คอลัมน์ไฮไลต์โลก : ผู้หญิงกับการทลายเพดานกระจก

เพดานกระจก หรือเพดานแก้ว (glass ceiling) เป็นคำอุปมาที่ฝรั่งมักใช้เวลาพูดถึงอุปสรรคที่มองไม่เห็น ซึ่งคอยขวางผู้หญิงไม่ให้ได้รับตำแหน่งในระดับสูงหรือมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ในสังคมอเมริกันยังใช้คำนี้เปรียบเปรยถึงอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าของผู้ชายที่เป็นคนกลุ่มน้อยในที่ใดที่หนึ่งด้วย

และถึงแม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารวมถึงในปีนี้เราจะเห็นผู้หญิงหลายคนสามารถทลายเพดานกระจกที่ขวางอยู่ตรงหน้า ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกอย่าง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ ฮิลลารี คลินตัน ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้สมัครหญิงคนแรกที่เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต หนึ่งในพรรคการเมืองเสาหลักของประเทศในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ตาม ทว่ากรณีศึกษาหลายชิ้นพบว่ามีผู้หญิงในสัดส่วนเพียงน้อยนิดที่ได้รับการยอมรับให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหรือมีอำนาจตัดสินใจอยู่ในระดับหัวแถวขององค์กร เช่น กรณีศึกษาของศูนย์วิจัย “พิว” ที่ทำการศึกษาในปีที่แล้วพบว่า ในชาติสมาชิกสหประชาชาติ มีผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิงจะมีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวนับจากปี 2548 แต่การยอมรับบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกก็ยังไม่เปิดกว้างนัก

ขณะที่ข้อมูลขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า การยอมรับบทบาทของผู้หญิงในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันไป เช่น ในฟินแลนด์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ มีความคุ้นชินกับผู้นำที่เป็นผู้หญิง ส่วนประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอเมริกาใต้ สถานการณ์เปิดรับบทบาทผู้หญิงเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นในอดีตที่ผ่านมา อินเดียมีอดีตนายกรัฐมนตรรีอินทิรา คานธี ปากีสถานมีนางเบนาซีร์ บุตโต อาร์เจนตินามีประธานาธิบดีกริสตีนา กีร์ชเนร์ และพม่ามีนางออง ซาน ซูจี ขณะที่ประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ถือเป็นผู้นำหญิงคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศในทวีปแอฟริกา

ขณะที่ยังมีข้อมูลอีกว่า นับจากเปิดศักราช 2558 มีสัดส่วนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนานาชาติเพียง 17.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ในประเทศเคปเวิร์ด รวันดาและแอฟริกาใต้ มีสัดส่วนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

เมื่อเดือนที่แล้ว ยูริโกะ โคอิเกะ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียว นับเป็นการทลายกำแพงครั้งสำคัญสำหรับผู้หญิงในสังคมที่ถูกครอบงำด้วยผู้ชายอย่างญี่ปุ่น

ในสเปนที่กำลังเผชิญภาวะตีบตันทางการเมือง ฆวน โฆเซ การ์เซีย เอสกรีบาโน นักวิชาการด้านสังคมวิทยาการเมือง บอกว่า ปรากฏการณ์ที่มีผู้หญิงเข้ามาโลดแล่นในวงการเมืองมากขึ้น อาจช่วยทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นได้ โดยเขาเชื่อว่าชาวสเปนจะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดามากที่ผู้หญิงจะก้าวขึ้นมานำการบริหารประเทศและหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ประเทศเผชิญอยู่ โดยที่ผู้ชายยังหาทางแก้ไม่ได้

ในฐานะที่เป็นผู้หญิงก็ได้แต่หวังว่าช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ จะถูกลบกลบหายไปได้จริงๆ สักวัน!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image