เวทีพหุภาคีกับโลกหลังโควิด

REUTERS

เวทีพหุภาคีกับโลกหลังโควิด

หมายเหตุ “มติชน” นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ ทั้งยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เมื่อครั้งเป็นผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่า กระแสโลกาภิวัตน์ ได้นำพาเราทุกคนไปสู่โลกแห่งความเชื่อมโยงในทุกมิติ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมมือกันเมื่อเผชิญกับปัญหาท้าทายร่วมกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ วิกฤตโควิด-19 ได้สะท้อนถึงวิกฤตของการทูตพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิค-19 ครั้งนี้เสียอีก

เวทีพหุภาคีไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ถูกบั่นทอนและตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน สืบเนื่องจากกระแสการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐและสหภาพยุโรป จากกลุ่มสุดโต่งทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายจัด ดังที่จะเห็นได้จากแนวความคิดชาตินิยมที่รุนแรง ประชานิยม การดำเนินมาตรการฝ่ายเดียว ลัทธิป้องกันทางการค้า ไปจนถึงความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ

ท่ามกลางความไม่พึงพอใจเหล่านั้น โลกาภิวัฒน์และระบบพหุภาคีที่เน้นการเปิดเสรี และการกำหนดกติการะหว่างประเทศ ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการตกงาน การสูญเสียอำนาจในการควบคุมพรมแดนของแต่ละประเทศ การสูญเสียอธิปไตย และการสูญเสียความมั่นใจในอนาคตของคนหลายล้านคน ที่ไม่สามารถก้าวไปให้ทันกับความรวดเร็วชองการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ไม่มีประเทศใดที่จะมั่นคงหรือมั่งคั่งโดยลำพังได้

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันและความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ถือเป็นความท้าทายวิสัยทัศน์ของการมุ่งสร้างระเบียบโลก ภายใต้ระบบพหุภาคีที่เปิดกว้างให้กับการมีส่วนร่วมของทุกประเทศ ยึดหลักกฎหมายและกติการะหว่างประเทศเป็นพื้นฐานของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวออกจากความตกลงกรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) รวมถึงระงับการอุดหนุนทางการเงินให้กับองค์การอนามัยโลก ในช่วงเวลาที่การระดมการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศต่างๆ มีความจำเป็นอย่างที่สุดในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 กำลังหนักหน่วงที่สุด การแข่งขันช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างสหรัฐและจีนยังทำให้ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ส่งผลให้การดำเนินงานขององค์การอนามัยโลกรวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการระดมความสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ต้องประสบภาวะชะงักงัน กระบวนการหารือในองค์การระหว่างประเทศทั้ง 2 แห่งไม่คืบหน้าไปไหนเพราะสหรัฐและจีนต่างกล่าวโทษกันไปมา

ภายใต้สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นนี้ อนาคตของความร่วมมือในกรอบพหุภาคีจะเป็นเช่นไร หากเรามองไปข้างหน้าในโลกหลังโควิด-19

Advertisement

ที่น่ายินดีคือการที่ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะนำสหรัฐกลับสู่บทบาทนำในเวทีพหุภาคีและสถาบันระหว่างประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลใหม่ของสหรัฐเข้ามาบริหารงาน ก็คงต้องรับมือกับการจัดการกับประเด็นปัญหาภายในประเทศที่รุมเร้าเข้ามา พร้อมกับการฟื้นฟูและการแสดงความเป็นผู้นำของสหรัฐในเวทีโลก และเป็นที่แน่นอนว่า การช่วงชิงอำนาจในทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีนย่อมจะไม่ลดละลงแต่อย่างใด แต่ก็เป็นที่หวังว่ามหาอำนาจทั้งสองจะดำเนินความสัมพันธ์ที่มิได้มุ่งแต่การแข่งขันอย่างเดียวเท่านั้น แต่พยายามแสวงหาแนวทางและประเด็นที่ทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันได้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับธรรมาภิบาลระดับโลก และการส่งเสริมความร่วมมือในเวทีพหุภาคี

โดยข้อเท็จจริง การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะกระตุ้นความตื่นตัวและทำให้เกิดพลวัตรในการปฏิรูประบบและกระบวนการพหุภาคีที่ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะสหประชาชาติและองค์กรหลักอื่นๆ เพราะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถาบันและกลไกระหว่างประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการเมืองระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงดุลย์อำนาจในโลก บทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้า และระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

แม้ว่าที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้ตั้งความหวังไว้สูงกับการปฏิรูประบบพหุภาคีระหว่างประเทศ แต่การปฏิรูปนี้ก็ถูกเหนี่ยวรั้งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างชาติมหาอำนาจและประเทศต่างๆ ที่ควรมีบทบาทนำ ดังนั้นจากวิกฤติโควิค-19 ที่เกิดขึ้น จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากัน และร่วมกันเพื่อแสวงหาฉันทามติระหว่างประเทศใหม่ ว่าจะดำเนินการที่จะปฏิรูปและฟื้นฟูกระบวนการพหุภาคีและโลกาภิวัฒน์ได้อย่างไร

ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เราอาจต้องหันกลับมาคิดถึงกระบวนการที่มุ่งผลในทางปฏิบัติ หลายประเทศกำลังพูดถึงรูปแบบของความร่วมมือพหุภาคีที่ยืดหยุ่นมากขึ้น หรือเส้นทางใหม่ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันเฉพาะเรื่อง มีแนวคิดต่างๆ ผุดขึ้นอาทิเช่น ความร่วมมือพหุภาคีแบบยืดหยุ่น หรือเวทีพหุภาคีที่เป็นกลุ่มเล็ก ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกรอบพหุภาคี บางคนยังพูดถึงแนวคิดกรอบพหุภาคีที่เปิดกว้างรวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม แนวคิดเหล่านี้ ต่างมีวัตถุประสงค์ที่อยากให้บรรดาประเทศต่างๆ และทุกฝ่ายที่เห็นตรงกัน ได้มาร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกองค์กรระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งความร่วมมือข้ามองค์การระหว่างประเทศและในสถาบันระหว่างประเทศที่เก่ยวข้องกับการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในโลก กรณีที่เห็นได้ชัดคือ Alliance for Multilateralism ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบทบาทของสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19

องค์กรในระดับภูมิภาค อาทิ อาเซียน ก็ต้องมีส่วนร่วมและแสดงบทบาทในแนวหน้าด้วยในการค้ำจุนระเบียบโลกในกรอบพหุภาคี บนพื้นฐานของเคารพกติกาและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งก็ประจักษ์ว่าบทบาทขององค์กรในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหภาพแอฟริกา กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ และอาเซียน ได้มีส่วนสำคัญในการระดมความร่วมมือในภูมิภาคต่างๆ

ภูมิภาคนิยมในกรอบความร่วมมือพหุภาคีเป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายแนวคิดและแนวทางนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนมีการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนระหว่างองค์กรในกรอบของสหประชาชาติกับองค์กรหลักในภูมิภาคต่างๆ ด้วย

หากเราไม่ร่วมมือกันตามแนวทางดังกล่าวแล้ว สถานการณ์ที่เราอาจเผชิญในโลกหลังโควิด-19 คือระเบียบโลกภายใต้ระบบพหุภาคีอาจแตกเป็นเสี่ยงหรือแยกเป็นขั้ว ตามแนวของรอยร้าวที่กำลังปรากฏขึ้นในภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองระหว่างประเทศ

วิกฤติโควิค-19 จึงเป็นโอกาสที่ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องรวบรวมความมุ่งมั่นทางการเมืองและความเป็นผู้นำมากยิ่งกว่าครั้งไหนๆ เพื่อจะปฏิรูปและฟื้นฟูระเบียบโลกที่เน้นความร่วมมือพหุภาคี การยึดมั่นในกติกาและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้เราทุกคนได้ประโยชน์สูงสุดในโลกที่มีการพึ่งพาอาศัยและเชื่อมโยงกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นปัจจุบัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image