนานใหญ่ของเมืองเจ้าภาพ เมื่อค่าใช้จ่ายที่เดิมประมาณเอาไว้ที่ 124 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงๆ ในการเป็นเจ้าภาพถึง 2,600 ล้านดอลลาร์!

การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกหนนั้น ทำให้ชาวมอนทรีออลทุกคนตกเป็นหนี้เฉียบพลันหลายพันล้าน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 3 ทศวรรษถึงเคลียร์กันได้หมดจด!

ผลจากการ “เจ๊ง” หนนั้นก็คือในปี 1979 มีเพียง ลอสแองเจลิส เพียงเมืองเดียวเท่านั้นที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิกเกมส์ 1984

นครลอสแองเจลิส เป็นเจ้าภาพ “โมเดิร์นเกม” รายเดียวที่ประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน ชนิดที่ว่า เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันแล้วสามารถแสดงตัวเลขให้เห็นได้ชัดเจนว่ามี “กำไร” ถึง 215 ล้านดอลลาร์

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญที่สุดก็คือ การเป็นเมืองเดียวซึ่งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ทำให้แอลเอสามารถต่อรองเงื่อนไขการเป็นเจ้าภาพได้อย่างเต็มที่และได้รับการยกเว้นเงื่อนไขหลายอย่างจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ที่สำคัญก็คือ แอลเอแทบไม่จำเป็นต้องสร้างสนามและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่หรูหราอลังการ เพื่อดึงดูดให้คณะกรรมการคัดเลือกเมืองเจ้าภาพของไอโอซีเลือกตัวเองแต่อย่างใด

ความสำเร็จของลอสแองเจลิส ส่งผลให้จำนวนผู้ที่เสนอตัวเป็นเมืองเจ้าภาพ เพิ่มจาก 2 ในปี 1988 เป็น 12 เมืองที่แย่งกันเป็นเจ้าภาพของปี 2004

โรเบิร์ต บาเด และวิคเตอร์ แมทธีสัน สองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทำวิจัยศึกษาการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ชี้ให้เห็นด้วยว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ จำนวนเมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาที่เสนอตัวแข่งกันเป็นเจ้าภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 3 เท่าตัว

โอลิมปิกในระยะหลังถึงได้ไปจัดกันในประเทศอย่างจีน รัสเซีย และบราซิล ที่ตั้งความหวังจะใช้มหกรรมกีฬานี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความรุดหน้าของตัวเองบนเวทีโลก แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องลงทุนมหาศาลเพื่อรังสรรค์สิ่งซึ่งไม่เคยมี ไม่เคยใช้กันมาก่อนในประเทศขึ้นมารองรับการเป็นเจ้าภาพ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ปักกิ่งเกมส์ในปี 2008 ต้องลงทุนสูงกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่รัสเซียซึ่งใช้โซชิเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2014 ใช้เงินไปถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนรีโอเกมส์ 2016 ที่ “เขียม” กันสุดขีด ยังคาดกันเบื้องต้นว่าต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์

ต้นทุนสูงมากดังกล่าวทำให้หลายเมืองถอนตัวจากการแย่งชิงกันเป็นเมืองเจ้าภาพ วินเทอร์เกมส์ ในปี 2022 และซัมเมอร์เกมส์ ในปี 2024 กันหลายเมือง อาทิ ออสโลกับสตอกโฮล์ม เลิกเสนอตัวจัดในปี 2022 เมื่อตระหนักว่าต้นทุนคงสูงเกินกว่าที่จะรับได้ เช่นเดียวกับนครบอสตัน เมืองเอกของแมสซาชูเซตส์ ที่วางมือจากการเตรียมแผนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2024

นายกเทศมนตรีนครบอสตันให้เหตุผลสั้นๆ แต่ได้ใจความอย่างมากว่า

“ผมไม่ขอเอาอนาคตของเมืองนี้ไปจำนอง”!

นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเรื่องการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ชี้เงื่อนปมสำคัญที่จำต้องเปลี่ยนเป็นลำดับแรกไว้ว่าคือกระบวนการแข่งขันกันเป็นเมืองเจ้าภาพ เหตุผลก็คือเพียงแค่กระบวนการดังกล่าวนั้นก็สิ้นเปลืองเงินนับเป็นล้านๆ ดอลลาร์ สำหรับลงทุนในการประเมินความเป็นไปได้, เตรียมการ และยื่นเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพต่อไอโอซี บวกกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างๆ

ว่ากันว่า โดยทั่วไปแล้วเงินก้อนนี้จะอยู่ที่ระหว่าง 50-100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่แน่นักว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์หรือไม่

ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น เตรียมการและยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพปี 2016 ด้วยเงินสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ แต่ก็เหลวเปล่ากลายเป็นบราซิลที่ได้ไป แต่ใช้เงินเพียงครึ่งเดียวของจำนวนดังกล่าวกลับประสบผลสำเร็จในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2020 เป็นต้น

เมื่อเทียบระหว่างวินเทอร์กับซัมเมอร์เกมส์แล้วนั้น ซัมเมอร์ โอลิมปิก เกมส์ มีขนาดใหญ่โตกว่ามาก ดึงดูดนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติหลายล้านคน แห่กันเข้าไปชมการแข่งขันราวๆ 3,000 รายการที่มีนักกีฬารวมกันทั้งสิ้นหลายหมื่นคน ดังนั้นในทันทีที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองเจ้าภาพโอลิมปิก ความจำเป็นที่ต้องลงมือทำเป็นลำดับแรกๆ ก็คือ การก่อสร้างสนามกีฬาให้เพียงพอต่อการแข่งขัน ซึ่งหมายรวมถึงสนามสำหรับการแข่งขันกีฬาที่ไม่เป็นที่นิยมของคนในประเทศนั้นๆ อาทิ เวโลโดรม สำหรับจักรยานประเภทลู่ เป็นต้น ต่อมาก็เป็นอาคารที่พักสำหรับนักกีฬา ที่ไอโอซีกำหนดว่าต้องสามารถรองรับได้ 40,000 คน “เป็นอย่างน้อย” สุดท้ายก็คือ ต้องมีสเตเดียมขนาดใหญ่เพียงพอต่อการรองรับพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน แล้วจึงเป็นเรื่องของการก่อสร้างถนนหนทาง เส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และสนามบิน ซึ่งอาจต้อง “อัพเกรด” หรือไม่ก็ “สร้างใหม่” ขึ้นมารองรับ

พิจารณาจากการเป็นเจ้าภาพที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะอยู่ระหว่าง 5,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับว่าจำเป็นต้อง “สร้างใหม่” มากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างเช่น กว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุน 45,000 ล้านดอลลาร์ของปักกิ่งเกมส์นั้น จีนใช้หมดไปกับการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า, ถนน และสนามบิน ในขณะที่อีกราว 1 ใน 4 ของเงินก้อนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการ “ทำความสะอาด” มลพิษในสิ่งแวดล้อมของปักกิ่ง

แต่รัสเซียใช้เงินราว 85% ของ 50,000 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นต้นทุนของโซชิเกมส์ ไปกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคทุกอย่างใหม่ทั้งหมด เพราะในเมืองแทบไม่มีอะไรเลย เป็นต้น

ถัดจากเงิน 2 ก้อนมหึมาดังกล่าวแล้ว เมืองเจ้าภาพจำเป็นต้องเตรียมเงินอีกก้อนไว้สำหรับใช้เป็น “งบประมาณดำเนินการ” เพื่อการจัดการแข่งขัน ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเพื่อการนี้ที่ “โต” ขึ้นเรื่อยๆ เร็วมากนับตั้งแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ก็คือ ค่าใช้จ่ายในมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัย

ซิดนีย์เกมส์ เมื่อปี 2000 ใช้เงินเพื่อการนี้ไป 250 ล้านดอลลาร์ เอเธนส์เกมส์ ในปี 2004 ใช้เงินไปกับมาตรการรักษาความปลอดภัยไปกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา งบประมาณรายจ่ายด้านนี้อยู่ระหว่าง 1,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์มาตลอด

“ต้นทุน” อีกอย่างที่มักมองไม่ค่อยเห็นกันก็คือ ต้นทุนในการบำรุงรักษาหลังการแข่งขันของอาคารสถานที่และสนามกีฬาที่สร้างกันขึ้นมารองรับการแข่งขัน ซึ่งกลายเป็น “งบประมาณประจำปี” ที่ต้องมีของเมืองเจ้าภาพไปอีกชั่วนานเท่านาน

ตัวอย่างเช่น โอลิมปิกสเตเดียมของนครซิดนีย์จำเป็นต้องใช้เงินในการบำรุงรักษาให้คงสภาพในเวลานี้ตกปีละ 30 ล้านดอลลาร์ สนาม “รังนก” ที่ขึ้นชื่อลือชาของปักกิ่งเกมส์สร้างด้วยงบประมาณ 460 ล้านดอลลาร์และต้องใช้เงินบำรุงรักษาอีก 10 ล้านดอลลาร์/ปี โดยที่แทบไม่ได้ใช้งานอะไรอีกเลย

งบประมาณในส่วนนี้ของเมืองเจ้าภาพจะสร้างความเจ็บปวดให้เกิดมากยิ่งขึ้นหากสนามหรือสถานที่ดังกล่าว เป็นสนามแข่งขันกีฬาเฉพาะชนิด ที่ไม่เป็นที่นิยมดูหรือเล่นกันในประเทศ ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดในกรณีนี้ก็คือ เอเธนส์เกมส์ เมื่อปี 2004 ที่สนามและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันหนนั้น ไม่มีทั้งเงินและคนในการบำรุงรักษา ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้กลายเป็นซากปรักหักพัง รกร้าง

ทั้งๆ ที่เพื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์หนนั้น กรีซใช้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ที่กลายเป็นหนี้ก้อนมหึมา และเป็นที่มาสำคัญทำให้ประเทศต้อง “ล้มละลาย” ในเวลาต่อมา

ในขณะที่ต้นทุนเมืองเจ้าภาพพุ่งเป็นติดจรวด รายได้ที่ได้จากการจัดการแข่งขันกลายเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของรายจ่ายทั้งหมด ปักกิ่งเกมส์เมื่อปี 2008 ทำรายได้เพียง 3,600 ล้านดอลลาร์ เทียบกับต้นทุน 45,000 ล้านดอลลาร์ ลอนดอนเกมส์ 2012 สร้างรายได้เพียง 2,800 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ต้นทุนจัดทั้งหมดมากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ ไอโอซีเก็บเงินค่ารายได้จากการถ่ายทอดโทรทัศน์ที่ถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในการจัดการแข่งขันเอาไว้กับตัวมากกว่าครึ่ง

มีงานวิจัยหลายชิ้น รวมทั้งของแมทธีสันและคณะ จากวิทยาลัยโฮลี ครอสส์ แห่งแมสซาชูเซตส์ ที่ทำวิจัยเรื่องผลประโยชน์ที่โอลิมปิกเกมส์ก่อให้เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวมในทางอ้อม ตั้งแต่การสร้างงาน, การดึงดูดนักท่องเที่ยว และการช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวนี้ชี้ว่า ผลประโยชน์ทางอ้อมเหล่านี้อย่างดีที่สุดก็คือ “เกิดขึ้นน้อยมาก” และมีหลายกรณีมากที่ “ไม่เกิดขึ้นเลย”

แมทธีสันศึกษาการกล่าวอ้างในกรณีของซอลท์เลคซิตี้เกมส์ 2002 พบว่ามีการสร้างงานเพิ่มขึ้น 7,000 ตำแหน่ง แต่คิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของคำกล่าวอ้างในตอนแรก และที่สำคัญก็คือ งานทั้งหมดเป็นเพียงงานชั่วคราว ไม่ก่อให้เกิดตำแหน่งงานถาวรขึ้นเลย

ในกรณีของซิดนีย์เกมส์ 2000 กับแวนคูเวอร์เกมส์ 2010 ทีมวิจัยพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเพียง “เล็กน้อย” ส่วนกรณีของซอลท์เลค นักท่องเที่ยวกลับหดตัวลงด้วยซ้ำไปในปีที่จัดโอลิมปิก

สุดท้าย ทีมวิจัยยังพบว่ามีหลักฐานบ่งชี้น้อยมากที่แสดงให้เห็นว่า โอลิมปิกเกมส์ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในทางบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของเมืองเจ้าภาพและประเทศเจ้าภาพ

ยิ่งในระยะยาวด้วยแล้ว มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐที่แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบของโอลิมปิกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศระยะยาว ไม่มีเลย!

ในขณะที่ตัวอย่างจากเอเธนส์เกมส์ 2004 แสดงให้ทุกคนเห็นได้ว่า โอลิมปิกเกมส์ สามารถทำให้ทั้งประเทศล้มละลายได้เลยทีเดียว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image