สื่อนอกเกาะติดสถานการณ์ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย

AFP PHOTO / BORJA SANCHEZ-TRILLO

บรรดาสื่อต่างชาติพากันจับจ้องเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งของการเมืองไทย สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม โดยซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยคาดว่าจะรู้ผลภายในวันเดียวกันนี้ ซึ่งถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ก็จะเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่กองทัพที่ยึดอำนาจในรัฐบาลมาตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 และหากผ่านก็จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย

ขณะที่การวิเคราะห์จากศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรด้านการวิจัยในประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอำนาจของทหารและกลุ่มคนชนชั้นสูง และหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประเทศไทยก็จะมุ่งหน้าไปสู่การปกครองกึ่งเผด็จการโดยทหาร เนื่องจากมีอำนาจของกองทัพแฝงอยู่ภายในรัฐธรรมนูญที่ได้รับการสนับสนุนโดยอำนาจของสภาวะพิเศษของศาลรัฐธรรมนูญ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวไทยได้เริ่มเดินทางออกไปใช้สิทธิลงประชามติที่จะเป็นการเปิดทางไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560 ซึ่งการลงประชามติครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบความนิยมครั้งสำคัญต่อ คสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยในการลงประชามติครั้งนี้มีการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 2 แสนนายเพื่อดูแลสถานการณ์

รอยเตอร์ระบุด้วยว่า จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่อาวุโสของไทย แสดงให้เห็นว่า ทหารมีความทะเยอทะยานในการทำให้การทำรัฐประหารในอนาคตไม่ใช่เรื่องสำคัญ ผ่านมาตราใหม่ที่จะทำให้พรรคการเมืองต่างๆอ่อนแอลงและทำให้ทหารมีบทบาทมากขึ้นในด้านการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

Advertisement

ขณะที่นายลุค สตีเวนส์ ผู้ประสานงานองค์กรสประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับรอยเตอร์ก่อนหน้าวันลงประชามติว่า ไม่ว่าผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร ยูเอ็นก็อยากเห็นการเจรจาที่มากขึ้นระหว่างทหารกับนักการเมืองที่ฝ่ายตรงกันข้าม พร้อมระบุว่า จะไม่มีการปรองดองเกิดขึ้น หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพูดขึ้นว่า “ปล่อยให้เรื่องปรองดองเป็นเรื่องของฉัน”

“หากคุณไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลังในประเทศนี้ คุณจะต้องคิดด้วยกระบวนการที่ครอบคลุม การเจรจาที่เปิดกว้าง และให้แน่ใจได้ว่าประชาชนจะสามารถแสดงออกความคิดเห็นได้” นายสตีเวนส์กล่าว

ด้านบีบีซีรายงานว่า ชาวไทยทั้งประเทศต่างพากันเดินทางออกไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านก็จะเป็นก้าวสำคัญที่มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยระบุว่าการลงประชามติครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่ยุติธรรมเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ

Advertisement

นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของบีบีซีรายงานว่า ที่คูหาเลือกตั้งแห่งหนึ่งที่ตนไปสังเกตการณ์พบว่า มีประชาชนไปใช้สิทธิ์น้อยมาก จากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน 785 คน เพิ่งเห็นผู้มาใช้สิทธิ์เพียง 30 คน ในชั่วโมงแรกที่เปิดหีบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image