ลุ้นเลือกตั้งเมียนมา-ซูจีดักคอจี้ทุกฝ่ายยอมรับผล

ชายชาวเมียนมาหย่อนบัตรลงคะแนนเสียง ในการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา (รอยเตอร์)

ลุ้นเลือกตั้งเมียนมา-ซูจีดักคอจี้ทุกฝ่ายยอมรับผล

นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ในฐานะประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล กล่าวในระหว่างการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ร้องขอให้สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีและกลุ่มผู้สนับสนุนทั่วประเทศ ทำการปลดธง สติ๊กเกอร์และโลโก้ ที่เป็นสัญลักษณ์พรรคซึ่งติดไว้ตามที่ต่างๆ ออกให้หมดภายในเที่ยงคืนวันที่ 6 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเส้นตายของการรณรงค์หาเสียง ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

“ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 6 พฤศจิกายน เราจะยุติกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงทั้งหมดและดิฉันขอขอบคุณทุกคนสำหรับการสนับสนุนพรรค” นางซูจีกล่าว และว่า การเตรียมการต่างๆ ถูกทำอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับคำชี้แนะของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในการออกมาใช้สิทธิในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ จึงไม่ต้องห่วงกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพียงแต่ให้ปฏิบัติตามกฎเท่านั้นที่คูหาเลือกตั้ง

นางซูจียังร้องขอให้ประชาชนอย่าโกรธเกรี้ยวหากผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด โดยชี้ว่าผู้แข่งขันที่ดีย่อมยอมรับผลลัพท์ใดๆที่ออกมาได้ เราไม่ควรโกรธหรือทำให้เกิดปัญหาหากผลที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ของเมียนมา ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 นับจากเมียนมาพ้นจากยุคปกครองของระบอบอำนาจทหารที่ครอบงำเมียนมามานานหลายสิบปี จะมีกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวชาวเมียนมาราว 5 ล้านคน ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งคิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวเมียนมาทั้งหมด

Advertisement

อย่างไรก็ตามจะมีชาวเมียนมามากกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งรวมถึงชาวโรฮีนจา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ที่เมียนมาไม่ได้ให้การรับรองอีกหลายแสนรวมอยู่ด้วย ที่จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เนื่องจากทางการเมียนมาได้ยกเลิกการจัดเลือกตั้งในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่โดยอ้างเหตุผลด้านมั่นคงปลอดภัย

โมฮัมหมัด ยูซูฟ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ที่อพยพมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศบังกลาเทศ จะเป็นหนึ่งในชาวโรฮีนจาหลายแสนคนที่ถูกริดลอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าว กล่าวว่า “การไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ก็ทำให้รู้สึกเสียใจมากอยู่แล้ว มันยังทำให้รู้สึกว่าแม้เราตาย ก็ไม่สำคัญ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image