คอลัมน์ไฮไลต์โลก: คนข้ามเพศบังกลาเทศรอกม.สืบมรดก

คนข้ามเพศนั่งอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน ในชั้นเรียนศาสนา ในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน (เอเอฟพี)

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: คนข้ามเพศบังกลาเทศรอกม.สืบมรดก

ถือเป็นพัฒนาการที่ดีอีกก้าวหนึ่งสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศบังกลาเทศที่แม้จะเป็นที่เป็นรัฐฆราวาส แต่ยังคงมีการใช้กฎหมายศาสนาอิสลาม(ชะรีอะฮ์)อยู่อย่างเคร่งครัดในสังคมอนุรักษนิยมแห่งนี้ที่ชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม

โดยรัฐบาลบังกลาเทศกำลังชงร่างกฎหมายเพื่อเปิดทางให้กลุ่มฮิจรา (Hijra) หรือคนข้ามเพศ มีสิทธิสืบทอดมรดกจากบุพการีได้ จากที่ขณะนี้กฎหมายทรัพย์สินของบังกลาเทศซึ่งบังคับใช้ภายใต้กฎหมายศาสนา มีข้อห้ามคนข้ามเพศสืบทอดมรดกหลังจากพ่อแม่ของตนเองเสียชีวิตไปแล้ว

“เรากำลังพยายามจะเสนอร่างกฎหมายที่เป็นไปภายใต้กฎหมายชะรีอะฮ์และรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิอันพึงมีในทรัพย์สินของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นคนข้ามเพศ” อานีซัล ฮัก รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายของบังกลาเทศกล่าว แม้ว่าจะยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายที่ว่าต่อรัฐสภา แต่ก็ถูกคาดหมายว่าข้อเสนอนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติบังกลาเทศไปได้อย่างสบายๆ

Advertisement

หลังจากก่อนหน้านี้บังกลาเทศได้ให้การยอมรับกลุ่มคนข้ามเพศมากขึ้นด้วยการออกกฎหมายแสดงการรับรองสิทธิทางเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในบังกลาเทศไปเมื่อ 5 ปีก่อน ที่แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนข้ามเพศในบังกลาเทศอยู่ราว 1.5 ล้านคน จากประชากรในประเทศที่มีทั้งสิ้นราว 168 ล้านคน

ในปีที่แล้วยังมีการอนุญาตให้การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งโดยระบุสถานะทางเพศว่าเป็นเพศที่สามได้ และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ บังกลาเทศยังเพิ่งเปิดโรงเรียนอิสลามสำหรับชนมุสลิมที่เป็นคนข้ามเพศแห่งแรกของประเทศด้วย

อย่างไรก็ดีมีเสียงสะท้อนภาพความเป็นจริงว่ากลุ่มคนแอลจีบีทีคิวไอ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ต่างยังเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในสังคม เช่นมีการการอ้างถึงกฎหมายที่มีใช้มาตั้งแต่ยุคที่บังกลาเทศเป็นอาณานิคม ได้มีบทลงโทษจำคุกต่อบุคคลที่เป็นเกย์ แม้ว่าการบังคับใช้บทลงโทษนี้แทบจะเกิดขึ้นได้ยากก็ตาม

Advertisement

ต่อประเด็นนี้ก็เป็นข้อห่วงกังวลในหมู่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ ที่แม้จะมีความยินดีที่รัฐบาลพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิพื้นฐานพึงมีของกลุ่มคนข้ามเพศหรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นก็ตาม แต่พวกเขาเองก็ยังมีความห่วงกังวลว่าร่างกฎหมายสืบทอดมรดกจะเผชิญกับอุปสรรคที่เป็นปราการใหญ่ขัดขวางสิทธิของคนข้ามเพศในบังกลาเทศ นั่นก็คือ “ทัศนคติ” ของคนในครอบครัว ที่ส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธความเป็นคนข้ามเพศของลูกหลานในครอบครัวตนเอง

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศบอกว่าในฐานะนักเคลื่อนไหว รู้สึกดีใจที่มีการหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของข้อกฎหมาย หากยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวมทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องของทัศนคติ

อนันยา บานิก ผู้นำกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ ที่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นคนข้ามเพศตั้งแต่อายุ 16 จนวันนี้อายุ 40 ปี เล่าประสบการณ์ว่าเธอต้องออกมาจากบ้าน เพราะความกดดันจากครอบครัวที่นับวันยิ่งหนักขึ้น แต่ไม่ใช่เธอคนเดียว หากแต่มีคนข้ามเพศเช่นเธอนับแสนคนที่จำเป็นต้องทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง หลังแสดงตัวตนว่าเป็นคนข้ามเพศ เพราะแรงกดดันในครอบครัว

หากวันใดกลับไปบ้านเพื่อขอรับมรดกตามสิทธิที่ควรได้รับหลังพ่อแม่ล่วงลับ ก็อาจจะต้องเผชิญกับการถูกใช้ความรุนแรงจากคนในครอบครัวได้

ร่างกฎหมายสืบทอดมรดกนี้ ก็ถือเป็นความหวังที่จะได้ทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมของคนข้ามเพศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image