คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘เดอะ ดีไวด์ อเมริกัน’

ความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมก่อกำเนิดได้ยากและเปลืองเวลามากมายในความรู้สึกทั่วๆ ไป แต่ความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายกลับปะทุได้ง่าย รุนแรงและชัดเจนกว่ามาก

ในความเป็นจริง ความแตกแยกก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย อย่างน้อยที่สุดความตายของคนเพียงไม่กี่คนก็ยากที่จะสร้างความแตกแยกได้กว้างขวางและลึกซึ้ง เมื่อใดก็ตามที่เหตุการณ์หนึ่งๆ ก่อให้เกิดการปริร้าวในสังคมได้มากมายขนาดนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าองคาพยพแห่งความขัดแย้งถูกบ่มเพาะจนสุกงอมแล้วเมื่อนั้น

การแตกปะทุใดๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมในสังคมหนึ่งจึงเป็นเพียงการแสดงออกของอาการ “ไข้สังคม” ที่ลุกลามสุดขีดแล้ว

รากของความขัดแย้งสามารถสาวย้อนกลับไปได้ไกลโข และหลากเรื่องหลายราวได้ชนิดบางครั้งแม้แต่เราเองที่หยัดยืนอยู่ในสังคมก็ยังประหลาดใจ

Advertisement

อุทาหรณ์สำคัญร่วมสมัยในเวลานี้คืออาการแตกร้าวเป็นชิ้นๆ ของสังคมอเมริกัน สังคมที่นับวัน “ความต่าง” ยิ่งขยายถ่างกว้าง “ความเหมือน” ยิ่งหดแคบลง ในบางแง่มุมหลงเหลือเพียงกระผีกริ้น

เลือกตั้ง ไม่มีทางแก้ไขเรื่องนี้ได้ เพราะรากเหง้าของความแตกต่างที่เกิดขึ้นไม่ได้หยั่งอยู่ที่การเมืองทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น งานวิชาการบางชิ้นพบว่าสิ่งหนึ่งซึ่งสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในสังคม ก็คือ ช่วงอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น

Advertisement

ระหว่างปี 1961 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 1980 มีรายงานการสำรวจระบุว่า ช่วงชีวิตของคนอเมริกันยาวขึ้นทั่วประเทศ แน่นอนความต่างระหว่างชุมชนต่อชุมชนย่อมยังมี แต่ลดเหลือเล็กน้อยลง ตราบจนกระทั่งถึงปี 1983 ความสม่ำเสมอนี้จึงยุติ ราว 1 ใน 3 ของประเทศไม่เพียงช่วงชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่านั้่น บางส่วนยังลดน้อยลงอีกด้วย พอถึงปี 2000 ความต่างระหว่างคนที่อายุยืนที่สุดกับคนที่อายุสั้นที่สุดในอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 18 ปี ในกรณีของผู้ชายและเกือบ 13 ปี ในกรณีของผู้หญิง

“อายุขัยของประชากร” เกี่ยวเนื่องอะไรกับความแตกแยกในสังคม?

เกี่ยวแน่นอน เนื่องเพราะเบื้องหลังของการอายุยืนขึ้นหรือหดสั้นลง มีเหตุปัจจัยมากมายประกอบอยู่ ตั้งแต่เรื่องของภาวะเศรษฐกิจ, สุขอนามัยพื้นฐาน, โอกาสและการเข้าถึงทางการแพทย์ เรื่อยไปจนถึงการศึกษา และการก่อร่างสร้างครอบครัว (เช่น อายุเมื่อแรกแต่งงาน หรือเริ่มมีลูกเมื่ออายุเท่าใด เป็นต้น)

อายุขัยจึงเป็นสัญญาณขนาดใหญ่ที่สะท้อนถึงความแตกต่างหลากหลายในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เหมือนเกาะแก่งมากมายที่ผุดขึ้นกลางน้ำ ต่างฝ่ายต่างยุ่งขิงอยู่กับการสร้างเศรษฐกิจของตัวเอง วัฒนธรรมและการเมืองของตัวเอง โดยมี “คอมมอน กราวด์” พื้นที่ตรงกลางขนาดใหญ่ที่เห็นพ้องร่วมกันเป็นเป้าหมาย

น่าเสียดายที่ “พื้นที่ตรงกลาง” ที่ว่านี้หดแคบ เรียวเล็กลงทุกทีตามกาลเวลาที่ผ่านไป

งานชิ้นหนึ่งของ เอ็ดเวิร์ด เกลเซอร์ นักเศรษฐศาสตร์ฮาวาร์ด ชี้ให้เห็นว่า ในทศวรรษ 70 คนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีกระจายตัว “อย่างสม่ำเสมอ” ทั่วประเทศ แต่ 40 ปีเศษหลังจากนั้นเริ่มกระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อนจำกัดอยู่ในเพียงบางที่บางจุด ส่งผลให้พื้นที่ซึ่งมีการกระจุกตัวดังกล่าวมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงกว่า อัตราการว่างงานต่ำกว่า

รายงานเชิงวิชาการของสถาบัน บรูกกิง ในราวปี 2010 แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่เริ่มทศวรรษ 2,000 เรื่อยมา เมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาเริ่ม “ฉีกตัวออกห่าง” จากกันและกันในทางเศรษฐกิจ นั่นสืบเนื่องเพราะความต่างทางด้าน “การศึกษา” และทั้งหมดนี้สร้างความแตกต่าง ก่อให้เกิดการแยกขั้วทางการเมือง ยิ่งแสดงชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าพื้นที่ใดเป็นรีพับลิกัน ที่ใดเป็นเดโมแครต

ความแตกต่างทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดกรอบความคิด เริ่มสั่งสมพอกพูนและเหลื่อมทับซ้อนกันมากขึ้นเรื่อยๆ งานวิจัยด้านรัฐศาสตร์ของ มาร์ค เฮเธอริงตัน ในปี 2004 พบความสอดคล้องที่น่าทึ่งระหว่างเพิ่มขึ้นของการยอมรับวิธี “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” กับการเพิ่มขึ้นของการโหวตให้รีพับลิกัน

ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในที่สุดแล้ว เราไม่ได้แตกต่างกันจำเพาะรูปลักษณ์หรือผิวสีภายนอกอีกต่อไป แต่ยังแตกต่างกันด้วยวิถีของการดำรงชีวิตและวิถีคิดของเราอีกด้วย

“การเมือง” ทำให้เรามองเห็นความแตกต่างนี้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จู่ๆ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อปี 2008 ก็ทำให้อเมริกันได้เห็นว่า สังคมของพวกเขาแตกแยกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย มากมายหลายส่วนด้วยกัน ไม่ได้เป็นเพียงแค่สีแดงของรีพับลิกันกับสีน้ำเงินของเดโมแครตอีกต่อไป

การแสวงหาคอมมอนกราวด์ ยิ่งทวีความยุ่งยากมากขึ้นเพราะยิ่งนับวัน “ประสบการณ์ร่วม” ยิ่งลดลงเหลือน้อยนิด ไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไปที่จะ “ตีตรา” ฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองว่าเป็น “คนอื่น” หรือ “คนนอก” ในเมื่อเราไม่เคยเห็นคนเหล่านี้ใน “ตลาดสด” ที่เราซื้อกับข้าวมาทำกินทุกเมื่อเชื่อวัน หรือไม่เคยพบเห็นพวกเขาตาม “ทางเดินในห้าง” แม้แต่ครั้งเดียว

คนที่ท่องอยู่ตาม “คันนา” ทุกเมื่อเชื่อวัน จะให้เห็นแล้วเข้าใจเรื่องราวไปในทิศทางเดียวกันกับคนที่นั่ง “ดินเนอร์” หลังแก้วไวน์ในห้องปรับอากาศเย็นฉ่ำย่อมยากเย็นยิ่ง

ภายใต้มุมมองเหล่านี้ “การเมือง” จึงไม่ใช่ที่มาของความขัดแย้งและไม่อาจใช้แก้ความแตกแยกที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่การเมืองไม่มีส่วนใดๆ ในความขัดแย้ง

ตรงกันข้าม “การเมือง” ทำให้ความขัดแย้งแตกแยกซับซ้อนและสับสนมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อเราทำให้ทุกอย่างที่อยู่แวดล้อมตัวเรากลายเป็นเรื่องการเมือง!

การได้คน “ผิวดำ” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในปี 2008 “น่าจะ” เป็นจุดประวัติศาสตร์ของการเยียวยาความขัดแย้งเรื่องสีผิว ชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา แต่อีกเพียง 8 ปีต่อมา สังคมอเมริกันกลับพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นความรู้สึกถึงความแตกแยก ขัดแย้งกลับทวีขึ้นมากกว่าที่สังคมนี้เคยมีในหลายๆ ทศวรรษก่อนหน้านี้

แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับเป็นตรงกันข้าม หลังปี 2008 กลุ่มต่อต้านรัฐ ต่อต้านรัฐบาลที่เป็นกองกำลังติดอาวุธปีกขวา เพิ่มขึ้นจาก 149 กลุ่มเป็น 1,360 กลุ่มในช่วงเวลาเพียง 4 ปี ในอีกทางหนึ่ง กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนผิวดำ เพิ่มขึ้นจาก 113 กลุ่ม เป็นเกือบ 200 กลุ่ม จากการศึกษาของศูนย์กฎหมายเซาเทิร์น โพฟเวอร์ตี องค์กรไม่แสวงกำไร เพื่อต่อสู้กับความเกลียดชัง การไร้ความอดทนอดกลั้นและการเลือกปฏิบัติผ่านการให้การศึกษาและกฎหมาย ในมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา

ปี 2013 เกิดขบวนการ “แบล็กไลฟ์ส แมทเทอร์” (บีแอลเอ็ม) เพื่อเรียกความสนใจให้กับพฤติกรรมการสังหารคนแอฟริกัน-อเมริกันที่ไม่มีอาวุธโดยพลการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สภาวะมองโลกในแง่ร้ายในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการจลาจลสีผิวครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1992 ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้รับฎีการ้องเรียนลงชื่อโดยอเมริกันมากกว่า 140,000 คนเรียกร้องให้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ “บีแอลเอ็ม” เป็นองค์กรก่อการร้ายในทำนองเดียวกับกองกำลังรัฐอิสลามหรือไอเอส

นี่ยังไม่นับขบวนการเคลื่อนไหวที่สร่างซาอิทธิพลลงไปแล้วอย่าง “ที ปาร์ตี” หรือ “ออคคิวพาย วอลสตรีท” เป็นต้น

ในที่สุดความแตกแยกขัดแย้งที่สั่งสมเป็นดินพอกหางหมู ก็แตกปะทุออกมาในส่วนที่เปราะบางที่สุดของสังคม นั่นคือเรื่อง “สีผิว”

ภายใต้โครงสร้างความแตกแยกขัดแย้งขนาดใหญ่ มีโครงสร้างย่อยๆ ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาอยู่มากมาย ในกรณีของสีผิว แซมมวล ซี. ดอบส์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาแอฟริกันอเมริกันศึกษา ของมหาวิทยาลัยเอโมรี นำเสนอเงื่อนปมที่สำคัญเอาไว้ผ่านข้อเขียนใน ไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาว่าคือ ทฤษฎี “โบรกเค่น วินโดวส์”

“โบรกเค่น วินโดวส์” เป็นทฤษฎีทางอาชญวิทยา ที่เชื่อว่าอาชญากรรม ไม่ได้เกิดขึ้นจากสาเหตุแห่งความยากจนหรือเงื่อนไขทางสังคมที่เป็นปัญหาอื่นใด หากแต่เป็นเพราะผู้รักษากฎหมายละเลยสัญญาณส่อให้เห็นถึงอาชญากรรมในอนาคตเล็กๆ น้อยๆ ในทำนอง การพ่นสี พ่นข้อความบนกำแพง หรือกราฟิตี เรื่อยไปจนถึงการก่อเหตุเล็กๆ น้อยๆ ในชุมชน อย่างการขว้างปาหน้าต่างชาวบ้านแตก อะไรทำนองนั้น

ทางออกในการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่สำคัญตามทฤษฎีนี้ก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องให้ความสนใจ ตรวจสอบเอาจริงเอาจังกับการละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

“โบรกเค่น วินโดวส์” ถูกนำมาปรับใช้เป็นนโยบายครั้งแรกในนครนิวยอร์ก เมื่อครั้งที่ รูดี จูเลียนี นายกเทศมนตรีจากพรรครีพับลิกันดำรงตำแหน่ง!

ผลลัพธ์ของการประยุกต์ใช้ทฤษฎี “โบรกเค่น วินโดวส์” เพื่อ “ทำให้ชุมชนปลอดภัยกว่าเดิม” กลายเป็นการทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสู่ชุมชน “แบล็ก แอนด์ บราวน์” เป็นจำนวนมาก เพิ่มสถิติเรียกตรวจและจับกุมขึ้นถี่ยิบ ทำให้จำนวนคดีในศาลเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เช่นเดียวกับการปริมาณการปรับและจำสำหรับการละเมิดกฎหมายในแบบที่หากเกิดในชุมชนผิวขาวไม่มีใครให้ความสนใจด้วยซ้ำไป

ระหว่างปี 2001 จนกระทั่งถึงปี 2013 เฉพาะในนครนิวยอร์ก ผู้ถูกจับกุมที่เป็นคนดำและละติโน รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 81 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหากระทำความผิดลหุโทษอาทิ ขี่จักรยานบนทางเท้า หรือ ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ทั้งหมด 7 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คนหนุ่มสาวผิวสี ทั้งคนดำและละติโนมีสถิติอาชญากรรมติดตัวเป็นทิวแถว ซึ่งส่งผลให้ถูกปฏิเสธการจ้างงานและไม่สามารถสมัครเพื่อขอรับทุนการศึกษาเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยบางแห่งได้

ในรายงานผลการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ทฤษฎี “โบรกเค่น วินโดวส์” ที่บัลติมอร์ได้ผลสรุปว่า การดำเนินการตามแนวทางของทฤษฎีนี้ “ไม่ได้ส่งผลให้อาชญากรรมร้ายแรงลดลง” มากเท่ากับการ “กระพือให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในชุมชนต่างๆ”

ที่มินเนโซตา รายงานผลการศึกษาที่รัฐเป็นผู้อำนวยการให้จัดทำ แสดงให้เห็นว่า “ผู้ขับขี่ยวดยานที่เป็นชนกลุ่มน้อยมีแนวโน้มที่จะถูกเรียกให้หยุดและตรวจค้นมากกว่าผู้ขับขี่ที่เป็นคนขาว ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่พบว่าเมื่อมีการตรวจค้นนั้นพบสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในรถของผู้ขับขี่ที่เป็นผิวขาวมากกว่า”

เพราะเหตุดังกล่าวเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกที่ “แบล็กไลฟส์ แมทเทอร์” หรือ “บีแอลเอ็ม” เกิดและเติบโตอย่างรวดเร็ว และยิ่งน่าสนใจมากเข้าไปอีกเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนที่ว่า บีแอลเอ็ม ไม่ใช่ขบวนการของคนดำล้วนๆ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ตรงกันข้าม นี่คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงที่สุดเท่าที่สหรัฐอเมริกาเคยมีมา

ที่แปลกยิ่งกว่าก็คือ การประท้วงที่เกิดขึ้นถี่ยิบ การสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเจตนาด้วยสไนเปอร์ผิวดำ ทั้งที่ดัลลัสและบาตันรูจ แทนที่จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “โซล-เซิร์ชชิง” ดึงตัวเองกลับมาพิเคราะห์ใคร่ครวญหาความถูกต้อง เหมาะสม ในระดับประเทศขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ผู้นำทางการเมืองทั้งหลายยังเดินหน้า “ขาย” ความแตกแยก ขัดแย้งต่อไปอย่างหน้าชื่นตาบาน

โดนัลด์ ทรัมป์ ยังย้ำคิดย้ำทำอยู่กับการทำให้ “อเมริกา เซฟ อเกน” และ “อเมริกา เกรท อเกน” โดยไม่รู้ว่าอเมริกาของตัวเองหดแคบลงทุกที

รูดี จูเลียนี ยังออกมาเทศนาสั่งสอนแอฟริกันอเมริกันทั้งหลายว่า ต้องแสดงพฤติกรรมอย่างไรถึงจะไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิง โดยลืมคิดไปว่าแม้แต่คนอย่าง “ทิม สก็อตต์” วุฒิผิวดำคนเดียวของพรรครีพับลิกัน ยังถูกเรียกรถให้หยุดตรวจเป็นครั้งที่ 7 ในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเพียงว่าเพราะขับรถ “ใหม่” มากไปเท่านั้นเอง หรือคนดำขับรถใหม่ไม่ได้?

ทั้งหมดเหล่านี้สรุปได้เพียงอย่างเดียวว่า ความแตกแยก ขัดแย้งในสังคม ถึงแม้จะย่ำแย่เลวร้ายเพียงใด

แต่ความแตกแยก ขัดแย้ง ก็ยังสามารถเป็นกลยุทธ์ เป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่ดีได้อยู่ร่ำไปเหมือนกัน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image