รัฐมนตรีต่างประเทศจีนและนัยแห่งการเยือนเอเชียตอ.เฉียงใต้

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนและนัยแห่งการเยือนเอเชียตอ.เฉียงใต้

นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว และไทย ซึ่งนายหวัง อี้ ได้เดินทางมาเยือนในวันที่ 14-15 ตุลาคม ในฐานะแขกของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้นายหวัง อี้ ถือเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกที่เยือนไทย หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเยือนดังกล่าวส่วนหนึ่งก็เพื่อยืนยันถึง “ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ระหว่างไทย-จีน และยังตรงกับโอกาสครบรอบ 45 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

กระทรวงการต่างประเทศระบุว่าการเยือนครั้งนี้ยังสะท้อนความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศที่จะร่วมกันในการรื้อฟื้นกิจกรรมต่างๆ ให้กลับมามีพลวัตอีกครั้ง เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด-19 รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ

Advertisement

ระหว่างการเยือน นายหวัง อี้ ได้หารือกลุ่มเล็กและหารือเต็มคณะกับนายดอนกระทรวงการต่างประเทศ โดยประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือกันคือความร่วมมือด้านวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญสูงสุดในขณะนี้ จีนให้คำมั่นว่าไทยจะเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่จะสามารถจัดหาวัคซีนจากจีนได้ในโอกาสแรกที่พัฒนาสำเร็จ และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวัคซีนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนของไทย โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายหารือกันในรายละเอียดต่อไป

รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองยังได้หารือในประเด็นเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างกันในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการจัดทำ “ช่องทางพิเศษ” เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางระยะสั้นของนักธุรกิจและบุคคลที่จำเป็นเพื่อช่วยฟื้นฟูกิจกรรมด้านเศรษฐกิจของกันและกัน ซึ่งจะนำร่องสู่การเปิดภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไป ทั้งยังรวมถึงการพิจารณาจัดทำ “green lane” เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ฝ่ายจีนรับที่จะพิจารณาการอนุญาตให้นักศึกษาไทยสามารถเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน รวมทั้งคำขอให้สายการบินของไทยสามารถกลับมาทำการบินพาณิชย์ในเส้นทางไทย-จีน

Advertisement

ทั้งสองฝ่ายยังหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง เพื่อสานต่อผลการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ให้มีผลเป็นรูปธรรม อาทิ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย การใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างยั่งยืน ความร่วมมือด้านการขจัดความยากจน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรม และความร่วมมือในสาขาแห่งอนาคต

นอกจากนี้ยังพูดคุยเรื่องการส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และระหว่าง EEC กับเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area – GBA) ซึ่งถือว่าเป็นโครงการสำคัญของไทยและจีน

นายดอนได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเชื่อมโยงต่าง ๆ ทั้งถนน รถไฟ รวมถึงโครงการ landbridge และโครงการสะพานไทย ที่จะทำให้ EEC เป็นจุดศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่นายหวัง อี้เห็นว่า การดำเนินความร่วมมือ 3 ฝ่ายในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบินให้มีความคืบหน้าและเมืองอัจฉริยะใน EEC จะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับความร่วมมือให้แก่ภูมิภาค

ระหว่างการเยือน นายดอนและนายหวัง อี้ ยังได้ลงนามร่วมกันในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนว่าด้วยที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ทำการสถานกงสุลใหญ่และที่พักเจ้าหน้าที่กงสุลของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติต่างตอบแทน โดยในปัจจุบันไทยมีสถานกงสุลใหญ่ในจีน 8 แห่ง คือสถานกงสุลใหญ่ ณ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กวางโจว คุนหมิง หนานหนิง ซีอาน เซี่ยเหมิน ชิงต่าว และฮ่องกง ขณะที่จีนมีสถานกงสุลใหญ่ในไทย 3 แห่ง คือที่เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น

แม้การลงนามระหว่างการเดินทางเยือนไทยของนายหวัง อี้ จะมีเพียงการลงนามในเรื่องการใช้ที่ดินเพื่อสร้างสถานกงสุลใหญ่ระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องต่างตอบแทนทางการทูต ไม่ได้เป็นประเด็นหวือหวาซับซ้อน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ทั้งสองประเทศให้แก่กัน เพราะการเปิดสถานกงสุลใหญ่คือการตั้งตัวแทนไปคอยประสานความร่วมมือ ดูแลผลประโยชน์และดูแลคนชาติของตนในประเทศนั้นๆ ที่มีการค้าขายลงทุนรวมถึงการเดินทางไปมาหาสู่กันเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ประเด็นการลงนามที่น่าสนใจที่สุดในการเยือน 5 ประเทศอาเซียนของนายหวัง อี้ ครั้งนี้ น่าจะเป็นการลงนามความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างจีนกับกัมพูชา ซึ่งถือเป็นเอฟทีเอแบบทวิภาคีฉบับแรกของกัมพูชา และแน่นอนว่าเป็นการช่วยมหามิตรที่ยืนหยัดเคียงข้างจีนอย่างแน่วแน่มั่นคงมาตลอดอย่างกัมพูชา ที่กำลังเผชิญแรงกดดันหลังถูกสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกสินค้า อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้าที่ผลิตในกัมพูชาไปยังตลาดอียู

เอฟทีเอจีน-กัมพูชาจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในต้นปี 2564 ครอบคลุมสินค้าจีนราวหมื่นรายการ และสินค้ากัมพูชาประมาณ 9,500 รายการ โดยยังรวมถึงสินค้าเกษตรของกัมพูชากว่า 750 รายการ ซึ่งความตกลงดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนไทยหากสนใจจะเข้าไปตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอดังกล่าวต่อไป

นายหวัง อี้ ระบุกับสื่อจีนว่าการเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างจีนกับอาเซียน และกระชับความร่วมมือในภูมิภาคในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยเขาได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและมีฉันทามติร่วมกันกับประเทศที่ไปเยือนในประเด็นหลักๆ อาทิ การร่วมกันตอบสนองต่อความท้าทายของการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงพัฒนาการของสถานการณ์ระหว่างประเทศต่างๆ การกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี การธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งยังพัฒนาระบบธรรมาภิบาลโลก

นายหวัง อี้ย้ำว่า ทุกภาคส่วนต้องกระชับและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจรวมถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และร่วมกันผลักดันให้มีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนไปสู่ระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ระหว่างการเยือนประเทศในอาเซียน นายหวัง อี้ระบุว่า สิ่งที่มีการพูดกันมากคือการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิดของจีน และความสนใจที่จะร่วมมือกับจีนในประเด็นดังกล่าว เพราะเป็นประเด็นที่ประชาคมระหว่างประเทศควรร่วมมือกัน และจีนก็ให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงอาเซียน

อีกหนึ่งในประเด็นที่มีการหารือกันมากคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ในฐานะที่จีนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนายหวัง อี้ชี้ว่า ประเทศต่างๆ เชื่อว่าจีนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก และเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาในประเทศต่างๆ เข้ากับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางของจีน เพื่อที่จะได้กลายเป็นเส้นทางที่รวดเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นายหวัง อี้ ยังบอกด้วยว่า การเยือนของเขาครั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยอ้างถึงความพยายามในการเข้ามาสร้างปัญหาและความตึงเครียดในประเด็นทะเลจีนใต้จากประเทศนอกภูมิภาค และต้องไม่ปล่อยให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลที่ชาติมหาอำนาจต่างๆ เข้ามาเล่นเกมส์หรือปล่อยให้เรือรบเข้ามารุกล้ำ

มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนบอกด้วยว่า จีนจะส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และสร้างระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่ยกระดับสูงขึ้นมาใหม่ ตลาดในประเทศจีนจะขยายออกไปอีก ผสมผสานระหว่างตลาดภายในกับตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในความร่วมมือรเหว่างจีนกับประเทศต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอาเซียนอยู่ในจุดที่ดีที่จะได้รับแรงเหวี่ยงจากรูปแบบการพัฒนาใหม่ของจีนและควรจะคว้าโอกาสนี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขยายผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน ประสบความสำเร็จในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ดีขึ้นร่วมกับจีน

ในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ ใครจะคาดคิดว่าโลกจะได้เห็นจีนกลายเป็นประเทศที่ปกป้องความร่วมมือต่างๆ ในกรอบพหุภาคี ขณะที่สหรัฐเล่นบทชาตินิยมโดยยึดเพียงแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นที่ตั้ง ซ้ำยังด้อยค่าเวทีความร่วมมือพหุภาคีมากมายที่เห็นว่าไม่ดำเนินการที่สอดคล้องกับความต้องการและผลประโยชน์ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก หรือองค์การการค้าโลก

แน่นอนว่าจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและเป็นมหาอำนาจในเอเชีย กำลังแสดงให้ประเทศต่างๆ เห็นว่าจีนเป็นมิตรที่สามารถพึ่งพิงและไว้ใจได้ ไม่ใช่ตัวร้ายอย่างที่ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐพยายามวาดภาพให้โลกมองจีนเช่นนั้น และยังพยายามหาช่องเล่นงานจีนในทุกหนทางที่พอจะทำได้

การเดินทางเยือน 5 ประเทศในอาเซียนของจีนก็เป็นการสะท้อนความพยายามที่จะกระชับความร่วมมือกับมิตรประเทศในอาเซียนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น แสดงบทบาท “พี่ใหญ่” ที่พร้อมจะช่วยเหลือดูแลและให้ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญร่วมกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image