ยุโรปเชื่อมท้องถิ่นไทย
มิติใหม่แห่งความร่วมมือ(1)
ท่ามกลางความหวาดหวั่นของคนไทยบางส่วนที่ไม่กล้าจะเดินทางขึ้นเหนือในระยะนี้เพราะกลัวข่าวโควิด-19 แต่เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะทูตจากยุโรป 16 ประเทศ และสหภาพยุโรป (อียู) รวม 21 คน ได้เดินทางไปยังจ.เชียงใหม่ เพื่อเข้าร่วมกับ “โครงการส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากภูมิภาคยุโรปเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทย” ซึ่งเป็นโครงการจากความริเริ่มของ นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ที่จัดทำขึ้นภายใต้แนวคิดรูปแบบความร่วมมือสามประสาน (Triple Helix Model of Innovation) ที่นำเอาภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มาร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่น เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่กรมยุโรปได้นำคณะทูตเดินทางมา และมีแผนที่จะทำโครงการลักษณะเดียวกันนี้ในภาคอีสานและภาคใต้ของไทยต่อไป
อธิบดีศศิวัฒน์บอกว่าท่านเชื่อมั่นในพลังขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่จะเป็นพลังในการผลักดันโครงการนี้ โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าจังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางเครือข่ายภาคธุรกิจในพื้นที่ และยิ่งมาจับมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park : STeP) ซึ่งเป็นแม่ข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park : NSP) ที่เป็นพันธมิตรหลักในการดึงเอามหาวิทยาลัยอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมารวมตัวกัน โดยมีการลงพื้นที่เพื่อปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ ในเชียงใหม่หลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือสิ่งที่เชียงใหม่อยากจะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศในยุโรป จนนำมาสู่การเดินทางในครั้งนี้ ที่แม้ว่าจะต้องเลื่อนวันเดินทางขึ้นมา ท่ามกลางข่าวการพบผู้ติดโควิด-19 ในเชียงใหม่ คณะทูตในยุโรปก็ยังคงยืนยันที่จะเดินทางมาเกือบทั้งหมด ขาดเพียงประเทศเดียวที่ท่านทูตไม่สบายเท่านั้น เห็นได้จากคณะที่เดินทางมาซึ่งมีเอกอัครราชทูตมากถึง 14 คนจาก 13 ประเทศและเอกอัครราชทูตอียู อุปทูต 2 คน อัครราชทูต 1 คน และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตอีก 4 คน
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มองว่า โครงการดังกล่าวเป็นการนำคณะทูตานุทูตจากภูมิภาคยุโรปที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับและทราบกันดีถึงความเชี่ยวชาญ ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายังเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมและความได้เปรียบทั้งในด้านที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์และต้นทุนความเป็นเมืองรองอันดับ 2 ของประเทศ เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือในการเชื่อมต่อกับ EEC และ EECi มีสนามบินนานาชาติที่เชื่อมโยงภูมิภาคของไทยสู่ระดับสากล เป็นเมืองอัจฉริยะที่มีศักยภาพรองรับ MICE มีระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต การแพทย์ สุขภาพ และธุรกิจบริการที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนมีคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ของอัตลักษณ์ล้านนา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความพร้อมสำคัญที่เป็นเป้าหมายผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ไปสู่เชียงใหม่ 4.0 เมืองแห่งชีวิตและความมั่งคั่งด้วยการใช้นวัตกรรมและการรังสรรค์คุณค่าจากอัตลักษณ์
“จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพความร่วมมือที่เข้มแข็งในภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ยิ่งส่งเสริมให้จังหวัดมีพลังการขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับความไว้วางใจและโอกาสจากกระทรวงการต่างประเทศเลือกให้เป็นจังหวัดแรก ในโครงการส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากภูมิภาคยุโรปเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทย โดยจะได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศในภูมิภาคยุโรปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดเชียงใหม่”ท่านผู้ว่าฯเจริญฤทธิ์กล่าวว่า
ด้าน นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีแนวคิดในการนำทูตในยุโรปมาสัมผัสสิ่งที่เชียงใหม่เป็น เพราะจะได้เห็นศักยภาพที่เชียงใหม่มีนอกเหนือจากการท่องเที่ยว เชียงใหม่ยังมีงานหัตถกรรม มีเอสเอ็มดีด้านการผลิตที่มีศักยภาพสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาหาร และเป็นแหล่งเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ที่ขายกันแทบไม่ทัน ขณะที่ในเรื่องนวัตกรรมก็มีการผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อส่งออกหลายอย่าง อาทิ เราเป็นแหล่งผลิตฟันเทียมที่ใหญ่เป็นอันดับต้นของอาเซียนและส่งออกไปทั่วโลก เรายังมีศักยภาพในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาทำฟันและรักษาฟันจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังมีการเปิดโรงเรียนสอนสปา เชื่อว่าการมาเชียงใหม่ครั้งนี้คณะทูตจะมองเห็นศักยภาพของเชียงใหม่ทั้งในแง่การบริการ การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ รวมถึงการเป็นแหล่งผลิตอาหาร และนำสิ่งที่เห็นไปช่วยกันต่อเติมเพื่อให้เป็นประโยชน์กับเชียงใหม่ต่อไป
นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานสภาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของเชียงใหม่เดินต่อไปได้คือภาคการผลิต อาหารแปรรูป ผลไม้แปรรูป หลายบริษัทเติบโตได้ดีกว่าเดิมโดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ แม้ว่าการเติบโตจะไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมาก็ตาม ขณะที่ในส่วนของหัตกรรมและเครื่องมือแพทย์ก็ยังไปได้ ในบางกิจการก็ยังมีการจ้างงานมากขึ้นกว่าเดิม ทางสภาหอการค้าฯได้ผลักดันให้เอสเอ็มอีใช้ช่วงเวลานี้เพื่อเรียนรู้และพัฒนาบุคคากรของผู้ประกอบการ และยังผลักดันให้มีการหันไปใช้ช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น โดยที่ผ่านมาแม้จะเดินทางไม่ได้ แต่ก็ได้มีการเซ็นเอ็มโอยูกับจีนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มเพิ่มผลประโยชน์ด้านภาษีให้สินค้าไทยสามารถเข้าไปยังตลาดจีนได้ในราคาที่ถูกลง ขณะที่ทุกปีเชียงใหม่จะมีการจัดงานลานนาเอ็กซ์โปจึงเห็นว่าหากชาติในยุโรปมาร่วมกันจัดเป็น European Pavilion ก็จะดึงคนมาเที่ยวงาน โดยยุโรปเองก็จะได้ประโยชน์ในการนำสินค้าและบริการมาแสดงด้วยเช่นกัน
เมื่อถามถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของเชียงใหม่หลังมีข่าวพบหญิงติดโควิด-19 นายวโรดมกล่าวว่า ในส่วนของการท่องเที่ยวก็มีการเติบโตที่ 4-10% มาตลอด เศรษฐกิจเชียงใหม่ขึ้นกับการท่องเที่ยวและบริการราว 65% ทุกเดือนเราจะได้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการมีมูลค่าราวเดือนละ 12,000 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายนลดลงเหลือเพียง 50 ล้าน แต่ปัจจุบันปรับขึ้นอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท โดยเกือบ 100% มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย นโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการหยุดยาวเดือนละครั้งก็ช่วยเชียงใหม่ได้มาก โรงแรมมียอดจองเพิ่มขึ้นจาก 20-30% มาอยู่ที่ 80% ร้านอาหาร รถเช่าก็เต็มเช่นกัน อย่างไรก็ดียอมรับว่าข่าวดังกล่าวส่งผลในทางจิตวิทยาแต่ก็ไม่มากเท่าที่หวาดเกรงกัน เพราะมีผู้ยกเลิกการจองห้องพักไม่ถึง 5% ขณะที่ผลตรวจผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่พบผู้ที่ติดเพิ่ม ถือว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี จึงอยากจะเชิญชวนให้คนมาเที่ยวเชียงใหม่เหมือนเดิม
ขณะที่นายอนุชา ประธานสภาอุตสาหกรรมฯเสริมว่า การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมาก ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่ 70% เป็นคนไทย แต่ใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วนแค่ 30% หรือราว 1 ใน 3 ของรายได้ที่เคยได้เท่านั้น ทำให้ภาคเอกชนของเชียงใหม่รวมตัวกันทำโครงการ We love Chiang Mai ขึ้น เพื่อช่วยกันหาช่องทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยหนึ่งในสิ่งที่มีการหารือกันคือการจัดงานพืชสวนโลกขึ้นที่เชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาในจังหวัดมากขึ้น ซึ่งกำลังพูดคุยกันเพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนในทุกพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้คนลุกขึ้นมายืนและก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงจึงมีความสำคัญยิ่ง โครงการส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากภูมิภาคยุโรปเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทยของกรมยุโรปที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเอาจุดแข็งของประเทศในยุโรปมาสนับสนุนการดำเนินการในพื้นที่จึงถือเป็นโครงการดีๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง