5 เรื่องต้องรู้ ก่อนตามการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ จับตา 8 รัฐสวิงสเตท

5 เรื่องต้องรู้ ก่อนตามการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ จับตา 8 รัฐสวิงสเตท

ผ่านไปแล้ว 4 ปี การเลือกตั้งผู้นำประเทศที่เป็นที่จับตามองมากที่สุด อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ หรือวันที่ 4 พฤศจิกายนตามเวลาประเทศไทย

ดังนั้นก่อนที่จะไปติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจึงจำเป็นต้องเข้าใจกติกาพื้นฐานในการเลือกตั้งครั้งนี้กันก่อน

AFP

1.ใครเป็นใคร

ระบบการเมืองสหรัฐนั้นมีพรรคการเมืองที่ครองพื้นที่ในเวทีการเมืองส่วนใหญ่ของประเทศอยู่สองพรรคก็คือ หนึ่ง “พรรครีพับลิกัน” พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนี้ก็คือ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่หวังว่าจะคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐเอาไว้ได้เป็นสมัยที่ 2

Advertisement
(รอยเตอร์)

สอง “พรรคเดโมแครต” พรรคการเมืองสายเสรีนิยม ซึ่งมี “โจ ไบเดน” นักการเมืองประสบการสูงที่เคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นเวลานานถึง 8 ปี

2.กติกาการเลือกตั้ง

กติการการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐตัดสินกันด้วยคะแนน “คณะผู้เลือกตั้ง” (electoral college) เป็นจำนวนคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับในกรณีที่ได้ชัยชนะในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกา โดยคะแนนที่ว่านั้นจะมีจำนวนที่คิดมาจากจำนวนประชากรในแต่ละรัฐ เช่น “แคลิฟอร์เนีย” มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งอยู่ที่ 55 เสียง “นิวยอร์ก” 29 เสียง รวมถึงไวโอมิ่ง มี 3 เสียง เป็นต้น

โดยผู้สมัครมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งใน 51 รัฐทั่วประเทศที่ต้องแย่งชิงรวมอยู่ที่ 538 เสียง นั่นหมายความว่า ผู้ชนะที่ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือเท่ากับ 270 เสียงขึ้นไป ผู้นั้นก็จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป

ตามกติกานี้ หมายความว่าประชาชนชาวอเมริกันนั้นจะเข้าคูหาเพื่อตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเพื่อตัดสินชัยชนะในระดับรัฐเท่านั้นเพื่อนำคะแนน “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่กำหนดไว้ในรัฐของตนไปคำนวนคะแนนเสียงรวมกับรัฐอื่นๆอีกครั้ง

กติกาการนำคะแนน “คณะผู้เลือกตั้ง” ไปคิดคำนวนในทุกรัฐเป็นแบบ “ผู้ชนะได้ทั้งหมด” (winner-take-all) ยกเว้นเพียง 2 รัฐคือ “รัฐเมน” และ “เนบราสกา” เท่านั้น

วิธีการคำนวนคะแนนแบบนี้จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้ได้คะแนนโหวตรวมทั่วประเทศมากกว่าแต่ไม่ชนะคะแนนเสียง “คณะผู้เลือกตั้ง” อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับ “ฮิลลารี คลินตัน” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่พ่ายแพ้ให้กับ “โดนัลด์ ทรัมป์” แม้จะมีคะแนนเสียงรวมมากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ หลายล้านเสียงก็ตาม

3.จุดตัดสินแพ้ชนะ

สิ่งที่ต้องจับตามองและจะเป็น “จุดตัดสินแพ้ชนะ” ที่สำคัญก็คือในรัฐที่ผู้ติดตามการเมืองสหรัฐเรียกกันว่า “สวิงสเตตส์” จำนวน 8 รัฐที่มีเสียงสนับสนุนของทั้งสองพรรคสูสีกันอย่างมากจนไม่สามารถคาดเดาผลได้ ขณะที่อีกเกือบ 40 รัฐอื่นๆนั้นมีฐานเสียงของแต่ละรัฐที่ทำนายผลการเลือกตั้งได้ค่อนข้างแน่นอน

ขอบคุณภาพจาก บีบีซี

โดยรัฐ “สวิงสเตท” หรือ “แบทเทิลกราวน์สเตท” ประกอบด้วย แอริโซนา (11), วิสคอนซิน (10), มิชิแกน (16), โอไฮโอ(18), เพนซิลเวเนีย(20), นอร์ธแคโรไลนา(15), จอร์เจีย(16) และ ฟลอริด้า (29)

4.ไม่ได้เลือกแต่ประธานาธิบดี

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญก็คือการเลือกตั้งในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเดียวเท่านั้น แต่ใน “บัตรเลือกตั้ง” ยังมีช่องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือก “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสมาชิก” เข้าสู่ “สภาคองเกรส” ด้วยเช่นกัน

สำหรับ “สภาผู้แทนราษฎร” หรือ “สภาล่าง” นั้น “พรรคเดโมแครต” ครองเสียงข้างมากอยู่ในเวลานี้ก็ต้องการที่จะคงเสียงส่วนใหญ่เอาไว้ ขณะที่ใน “วุฒิสภา” หรือ “สภาสูง” เดโมแครตเองก็ต้องแย่งชิงเก้าอี้ที่ “พรรครีพับลิกัน” เวลานี้ครองเสียงส่วนใหญ่เอาไว้คืนมาให้ได้

5.รู้ผลเมื่อไหร่?

ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยปกติจะรู้ผลในเวลาไม่กี่วัน แต่ผลอย่างไม่เป็นทางการจะชัดเจนในช่วงดึกของของวันที่ 3 พฤศจิกายนตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายนตามเวลาประเทศไทย

อย่างไรก็ตามคาดว่าผลอาจจะต้องใช้เวลาในการนับผลอย่างเป็นทางการออกไปอีกเนื่องจากมีการลงคะแนนเสียงผ่านไปรษณีย์เข้ามาเป็นตัวแปรด้วยนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image