โกลบอลโฟกัส : “โควิด-19” เมื่อหนาวมาเยือนอีกครั้ง!

REUTERS

ในซีกโลกตะวันตก ใบไม้ร่วงกำลังมาเยือน อีกไม่นานอากาศก็จะเย็นยะเยือกอีกครั้ง แถบบ้านเราก็กำลังเข้าสู่ “ปลายฝนต้นหนาว” แล้วเช่นเดียวกัน

ท่ามกลางการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล โควิด-19 เข้ามาสัมผัสกับชีวิตของมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง จากหลายร้อยคนแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ของจีน ลุกลามออกไปทั่วโลก แพร่ระบาดไปเจริญเติบโตอยู่ในระบบทางเดินหายใจของผู้คนอย่างน้อย 34 ล้านคนแล้ว

ไวรัสเล็กๆ เล็กขนาดมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ยังคงระบาดต่อไป ด้วยระดับความเร็วสูงถึงกว่า 300,000 คนต่อวัน และคาดว่าจะทวีขึ้นไปอีก เมื่ออุณหภูมิบริเวณซีกโลกตอนเหนือลดลง และผู้คนจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกันภายในอาคารสถานที่มากขึ้นและนานขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดคาดหวังว่า เมื่อใบไม้ร่วงเปลี่ยนเป็นหนาวเต็มตัว ผู้ติดเชื้อจากการระบาดจะพุ่งพรวดสูงขึ้นอีกมหาศาล

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรป และ สหรัฐอเมริกา

ระเบียนสถิติน่าเศร้าที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกาเก็บรวบรวมไว้ บ่งบอกทั่วโลกให้รับรู้ว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเชื้อโรคขนาดเล็กจนเสียชีวิตมีมากเลยหลัก 1 ล้านคนไปแล้ว

แต่ที่เศร้ายิ่งกว่าก็คือ ยังคงมีผู้คนทะยอยกันเสียชีวิตลงเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

นักวิชาการประเมินจากตัวเลข “เท่าที่รู้” ได้ว่า ตัวเลขดังกล่าวจะทวีเป็นสองเท่าในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือน

นั่นคือตัวเลขเท่าที่รู้กันและมีบันทึกไว้ในระบบ จำนวนที่แท้จริงซึ่งไม่มีใครรู้ แน่นอนย่อมสูงกว่านั้นมากนัก
โควิด-19 เริ่มต้นการระบาดในหน้าหนาว เมื่อหนาวมาเยือนอีกครั้ง สภาวการณ์จะเป็นไปอย่างไรกัน?

นักสถิติทางการแพทย์ประจำสถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลทางสาธารณสุข (ไอเอชเอ็มอี) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในนครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา อาศัยแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์คำนวณหาคำตอบ ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ชวนอภิรมย์เท่าใดนัก

หากเป็นไปตามแบบจำลองของไอเอชเอ็มอี ในราวกลางเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ จำนวนคนที่ตายเพราะโควิดจะผ่านหลัก 2 ล้านคน

เมื่อถึงราวกลางเดือนมกราคม แบบจำลองบอกเอาไว้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากทั่วโลก จะทะลุผ่าน 2.5 ล้านคน

ในวาระครบรอบปีแรกของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีคนอย่างน้อย 2.5 ล้านคนเสียชีวิตครับ

******

ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ชี้ให้เห็นว่า นอกจากเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ที่แพร่ระบาดระหว่างปี 1918 ถึง 1919 แล้ว ยังไม่มีเชื้อโรคใด ร้ายแรงจนคร่าชีวิตและสร้างความเดือดร้อนให้มนุษย์ได้มากและเร็วเท่ากับ โควิด-19 อีกแล้ว

แม้แต่ไวรัสเอชไอวี ที่ก่อให้เกิดโรค เอดส์ ก็จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 75 ปี กว่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1 ล้านคน

และนี่เป็นเพียงแค่ช่วงแรกเริ่มเท่านั้น โควิด-19 จะไม่หยุดการแพร่ระบาดจนกว่า จะไม่เหลือผู้คนให้ระบาดใส่ได้อีกแล้ว หรือจนกว่าเราสามารถคิดค้นหนทางยับยั้งที่มีประสิทธิภาพได้

จนถึงขณะนี้ ยังคงมีคนอีกไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านคน ที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อหรือวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้
มีความเป็นไปได้ที่โลกจะสามารถคิดค้นวัคซีนขึ้นมาได้หลายตัวที่มีระดับของประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไป นั่นอาจช่วยให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ง่ายขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ก็จะมีมนุษย์และสัตว์จำนวนมหาศาลเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อ ทำให้ยากอย่างมากที่จะกำจัดให้หมดสิ้นไป เหมือนเช่นไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสโรคหวัด ซึ่งสุดท้ายแล้วก็กลายเป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไป

บีบบังคับให้ทุกคนบนโลกใบนี้ต้องยอมรับแนวทางใหม่ๆ ในการดำรงชีวิต

ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และตายควบคู่ไปกับไวรัสร้ายนี้ต่อไปอีกยาวนาน

******

ด้วยเหตุที่ว่า โควิด-19 คือโรคอุบัติใหม่ หลายอย่างจึงยังสร้างความพิศวงให้กับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไม่น้อย ตัวอย่างเช่น อัตราการเสียชีวิตในบางประเทศ บางพื้นที่ ต่ำกว่าในอีกหลายพื้นที่มาก ในเยอรมนี มีผู้เสียชีวิตเพียง 9,500 ราย อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ทั่วๆ ไปเท่านั้นเอง

เพราะดูเหมือนว่าอันตรายจะน้อย หลายคนจึงประเมินความร้ายแรงของสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ต่ำ นำไปสู่ความกราดเกรี้ยวต่อมาตรการจำกัดเข้มงวด ไม่ใส่ใจความพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส
เมื่อนั้นอันตรายที่แท้จริงของมันจึงจะแสดงออกมาให้เห็น

ในเนเธอร์แลนด์ มาตรการบังคับให้สวมหน้ากากป้องกันและการรักษาระยะห่าง ในช่วงระยะหลังมานี้ถูกละเลยโดยสิ้นเชิง ผลลัพธ์ก็คือทุกวันนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มในแต่ละวัน พุ่งขึ้นสูงกว่าระดับที่เลวร้ายที่สุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป

รัฐบาลกำลังเตรียมประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่อีกครั้ง ทั้งๆ ที่อาจกลายเป็นการทำให้แผลทางเศรษฐกิจบาดลึกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ตาม

สถานการณ์ในหลายพื้นที่ของประเทศอย่าง สเปน, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ดูเหมือนจะร้ายแรงยิ่งกว่า ในขณะที่ สาธารณรัฐเช็ก จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง เพราะการแพร่ระบาดรอบใหม่

เมื่อหน้าหนาวมาถึง ประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับฝันอันร้ายกาจอีกครั้ง

เมื่อใดก็ตามที่ไวรัสร้ายแรงนี้ลงหลักปักฐานในชุมชนในสังคมมันย่อมไม่สร่างซาลงไปเอง ทางเลือกเพียงอย่างเดียวของทุกประเทศก็คือ การบังคับใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุม สลับกับการผ่อนคลาย เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน

นั่นหมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจชะงักหรือชะลอลงระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาระบาดใหม่อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง จนจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มงวดสุดขีดอีกรอบ

และเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชน

******

โควิด-19 ยังสร้างอันตรายให้กับผู้คนในช่วงอายุต่างกันแตกต่างกันอีกด้วย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในที่พักคนชราหลายต่อหลายแห่งยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเมื่อติดโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ในขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุเกินกว่า 70 ปี

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราควรรู้สึกปลอดภัยเพียงเพราะมีอายุ 20 หรือ 40 ปี

กลุ่มอายุระหว่าง 20-40 ปีเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วแสดงอาการน้อยมากที่สุด กระนั้น โควิด-19 ก็คร่าชีวิตคนหนุ่มสาว รวมทั้งเด็กและวัยรุ่นไปไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ผู้คนในกลุ่มอายุนี้ จะมีความเสี่ยงสูงมากหากเป็นพิเศษเมื่อมีโรคประจำตัว ตั้งแต่โรคอ้วน ไปจนถึงเบาหวาน และโรคปอด

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยอายุน้อยๆ บางรายยังฟื้นตัวหายจากอาการป่วยช้ากว่าที่บรรดาแพทย์คาดหมายกันไว้ ผู้ที่รอดชีวิตบางรายบอกกับหมอว่า ยังรู้สึกอ่อนล้า, ปวดหัว, ปวดกล้ามเนื้อ และหายใจหอบกระชั้น อยู่นานหลายเดือน

ที่สำคัญที่สุดก็คือ โควิด-19 อาจเข้าไปสร้างความเสียหาย “ถาวร” ให้กับอวัยวะในร่างกาย รวมทั้งอวัยวะสำคัญอย่าง หัวใจ, หลอดเลือด และ ระบบประสาทอีกด้วย

ในความเป็นจริง จนถึงบัดนี้ ในทางการแพทย์ยังคงไม่สามารถได้ข้อสรุปจนสามารถประเมินระดับความร้ายแรงของซาร์-โควี-2 ที่กระจ่างชัดเจนได้

คำแนะนำที่แพทย์ให้ต่อทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอายุไหนก็ตาม จึงเป็นเพียงว่า อย่าประมาท อย่าไปติดเชื้อนี้ได้เป็นดีที่สุด เหมือนกันหมด

******

ในแง่มุมทางวิชาการด้านพันธุกรรม ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่ระบาดกันอยู่ในหลายประเทศ แทบไม่แตกต่างจากกันและกัน ไม่มีการกลายพันธุ์ที่ “มีนัยสำคัญ” ที่ก่อให้เกิดความต่างในความรุนแรงของการระบาดหรือความร้ายแรงของอาการป่วยแต่อย่างใด

แต่ในขณะที่ ไต้หวัน ที่มีประชากร 23 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพียง 7 คน หรือ เวียดนามที่มีประชากร 96 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตเพียง 35 คน

แม้แต่ประเทศยากจนในแอฟริกาอย่าง รวันดา ในจำนวนประชากร 12 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดหนนี้เพียง 29 คน เช่นเดียวกับ ไลบีเรีย และ เซียร์ราเลโอน ก็มีผู้เสียชีวิตแค่ 82 และ 72 คนเท่านั้นเอง

แล้วทำไมถึงมีผู้เสียชีวิตเป็นเรือนแสนในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย หรือ หลายพันหลายหมื่นคนใน อิตาลี และสเปน?

แน่นอนความมีวินัยของประชากรในการปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ และประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ของระบบสาธารณสุขภายในประเทศนั้นๆ ย่อมสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญได้ เช่นเดียวกับการมีผู้นำที่อวดฉลาด รั้น ไม่สนใจคำแนะนำทางการแพทย์

แต่นักวิชาการอย่างริชาร์ด ฮอร์ตัน บรรณาธิการวารสารวิชาการด้านการแพทย์เลื่องชื่ออย่าง เดอะ แลนเซท เชื่อว่า ยังมีปัจจัยอีกบางประการที่มีนัยสำคัญแฝงอยู่ในตัวเลขเหล่านั้น

ฮอร์ตัน เชื่อว่า สุขภาวะของประชากรมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างประเทศขึ้น

พันธุกรรมของไวรัสทุกหนแห่งเหมือนกันก็จริง แต่โควิด-19 สร้างปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันให้เกิดขึ้นทั่วโลกได้ เนื่องจากทุกสังคมไม่ได้มีสุขภาพแข็งแรงเหมือนๆ กัน ไม่ได้มีปริมาณไขมันในร่างกายเท่ากัน ไม่ได้มีผู้สูงอายุมากเท่ากัน และไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเท่าเทียมกัน

ฮอร์ตันบอกว่า ด้วยเหตุนี้ การรับมือกับโควิด-19 นอกจากจำเป็นต้องประคองระบบสาธารณสุขให้อยู่ในระดับที่รับมือกับการระบาดได้ทั้งในตอนนี้และในอนาคต

ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงการปรับปรุงสุขภาวะของประชากร ให้อ้วนน้อยลง ไม่มีแรงดันโลหิตสูง ฯลฯ พร้อมกันไปด้วย

******

ประเทศอย่าง ไต้หวัน เวียดนาม หรือไทย เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของซาร์ส เมื่อปี 2002-2003 ประสบการณ์จากครั้งนั้น ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผลในคราวนี้

รวันดา เคยรับมือกับวิกฤตการระบาดของเอชไอวี ในขณะที่ ไลบีเรียและเซียราเลโอน เพิ่งผ่านประสบการณ์ลำเค็ญในการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงอย่าง อีโบลา มาไม่ช้าไม่นาน

ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก กลับมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก

คนอเมริกันกว่า 200,000 คนเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ มากกว่า 3 เท่าของทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนามด้วยซ้ำไป

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงสร้างความสับสน งุนงงให้กับประชาชนอเมริกันอยู่บ่อยครั้้ง ยังพร้อมที่จะบ่อนเซาะทำลายความน่าเชื่อถือของนักวิทยาศาสตร์และสถาบันทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งหลายทุกเมื่อเมื่อมีโอกาส

โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกากลายเป็นส่วนหนึ่งของความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองไปอย่างน่าเศร้า
แบบจำลองของนักสถิติประจำไอเอชเอ็มอี บ่งบอกเอาไว้ว่า เมื่อถึงสิ้นปีนี้ คนอเมริกันจะเสียชีวิตจากโควิด-19 เป็น 382,000 คน

และนั่นเพิ่งเป็นตอนต้นของฤดูหนาวใหม่นี้เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image