ขวากหนาม ‘ไบเดน’ สู่ทำเนียบขาว

เอเอฟพี

ในสถานการณ์ปกติ ถึงเวลานี้โลกน่าจะได้ โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ประธานาธิบดีคนที่ 46 ไปเรียบร้อยแล้ว แม้การนับคะแนนในการเลือกตั้งยังไม่สิ้นสุดลงก็ตามที

แต่การเลือกตั้งในปี 2020 เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพไม่ปกติหลายๆ ประการ นอกเหนือจากนั้น หนึ่งในคู่ชิงดำยังเป็นคนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมใด ไม่มีวันเป็นคนปกติธรรมดาทั่วไปอย่างแน่นอน

ทรัมป์แสดงให้เห็นชัดเจนทั้งทางวาจาและด้วยการกระทำ ว่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ตั้งแต่การย้ำว่า “เราจะไปหาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา” เมื่อวันที่ 4 และ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่อยไปจนถึงการส่งทีมกฎหมายยื่นฟ้องร้องในรัฐต่างๆ อย่างน้อย 4 ใน 5 รัฐที่กำลังนับคะแนนกันอยู่เพื่อชี้ขาดผู้ชนะ

ปัญหาคือการฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ได้เป็นเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่ทรัมป์และพรรครีพับลิกันสามารถก่อให้เกิดความโกลาหลขึ้น ทั้งในขณะนี้ ซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือกตั้ง และในอนาคต ซึ่งเป็นขั้นตอนการ “รับรองผล” การเลือกตั้งและประธานาธิบดีคนใหม่ในสหรัฐอเมริกา

Advertisement

ต่อไปนี้คือขั้นตอนและแง่มุมต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้เพื่อคัดค้านการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำพาสถานการณ์ “อันตราย” มาสู่สังคมอเมริกันแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาระดับ “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” ขึ้นตามมาได้เลยทีเดียว

การฟ้องร้องดำเนินคดี

การเลือกตั้งอเมริกันหนนี้เป็นครั้งที่เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกันมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทั้งก่อนหน้าวันเลือกตั้งและหลังวันเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจก็คือ การฟ้องร้องหลังวันเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นใน 4 จาก 5 รัฐที่กำลังมีการนับคะแนนกันอยู่ กับอีก 1-2 รัฐที่ผลการเลือกตั้งมีการชี้ขาดกันไปแล้ว

Advertisement

ผลการดำเนินคดีที่ผ่านมามีน้อยครั้งมากที่ทรัมป์และรีพับลิกันจะมีชัยชนะในศาล หลายคดีศาลใช้เวลาเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็ชี้ขาดยกคำฟ้องของโจทก์ไป

ตัวอย่างเช่น ในคดีที่ทรัมป์และรีพับลิกันฟ้องร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งแชทแฮมเคาน์ตี รัฐจอร์เจีย ว่านำบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า 53 ใบ ที่เป็นบัตร “มิชอบ” เข้าไปนับรวมกับผลคะแนน ศาลมีคำพิพากษาทันทีในไม่ถึง 24 ชั่วโมงให้ยกฟ้อง เพราะ “ไม่มีหลักฐาน” แสดงให้เห็นว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหา

หรือกรณีในรัฐมิชิแกน ซึ่งทรัมป์และพวกขอให้ระงับการนับคะแนน เพราะทางพรรครีพับลิกันไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ได้เต็มที่ ก็ถูกยกฟ้องไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ทั้งหลายเชื่อว่า การฟ้องร้องเหล่านี้ซึ่งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันส่งผลกระทบต่อการนับคะแนน หรือส่งผลต่อการชี้ขาดการเลือกตั้ง และไม่เชื่อว่าทรัมป์เองคิดว่าจะพลิกมาชนะได้เพราะการฟ้องร้องหยุมหยิม ไร้หลักฐานทำนองนี้

AFP

กระนั้นทุกคนก็ยังรู้สึกได้ว่า การฟ้องร้องเช่นนี้ “อันตรายอย่างยิ่ง” เพราะจะถูกผูกโยงเข้ากับการโวยวายว่า “ถูกโกง” ของทรัมป์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนับสนุน และถูกใช้เป็นเหตุผลในการปลุกระดม ลุกฮือขึ้นต่อต้านผลการเลือกตั้ง “บนท้องถนน”

มีคดีฟ้องร้องอีก 1 หรือ 2 แนวทางเท่านั้นที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งอยู่บ้าง หนึ่งคือ การฟ้องร้องให้นับคะแนนใหม่ และอีกหนึ่งคือการฟ้องร้องถึงความไม่ชอบธรรมต่อการรับและนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่มาถึงหน่วยเลือกตั้งหลังวันเลือกตั้งแล้ว

การฟ้องให้นับคะแนนใหม่นั้น พรรครีพับลิกันยื่นฟ้องแล้วในรัฐวิสคอนซิน และอาจฟ้องให้นับคะแนนใหม่ในอีกหลายรัฐ โดยเฉพาะจอร์เจีย, เนวาดา และอริโซนา

ผู้สันทัดกรณีชี้ขาดในกรณีของวิสคอนซิน ซึ่งไบเดนชนะทรัมป์มากกว่า 20,000 คะแนน ว่ายากที่จะส่งผลพลิกกลับมาให้ทรัมป์ชนะ และผลการเลือกตั้งที่ห่างกันมากถึงขนาดนี้ไม่เคยมีการนับใหม่แล้วพลิกชนะได้มาก่อนในประวัติศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ในรัฐที่เหลือก็อีกเช่นกัน จะมีผลก็เพียงแค่ทำให้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการชะลอช้าออกไปเท่านั้นเอง

เช่นเดียวกับการฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดให้ชี้ขาดให้บัตรเลือกตั้งที่มาถึงทีหลังวันนับคะแนนเป็นบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่น่าจะมีผลใดๆ แม้ องค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงจะมีแนวคิดอนุรักษนิยมเป็นเสียงข้างมากจากการแต่งตั้งของทรัมป์ถึง 6 เสียง กับผู้พิพากษาที่มีแนวคิดเสรีนิยมเพียง 3 เสียงก็ตามที

ทางหนึ่งเพราะศาลสูงมีโอกาสที่จะชี้ขาดเรื่องนี้มาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ชี้ขาด ปล่อยให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของแต่ละรัฐ อีกทางหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนของบัตรที่มาถึงหลังวันเลือกตั้ง มีน้อยมากเกินกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งโดยรวม

บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่นับคะแนนกันอยู่มีมากมายก็จริง แต่ส่วนใหญ่มาถึงก่อนหรือในวันเลือกตั้ง

ป่วนคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง

ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ “คณะผู้เลือกตั้ง” หรือ “อิเล็กโทรัล คอลเลจ” ลงคะแนนเลือกผู้ชนะการเลือกตั้งภายใน 41 วัน หลังวันเลือกตั้ง

ตามกระบวนการปกติ คณะผู้เลือกตั้งที่ถูกรับรองจากรัฐแต่ละรัฐจะประชุมลับกันเพื่อการนี้ เขียนชื่อผู้ที่ตนเลือกให้เป็นประธานาธิบดี (ส่วนใหญ่เป็นไปตามผลการเลือกตั้งในรัฐนั้นๆ) ใส่ซอง ปิดผนึกเพื่อให้รัฐสภาเปิดประชุมร่วม 2 สภา โดยมีรองประธานาธิบดีในฐานะประธานวุฒิสภาเป็นประธาน เปิดนับและรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม ปี 2021

ผู้ที่ได้รับการรับรองผลในวันนั้นจะเข้าสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม อันเป็นวันที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเดิมหมดอำนาจ และประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีใหม่เริ่มต้นมีอำนาจเต็ม

รีพับลิกันจะป่วนคะแนนคณะผู้เลือกตั้งได้หรือไม่ และอย่างไร?

คำตอบคือ ทำได้ด้วยการรับรองผลการเลือกตั้งของรัฐไป 2 ชุด ซึ่งเป็นไปได้มาก เนื่องจากรัฐอย่างวิสคอนซิน, มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย และนอร์ทแคโรไลนา ล้วนมีผู้ว่าการรัฐจากพรรคหนึ่ง แต่มีสภานิติบัญญัติของรัฐที่อีกพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมาก

REUTERS

โดยปกติแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่รับรอง “คณะผู้เลือกตั้ง” ของแต่ละรัฐคือ “ผู้ว่าการรัฐ” เนื่องจากในรัฐบัญญัติว่าด้วยคณะผู้เลือกตั้ง ปี 1887 (อีซีเอ) บัญญัติเอาไว้ว่า ให้ “ผู้บริหาร” ในรัฐเป็นผู้ทำหน้าที่รับรอง “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่จะไปโหวตเลือกประธานาธิบดี

คำถามคือ รัฐสภาของรัฐ คือผู้ทำหน้าที่ประธานสภาล่างของรัฐ สามารถรับรองแบบเดียวกันนี้ได้หรือไม่? ถือว่าเป็น “ผู้บริหาร” ของรัฐด้วยหรือไม่?

ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่เคยมีแนวปฏิบัติมาก่อนว่ารัฐสภาสหรัฐจะดำเนินการอย่างไรหากเกิดกรณีนี้ขึ้น

เนด โฟลีย์ ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ซึ่งเคยทำการศึกษาวิจัยถึงโอกาสที่จะเกิดขัดแย้งขึ้นในคณะผู้เลือกตั้ง ยืนยันว่า คำที่บัญญัติไว้ในอีซีเอ กำหนดชัดถึงฝ่ายบริหาร บิดเบือนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

นั่นหมายความว่า ที่ประชุมร่วมสองสภาสหรัฐต้องยึดถือเอา “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่ผู้ว่าการรัฐรับรองเท่านั้น

หรือไม่ก็อาจเลือกวิธีตัด “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่เป็นปัญหาทิ้งไป แล้วใช้เสียงข้างมากปกติแทน ไม่จำเป็นที่ต้องมีคณะ

ผู้เลือกตั้งถึง 270 เสียง เช่น อาจให้ผู้ที่ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 264-204 เสียง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไป

เพราะอีซีเอไม่ได้บัญญัติให้ใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด 270 เสียงแต่อย่างใด ระบุไว้เพียงว่า ผู้ที่มีคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของทั้งหมดคือผู้ชนะเท่านั้น

‘คอนทิงเจนท์ อิเล็กชัน’

ในกรณีที่ที่ประชุมร่วม 2 สภาหาผู้ชนะไม่ได้ อาทิ คะแนนของแต่ละฝ่ายออกมาเท่ากัน (หรือกรณีเกิดได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งเท่ากันที่ 269-269 เป็นต้น) ที่ประชุมร่วมรัฐสภาสหรัฐต้องดำเนินการตามบทบัญญัติในรัฐบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 ซึ่งกำหนดให้ใช้เสียงในสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง เลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และวุฒิสภาเป็นผู้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

เรียกว่า เป็น “ภาวะฉุกเฉินของการเลือกตั้ง” หรือ “คอนทิงเจนท์ อิเล็กชัน”

แต่บทบัญญัติกำหนดเสียงในการโหวตต่างออกไปจากการโหวตปกติ นั่นคือให้ ส.ส.จากรัฐหนึ่งๆ โหวตได้เพียง 1 เสียง ซึ่งในกรณีนี้พรรคที่ชนะ ส.ส.ในรัฐที่มีจำนวนมากกว่าจะได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น ในสภาล่างปัจจุบัน รีพับลิกันมี ส.ส.จาก 26 รัฐ เดโมแครตมี 22 รัฐ มีรัฐหนึ่งที่มี ส.ส.2 พรรคเท่าๆ กัน และอีกรัฐหนึ่งมี ส.ส.อิสระ 1, รีพับลิกัน 6 และเดโมแครต 7

โอกาสที่สภาล่างจะเลือกตัวแทนรีพับลิกันขึ้นดำรงตำแหน่งมีมากกว่าเดโมแครต

แต่อย่าลืมว่า การพิจารณารับรองผู้ชนะเลือกตั้งดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 3 มกราคม รัฐสภาชุดใหม่จะสาบานตนรับตำแหน่ง

นั่นหมายความว่า สภาล่างและสภาสูงชุดใหม่เท่านั้นที่จะลงมติในขั้นตอนนี้ได้ และยังไม่แน่ชัดว่าสัดส่วนจะเป็นเท่าใด

ทีนี้สมมุติว่า เกิดกรณีอันหนึ่งอันใดขึ้นจนกระบวนการเลือกประธานาธิบดีใหม่ไม่แล้วเสร็จก่อนหน้า 20 มกราคม อันเป็นวันสาบานตนของผู้นำใหม่

รัฐบัญญัติว่าด้วยการสืบทอดอำนาจประธานาธิบดี (Presidential Succession Act) บัญญัติไว้ว่า ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ “รักษาการ” ประธานาธิบดีไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ

แต่ถึงตอนนั้น วิกฤตรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาก็คงถึงจุดหายนะแล้วกระมัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image