“กาบหอยแครง” นับจังหวะคร่าชีวิตเหยื่อ

ภาพ-Chris Mattison/NaturePL.com

“วีนัส ฟลายแทรป” (ในไทยเรียกต้น “กาบหอยแครง” ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Dionaea muscipula) เป็นพืชพื้นเมืองในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา และเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา มีขนาดเล็กพบในพื้นที่ชื้นแฉะ ดินร่วนปนทราย ซึ่งมีสารอาหารไม่มากนัก ทำให้ต้องอาศัยการดักจับแมลงและแมงมุม เพื่อย่อยสลายเป็นอาหาร โดยใช้ส่วนที่เป็นเหมือนกาบหอยงับครอบแมลงไว้ภายใน จากนั้นจึงส่งน้ำย่อยออกมาย่อยสลายเหยื่อ

ทีมวิจัยนำโดย ศาสตราจารย์ เรเนอร์ เฮดริช จากมหาวิทยาลัยเวิร์ซบวร์ก ประเทศเยอรมนี เผยแพร่ผลงานวิจัยใหม่เกี่ยวกับพฤติกรรมล่าเหยื่อของพืชชนิดนี้ โดยระบุว่า “วีนัส ฟลายแทรป” ใช้การนับจำนวนการแตะของเหยื่อ เพื่อตัดสินชี้ขาดว่ามันเหมาะสมที่จะถูกกักไว้เป็นเหยื่อหรือไม่ ทั้งนี้ทีมวิจัยพบว่า เมื่อเหยื่อแตะพื้นในส่วนที่เป็นกาบดักแมลงของมันเป็นครั้งแรก กาบดังกล่าวจะไม่หุบลงในทันที แต่จะรอจนกว่าจะมีการแตะเป็นครั้งที่สอง ภายในระยะเวลาห่างกันระหว่าง 15-20 วินาที กาบทั้งสองจึงหุบเข้าหากันและกักเหยื่อเอาไว้ภายใน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลืองพลังงานเปล่าเมื่อมีหยดน้ำ หรืออะไรอย่างอื่นที่ไม่มีชีวิตตกลงไปในกาบดักแมลงของมันนั่นเอง

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเวิร์ซบวร์กยังพบด้วยว่า เมื่อแมลงที่เป็นเหยื่อดิ้นรนต่อ แตะภายในกาบเกินกว่า 3 ครั้งขึ้นไปหลังจากกาบหุบปิดลงแล้ว น้ำย่อยที่มีลักษณะเป็นกรดผสมกับเชื้อหมักที่คล้ายกับน้ำย่อยของสัตว์ก็จะถูกปล่อยออกมาย่อยสลายเหยื่อและดูดซึมเป็นอาหารต่อไป ทั้งนี้ ภายในกาบดักแมลง ที่งอกออกมาจากโคนก้านใบ ซึ่งทีมวิจัยเรียกว่า “กระเพาะสีเขียว” นั้นมีขนขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่ในการรับรู้ จำแนกเหยื่อดังกล่าว โดยขนขนาดเล็กดังกล่าวเชื่อมโยงอยู่กับเนื้อเยื่อสำคัญ 2 กลุ่มของพืช คือ “มอเตอร์ ทิชชู” ที่ใช้เป็นกลไกในการหุบกาบเพื่อกักตัวแมลงกับระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งทำหน้าที่ย่อยเหยื่อที่เต็มไปด้วยสารอาหารให้กับพืชชนิดนี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image