สื่อนอกตีแผ่ สัญญาณของความไม่เห็นด้วยในกองทัพไทย ท่ามกลางการประท้วงที่เติบโตขึ้น

REUTERS/Matthew Tostevin

สื่อนอกตีแผ่ สัญญาณของความไม่เห็นด้วยในกองทัพไทย ท่ามกลางการประท้วงที่เติบโตขึ้น

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ท่ามกลางการประท้วงที่เกิดขึ้นนานนับเดือนในไทย สัญญาณของความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงปรากฏให้เห็นมากขึ้นในหมู่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการไทย

เอกชัย วังคะพันธ์ จ่าทหารออกมารวมประท้วงเมื่อเดือนกรกฎาคม เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ในการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดบนท้องถนนนับตั้งแต่การยึดอำนาจของทหารเมื่อปี 2557 เขายืนอยู่ข้างเดียวกับผู้ประท้วง และเขียนแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กว่า “พอกันทีกับเผด็จการ” และยังแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงอีกเป็นระยะ ทำให้หัวหน้าของเขาในกองทัพไทยเตือนให้เขาหยุด แต่เขาตัดสินใจแล้ว และลาออกจากกองทัพเมื่อเดือนตุลาคม

เอกชัย วังคะพันธ์ (REUTERS)

เอกชัยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า เมื่อการประท้วงเริ่มขยายวง คำสั่งห้ามโพสต์แสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น พวกเขาต้องการจะทำให้มันจบลงตั้งแต่เริ่มต้น แต่พวกเขาทำไม่ได้หรอก

โซเชียลมีเดียเปิดเผยถึงความไม่พอใจในหมู่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการ หลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน แม้ในอดีตทหารไทยจะแสดงความเห็นอกเห็นใจกลุ่มผู้ประท้วงในความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา แต่โซเชียลมีเดียทำให้ทุกอย่างยากแก่การควบคุม มีคลิปบนแอพพ์ติ๊กต็อกที่แสดงภาพทหารคนหนึ่งกำลังชู 3 นิ้ว พร้อมคำพูดสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงต้านรัฐบาล แต่คลิปดังกล่าวก็ถูกถอดออกไปแล้ว

Advertisement

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า การโพสต์ข้อความใดๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นการยั่วยุ หรือทำให้เกิดความมั่นคงถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และว่าผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ตรวจสอบการใช้โซเชียลมีเดียของทหาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดกฎระเบียบของกองทัพ อย่างไรก็ดีเธอไม่ตอบคำถามใดๆ เมื่อถูกสอบถามถึงกรณีของเอกชัย รวมถึงที่ว่ากองทัพได้เพิ่มการตรวจตราขึ้นหรือไม่นับตั้งแต่การประท้วงเข้มข้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม

รอยเตอร์ระบุว่าบางหน่วยงานในกองทัพเร่งเพิ่มการควบคุมมากขึ้น โดยรอยเตอร์ได้เห็นข้อความในแชทของกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ห้ามไม่ให้ทหารไปเข้ารวมกับการประท้วง หรือแสดงความเห็นทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย และว่าหากพบว่ามีการแสดงความเห็นทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม ผู้บังคับบัญชาสามารถที่จะขอให้มีการพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงต้องมีการอธิบายสถานการณการเมืองให้ถูกต้องต่อกองทัพ ซึ่งรอยเตอร์ระบุว่ากองทัพก็ไม่ให้ให้คำตอบใดๆ ในเรื่องนี้เมื่อทางรอยเตอร์สอบถามไปเช่นกัน

พอล แชมเบอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า แม้จะมีกลุ่มที่มีความเห็นต่างในกองทัพ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวก็ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image