ดราม่าได้อีก! ถ้า”ทรัมป์”ไม่ยอมพ้นไวท์เฮาส์

แฟ้มภาพเอเอฟพี

ดราม่าได้อีก! ถ้า”ทรัมป์”ไม่ยอมพ้นไวท์เฮาส์

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 59 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลายเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะอยู่ในความทรงจำของใครต่อใครหลายคนไปอีกนาน

นี่เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน ที่สูสีและยืดเยื้อที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ใครคือผู้ชนะระหว่าง ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ ผู้ท้าชิงอย่าง โจ ไบเดน

แม้แต่สื่อมวลชนกระแสหลักที่คลุกคลีอยู่กับการเมืองอเมริกันมาช้านาน ยังไม่ยอม “คาดการณ์” ว่า ใครคือผู้ที่ได้คะแนนอิเลคโทรัล คอลเลจ หรือคณะผู้เลือกตั้ง เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 538 เสียง ในเวลานี้

แม้ว่าหลายสำนักคาดการณ์ไว้ว่า ไบเดน มีคะแนนนำหน้า 253 ต่อ 213 เสียงและเข้าใกล้ตัวเลขแห่งชัยชนะ 270 เสียงเข้าไปทุกทีแล้วก็ตาม

Advertisement

มีการฟ้องร้องกันให้นับคะแนนใหม่แล้วใน 3 รัฐ ในขณะที่ ทรัมป์ ประกาศว่า “เราชนะการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว” แม้ว่าจะมียังมีการนับคะแนนกันอยู่ในอีกหลายรัฐ แถมยังกล่าวหาไว้ลอยๆ ด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “เป็นมหกรรมฉ้อฉลต่อสาธารณชนอเมริกัน”

นั่นทำให้เกิดคำถาม “สุดโต่ง” ขึ้นตามมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ทรัมป์ ไม่เพียงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เพียงจัดการฟ้องร้องดำเนินคดีในทุกแง่มุมที่เปิดช่องเอาไว้เท่านั้น หากแต่ยังปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ด้วยการไม่ยอมออกจากทำเนียบประธานาธิบดี หรือทำเนียบขาว อีกด้วย

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เคยมีประธานาธิบดีที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ยังไม่เคยปรากฏว่ามีใครดื้อแพ่งถึงขนาด ไม่ยอมออกจากทำเนียบขาว แม้ว่าจะผ่านเลยวันประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 20 มกราคมนี้ไปแล้วก็ตาม

Advertisement

คำถามก็คือ ถ้าทรัมป์เจตนาจะทำเช่นนั้น จะเกิดอะไรขึ้นตามมา?

ผู้สันทัดกรณีทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งและการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำอเมริกัน บอกว่า ต้องแยกสถานการณ์ดังกล่าวออกเป็น 2 กรณี

กรณีแรกคือ ทรัมป์ ปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจ ไม่ยอมออกจากทำเนียบขาว ในขณะที่กระบวนการนับคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จ “อย่างเป็นทางการ” แล้ว

รัฐธรรมนูญอเมริกัน กำหนดไว้ชัดเจนมากว่า เมื่อใด อำนาจประธานาธิบดีจะสิ้นสุด และเริ่มต้นใหม่

“วาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี และ รองประธานาธิบดี จะสิ้นสุดลงทันที ณ เที่ยงวันของวันที่ 20 เดือนมกราคม” และ “ในเวลาดังกล่าว วาระดำรงตำแหน่งของผู้สืบทอดจะเริ่มต้นขึ้น”

ในกรณีนี้ ประธานาธิบดีคนใหม่ สามารถใช้อำนาจประธานาธิบดี สั่งการเจ้าหน้าที่หน่วย ซีเคร็ท เซอร์วิส หรือ กองกำลังอารักขาประธานาธิบดี ให้ “เชิญ” ตัว ทรัมป์ ซึ่งจะเปลี่ยนสภาพเป็น “ผู้บุกรุก” ออกจากทำเนียบขาวได้ทันที

แม้ว่า ภาพการเชิญตัวทรัมป์ที่ว่านั้น จะไม่เจริญหูเจริญตาสำหรับทั่วโลกสักเท่าใดนักก็ตาม

ในกรณีที่สอง สถานการณ์จะยิ่งซับซ้อนและเลวร้ายลงมากยิ่งขึ้น เพราะภายใต้สถานการณ์สมมุตินี้ก็คือ มีการฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับผลการเลือกตั้ง จนกลายเป็นคดีความยาวนาน และในช่วงเวลาดังกล่าว ทรัมป์ ที่ยืนยันว่าตนเองชนะการเลือกตั้ง ปฏิเสธที่จะออกจากทำเนียบขาว

อันที่จริง สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ก็เริ่มต้นมีแนวโน้มไปในทิศทางดังกล่าวนี้แล้วด้วยซ้ำ

ลินด์เซย์ โคห์น ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ประจำ นาวัล วอร์ คอลเลจ บอกว่า ในกรณีที่ ทรัมป์ ปฏิเสธที่จะออกจากทำเนียบจนกว่ากระบวนการทางกฎหมายที่ดำเนินการไปบรรลุถึงผลชี้ขาดเรียบร้อยแล้วเท่านั้น และในขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้กระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งของสภาคองเกรสล่าช้าออกไป สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีใครรู้ว่า แนวทางแก้ไขจะเป็นอย่างไร

ในกรณีนี้ ทรัมป์ ยังคงอยู่ในทำเนียบขาวต่อไปได้ จนกว่าจะเกิด ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมา โดยที่ไม่มีใครไปทำอะไรได้

สามารถอยู่ต่อไปได้กระทั่งเลยวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในเดือนมกราคม ก็เป็นไปได้

สถานการณ์จะยิ่งวิกฤตหนักขึ้น ในกรณีที่การฟ้องร้องของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน สามารถทำให้ ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

หากองค์คณะศาลสูงสหรัฐ พิจารณาและตัดสินชี้ขาดไปตามตัวบทกฎหมาย ปัญหาก็จะบรรเทาเบาบางลง แต่หากยึดถืออุดมการณ์ แล้วตัดสินชี้ขาดเข้าข้างทรัมป์ ให้ได้ชัยชนะ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ วิกฤตรัฐธรรมนูญ ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

เพราะสภาคองเกรส อันเป็นอำนาจนิติบัญญัติ รับรองผลการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง ในขณะที่ ศาลสูง ที่มีอำนาจตุลาการอยู่ในมือ ยึดถือผลการเลือกตั้งอีกอย่างหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายส่วนใหญ่ เชื่อว่า สถานการณ์การเลือกตั้งในเวลานี้ ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงไปจนถึงขนาดนั้น และทุกคนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

ศาลสูง เคยปฏิเสธคำร้องของทรัมป์ ให้ชี้ขาดเรื่องการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งหลังวันลงคะแนนมาแล้ว 2 ครั้ง ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ศาลจะไม่รับคำร้องครั้งที่ 3

ปัญหาก็คือ สำหรับทรัมป์แล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างที่สามารถทำได้แม้จะไม่เหมาะไม่ควรเพียงใด ทรัมป์ ทำให้เห็นมาแล้วหลายครั้งมาก

ทำอีกสักครั้งจะเป็นไรไป?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image