ยุโรปเชื่อมท้องถิ่นไทย มิติใหม่แห่งความร่วมมือ(จบ)

ยุโรปเชื่อมท้องถิ่นไทย
มิติใหม่แห่งความร่วมมือ(จบ)

เช้าวันถัดมาคณะทูตยุโรปได้เดินทางไปเยี่ยมชม “เปรมประชาคอลเลคชั่น” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเซรามิกชั้นนำของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ไปเยือน “ชามเริญ สตูดิโอ” ซึ่งนำผลงานของกลุ่มนักออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา เครื่องประดับทองเหลือง และการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ มาจัดแสดงร่วมกัน โดยคณะทูตสามารถพูดคุยสอบถามถึงกระบวนการผลิต ออกแบบ และการสร้างสรรค์ผลงานจากผู้ผลิตได้โดยตรง ทั้งยังซื้อของติดไม้ติดมือกลับไปกันพอสมควร

ขณะที่ ชาระมิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกชาของไทยที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพศ. 2484 โดยเดินตามรอยพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการทำเกษตรแบบยั่งยืน ปลูกต้นชาและกาแฟแบบออแกนิก เพื่อรักษาป่า รักษาหน้าดิน บุกเบิกการทำไร่ชา และการผลิตชาแบบสากลแห่งแรกในประเทศไทย ส่งเสริมอาชีพชาวไทยที่ราบสูงกว่า200ครอบครัว มายาวนานถึง 3 ชั่วอายุคน และได้รับการรับรอง USDA, EU Organic ยังได้นำชา Organic Black tea, Jasmine tea และ ชาระมิงค์ คราฟ ซีรี่ย์น้องใหม่ ที่ใช้ศิลปะการปรุงชาสไตล์ฝรั่งเศส โดยใช้วัตถุดิบในประเทศไทยที่ให้ความหอมหวานสดชื่น พร้อมขนมมาการอง มาเสิร์ฟให้คณะทูตได้จิบให้ชื่นใจคลายร้อนกันด้วย

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT
เยี่ยมชมเปรมประชาคอลเลคชั่น

หลังจากนั้นคณะทูตเดินทางต่อไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแม่ข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เพื่อเข้าร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวข้อที่ได้มาจากการหารือร่วมกันระหว่างกรมยุโรป สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายพันธมิตร อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ศูนย์ปฏิบัติการจราจรตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ We Love Chiang Mai กำหนดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเชี่ยวชาญเป็น 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.Science Technology and Innovation (STI) 2.Creative and Design 3.Smart City และ 4.Tourism โดยคณะทูตได้มีการแจ้งล่วงหน้าว่าต้องการจะเข้าแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลในประเด็นใดร่วมกับท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และผู้ที่สนใจจากหลากหลายสาขา

นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กล่าวหลังเสร็จสิ้นภารกิจว่า ภาพรวมถือว่า “โครงการส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากภูมิภายุโรปเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทย” ครั้งนี้ออกมาดีมาก ทั้งในแง่จำนวนประเทศที่ทูตมาร่วมโครงการ และในแง่ของผลตอบรับที่ได้ ทูตหลายคนที่ได้คุยบอกว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขาไม่เคยได้ดูหรือได้เห็นเวลาที่เดินทางมาเอง และขอบคุณที่กรมยุโรปได้จัดโปรแกรมที่ทำให้เขาเห็นเชียงใหม่ในแง่มุมที่มีความพิเศษ ขณะที่เวทีที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทูตหลายคนก็บอกว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าเขาจะสามารถร่วมมืออะไรกับไทย โดยเฉพาะผ่านเชียงใหม่ได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาแม้จะรู้ข้อมูลแต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้พูดในประเด็นเฉพาะเจาะจง เชิงลึก และเป็นรูปธรรม การพูดคุยในแต่ละประเด็นมีภาคส่วนต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย ไม่ใช่เฉพาะภาคราชการหรือภาควิชาการเท่านั้น

ADVERTISMENT

อธิบดีศศิวัฒน์บอกว่า ไม่คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นเมกะโปรเจค แค่มี 1-2 โครงการที่มีผลเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ ซึ่งเป็นความตั้งใจตอนเริ่มต้นโครงการก็พอใจแล้ว เพราะหลังจากนั้นความร่วมมือต่างๆ จะต่อยอดขยายวงได้อีก เท่าที่ทราบหลายประเทศก็ตั้งใจที่จะสานต่อความร่วมมือกับเชียงใหม่ต่อไป

ชมผลงานที่ชามเริญ สตูดิโอ

อธิบดีศศิวัฒน์กล่าวด้วยว่า กรมยุโรปทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมภูมิภาคของไทยกับประเทศต่างๆ ในยุโรปผ่านสถานเอกอัครราชทูตของเขาในประเทศไทย โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจและมีความสุขสมกับความตั้งใจที่จะนำองค์ความรู้ของยุโรปมาให้กับภูมิภาคต่างๆ ของไทย ซึ่งตั้งใจจะทำใน 3 ภูมิภาค คือภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน แต่ละภาคความร่วมมือจะต่างกันออกไป ขึ้นกับความต้องการของภูมิภาค และความต้องการเหล่านั้นเข้ากับองค์ความรู้ของประเทศต่างๆ ในยุโรปอย่างไร

ADVERTISMENT

โครงการของกรมยุโรปได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกจากท่านทูตหลายท่านที่เดินทางมาเข้าร่วมโครงการ โดยท่านทูตไบรอัน จอห์น เดวิสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยบอกว่า เป็นทริปที่ยอดเยี่ยม ดีมากที่ได้มาเยือนเชียงใหม่ หวังว่าจะได้กลับมาอีกครั้งในเร็วๆ โดยเฉพาะเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้และครีเอทีฟดีไซน์

ขณะที่ ท่านทูตเกส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยทวีตว่า เป็นทริปที่ดีมากที่เชียงใหม่กับเพื่อนๆ ในยุโรปและกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ สตาร์ทอัพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทริปอาจจะสั้นแต่เราจะกลับไปอีกอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับ ท่านทูตแชสตี เริดส์มูน เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยที่ทวีตว่า เชียงใหม่ เมืองที่มีทั้งวัฒนธรรม ศิลปะ หัตถกรรม และความสำราญในรสชาติอาหาร เป็นเมืองที่เปี่ยมชีวิตชีวาและแน่นอนว่าเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม @MFAThai @AmazingThailand

เข้ากลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ประธานคณะทำงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือและผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เป็นกำลังสำคัญในภาควิชาการที่ช่วยให้โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จกล่าวชื่นชมโครงการนี้ว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะทุกวันนี้โลกมันเชื่อมต่อกันทั้งหมด เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ใครขอใคร แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกัน การพูดคุยจึงเป็นไปในบรรยากาศของความเป็นพันธมิตร เป็นการนำเสนอจุดแข็งของเชียงใหม่ และจุดแข็งของประเทศในยุโรปว่ามีความร่วมมือในประเด็นใดที่น่าจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนกันได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่เรานำเสนอยังจะเป็นข้อมูลชั้นดีที่ทำให้เห็นภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ในมุมที่ชัดเจนมากกว่ามุมมองปกติ

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวด้วยว่า หลังเสร็จงานตนได้อีเมล์ไปหาท่านทูตทุกท่านที่มาร่วมงาน ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ท่านทูตหลายท่านแสดงความสนใจที่จะสานต่อความร่วมมือกับเราต่อไป อาทิ ท่านทูตอิตาลีสนใจจะช่วยเชื่อมให้เกิดความร่วมมือในเรื่องมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอิตาลีเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านนี้ ท่านทูตออสเตรียแจ้งว่าจะนำคณะมาเยือนเชียงใหม่เพื่อคุยเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ท่านทูตฮังการีบอกว่าจะนำคณะมาเยือนแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งในต้นปีหน้า ท่านทูตรัสเซียก็ได้เชิญให้ไปหารือกันต่อ และท่านทูตโปแลนด์แสดงความสนใจเรื่องสตาร์ทอัพ เป็นต้น การร่วมมือกับประเทศต่างๆ จะทำให้เขาเห็นถึงศักยภาพของเชียงใหม่ และเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงสู่การลงทุนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ร่วมกัน และยังเป็นโอกาสที่เราจะได้แลกเปลี่ยนต่อยอดกันต่อไป

ชมและซื้อผลิตภัณฑ์ Inno Store

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ดูเหมือนประตูสำหรับโอกาสแห่งความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นตามมาจากโครงการนี้จะเปิดกว้างขึ้นแล้ว และเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ได้บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า เชียงใหม่เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า “โครงการส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากภูมิภาคยุโรปเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทย” จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่จังหวัดเชียงใหม่และประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันนั้น จะเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือการทำงานร่วมกันในระยะยาวระหว่างหน่วยงานจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานฝ่ายยุโรป ด้วยการผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมาใช้ประโยชน์ โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image