ผลศึกษาชี้มาตรการคุมโควิดในหลายปท. คุกคามประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน

เอเอฟพี

ผลศึกษาชี้มาตรการคุมโควิดในหลายปท. คุกคามประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รายงานการศึกษาของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง(ไอดีอีเอ) ตั้งอยู่ในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เผยแพร่ในวันเดียวกันนี้ระบุว่า มากกว่า 6 ใน 10 ประเทศทั่วโลก ที่มีการบังคับใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลคุกคามต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

รายงานการศึกษานี้ได้มาจากการตรวจสอบสถานการณ์ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก พบว่า 61 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด หากไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย ก็เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ไม่มีขีดจำกัด หรือไม่จำเป็น อย่างน้อยก็ในแง่ของเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ในประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นพบว่า 43 เปอร์เซ็นต์ยังเข้าข่ายเป็นการคุกคามดังที่ระบุข้างต้น และยิ่งพบเพิ่มขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ

Advertisement

อินเดีย เป็นประเทศประชาธิปไตย ที่ติดอันดับสูงสุดในด้านนี้ที่มีมาตรการอันน่าห่วงกังวล 9 หัวข้อ จาก 22 หัวข้อที่มีการศึกษา ซึ่งรวมถึงเรื่องเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพสื่อ ตามมาด้วยแอลจีเรียและบังกลาเทศที่มีมาตรการอันน่าห่วงกังวล 8 หัวข้อ ตามด้วยจีน อียิปต์ มาเลเซีย และ คิวบา ที่เข้าข่ายใน 7 หัวข้อ

ขณะที่รัสเซีย ติดอันดับสูงสุดในกลุ่มชาติสหภาพยุโรป(อียู) ที่เข้าข่าย 6 หัวข้อ พร้อมด้วย ซาอุดีอาระเบีย เมียนมา จอร์แดน ศรีลังกา และ ซิมบับเว

ใน 5 ชาติอียูที่ถูกระบุถึง ได้แก่ บัลแกเรีย เข้าข่าย 3 หัวข้อ ตามด้วยฮังการี(2) ตามด้วย โปแลนด์ สโลวาเกีย และ สโลวีเนีย (1)

Advertisement

ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยสำคัญในซีกตะวันตก มีเพียงสหรัฐอเมริกา ที่เข้าข่าย 2 หัวข้อ อิสราเอล(5) และอาร์เจนตินา (2)

ทั้งนี้ไอดีอีเอทำการตรวจสอบมาตรการหลายๆอย่างที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำมาใช้ เพื่อดูว่ามาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาหากมองจากจุดยืนทางด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ โดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพในมุมมองด้านสาธารณสุข

ในการศึกษานี้พบว่าสิ่งที่น่าห่วงกังวลที่สุดคือการจำกัดเสรีภาพสื่อในการต่อสู้กับการบิดเบือนข้อมูล การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เช่น การใช้กำลังทหารเพื่อบังคับใช้กฎระเบียบ มีการทุจริตในการทำสัญญาจัดหาอุปกรณ์ฉุกเฉิน และ กล่าวโทษผู้อพยพต่อการแพร่ระบาด

นอกจากนี้รายงานชิ้นนี้ยังได้แสดงความชื่นชมหลายประเทศที่เป็นแบบอย่างต่อการผสมผสานมาตรการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการเคารพในหลักการประชาธิปไตย ซึ่งได้แก่ประเทศไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อุรุกวัย ไซปรัส ญี่ปุ่น เซเนกัล และ เซียร์ราลีโอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image