หมายเหตุ “มติชน” เนื้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาทางเว็บ โดยการบรรยายพิเศษของ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้กับสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies – ISEAS) ของสิงคโปร์ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสะท้อนให้ต่างชาติได้เข้าใจถึงความเป็นไปในประเทศไทย และสะท้อนปัญหาความท้าทายที่นักการทูตไทยกำลังเผชิญ
///
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศของไทยโดยไม่พูดถึงพัฒนาการทางการเมือง ชัดเจนว่าการเมืองไทยไม่เคยขาดเรื่องตื่นเต้นเร้าใจและดราม่า วันนี้ผมแสดงมุมมองส่วนตัวของผมจากประสบการณ์ในหลายปีของการทำงานในแวดวงการทูต ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความท้าทายที่นักการทูตไทย ซึ่งรวมถึงผมด้วยต้องพบเจอคือจะอธิบายสถานการณ์การเมืองในไทยต่อเพื่อนของเราในต่างแดนอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ผมขอตั้งข้อสังเกตในภาพกว้างเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ ที่เห็นในไทยขณะนี้ ซึ่งมันน่าจะสะท้อนถึงความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อย ประการแรก คนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศของไทย เพราะสิบกว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรปัญหาต่างๆ ที่เราประสบ ถึงขั้นที่บางคนพูดว่าประเทศไทยยังย่ำอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเขาเดินไปข้างหน้า
ประการที่สอง ความท้าทายที่เราเจอไม่ว่าจะในด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจเป็นปัญหาด้านโครงสร้างที่หยั่งรากลึก และต้องการการปฏิรูปที่แท้จริงและครอบคลุมกว้างขวาง ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ แต่แทบจะไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังเลย
ประการที่สาม คนส่วนใหญ่ผมคุยด้วยเห็นเหมือนกันว่าไทยกำลังเดินมุ่งไปยังทางแยกที่มีความท้าทายมากมายรออยู่ หนทางข้างหน้าเต็มไปด้วยอันตรายและความไม่แน่นอน ซึ่งบทบาทของผู้นำที่เข้มแข็งและมีวิสัยทัศน์มีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้เรามีทิศทางไปสู่อนาคตที่ชัดเจน
สำหรับผม ความท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศคือการทำให้การทูตของไทยเป็นอิสระจากข้อจำกัดของการเมืองภายในประเทศ เราต้องแสดงให้เห็นว่าแม้ประชาธิปไตยของไทยจะเผชิญกับความท้าทาย แต่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าและมีบทบาทสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ และเรายังมุ่งมั่นที่เป็นผู้เล่นที่มีบทบาทอย่างแข็งขันและเป็นพลังสำคัญในกิจการระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
แน่นอนว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่สนใจที่สุดคือสถานการณ์การเมืองภายในของไทยในขณะนี้จะคลี่คลายลงอย่างไร เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ แต่สิ่งที่แน่นอนคือการเมืองไทยยังคงสะท้อนถึงความขัดแย้งและแตกแยกเป็นขั้ว (polarization) การประท้วงของกลุ่มเยาวชนที่เกิดขึ้นนำความขัดแย้งทางการเมืองในไทยไปสู่มิติใหม่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เมื่อมองย้อนกลับไป ความขัดแย้งของการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง ระหว่างกลุ่มหนุนและกลุ่มต้านทักษิณ และระหว่างคนกรุงเทพกับคนชนบท การต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับพรรคการเมืองประชานิยม
การประท้วงที่นำโดยนักเรียนและนักศึกษามิได้เป็นการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้เป็นแนวร่วมกับคนเสื้อสีใด แต่เรียกร้องให้มีการยกเครื่องระบบการเมืองไทย และถือว่าเป็นขบวนการที่สืบทอดเจตนารมย์ของคณะราษฎร์ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองไทยเมื่อปี 1932 พวกเขาไม่ยอมถอนข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลัก และยืนยันว่าจะไม่มีการต่อรอง อย่างไรก็ดีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันของพวกเขาทำให้คนหวั่นวิตกว่าจะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น เป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่ง และมากเกินไปโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นเสาหลักของสังคมไทย
แม้ขณะนี้จะมีการนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่หลายคนก็ยังเกรงว่าจะมีการดึงเรื่องให้ล่าช้าออกไปโดยกระบวนการในรัฐสภา แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามกรอบเวลา กระบวนการดำเนินการทั้งหมดยังต้องใช้เวลาถึง 2 ปีก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนจะยืดเยื้อต่อไปขึ้นกับใครจะกระพริบตาก่อน กระนั้นก็ดียังคงมีความคาดหวังว่าที่สุดแล้วทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะมีความพยายามในการพูดคุยและหาทางประณีประนอมกัน คำถามคือใครจะเป็นฝ่ายเริ่มก้าวไปข้างหน้าก้าวแรก
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยยังต้องรับมือกับความท้าทายของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 50% ของจีดีพี และการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนมากกว่า 15% ของจีดีพี เดิมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 8% แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้างมาอยู่ที่ลบ 6% เพราะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ และล่าสุดนโยบายคนละครึ่งของรัฐบาลได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการที่ประชาชนได้ปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัลในชีวิตประจำวันของพวกเขา
หนึ่งในการตัดสินใจที่ยากลำบากของรัฐบาลคือการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการปกป้องชีวิตกับการปกป้องการดำรงชีวิต ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยจะต้องค่อยๆ เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา โดยในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากมีวัคซีน ขณะที่เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตขึ้นราว 2-4% แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตรานี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางที่ติดอยู่มานานกว่า 2 ทศวรรษ
นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ฟื้นตัวเร็วพอ ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ขณะที่หนี้สินในครัวเรือนและเอสเอ็มอีเพิ่มพูนขึ้น ค่าบาทแข็ง ซึ่งไม่ช่วยเรื่องการส่งออก แต่ในแง่ดีคือไทยยังคงมีความมั่นคงในเรื่องเศรษฐกิจมหภาคและมีหนี้สินสาธารณะอยู่ในระดับที่ยังบริหารจัดการได้
ความท้าทายที่แท้จริงของรัฐบาลคือไม่เพียงแต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจะซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน แต่ขณะเดียวกันจำต้องปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่จำเป็นในระยะยาว ที่ผ่านมาสถานการณ์ความผันแปรทางการเมืองของไทยส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในส่วนของการปรับโครงสร้างและปฎิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้รัฐบาลทหารภาคภูมิใจกับการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อฟื้นความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย และนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจบนพื้นฐานของนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างมูลค่า กระนั้นก็ยังมีการตั้งคำถามว่าการที่ยุทธศาสตร์ 20 ปีดังกล่าวเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย อาจทำให้นโยบายไม่มีความยืนหยุ่น ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างการระบาดของโควิด-19
ในส่วนของการปฏิรูปเศรษฐกิจ มีเรื่องที่ต้องทำมากมาย เพราะไทยเป็นประเทศที่มีกฎระเบียบล้าหลังจำนวนมาก มีระบบการศึกษาที่ยังไม่มีคุณภาพ และมีการลงทุนน้อยมากในเรื่องการวิจัย พัฒนา และมีระบบราชการที่มีขั้นตอนต่างๆ มากมาย เรายังเป็นสังคมผู้สูงวัยที่ความร่ำรวยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนไม่มากนัก แต่ก็มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นเช่นกัน ธนาคารโลกได้ยกอันดับไทยจาก 27 ขึ้นมาเป็น 21 จาก 190 ประเทศในเรื่องความง่ายในการประกอบธุรกิจ รัฐบาลยังตั้งความหวังไว้สูงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่หวังให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทค นวัตกรรม โลจิสติกส์ และเป็นประตูสำหรับการค้าการลงทุนในภูมิภาค
แต่ก่อนเราอาจบอกตัวเองว่าสถานการณ์การเมืองไทยมีปัญหา แต่เศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันผมเชื่อว่าเสถียรภาพทางการเมืองจะมีความสำคัญต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติมากกว่าครั้งไหนๆ เมื่อเราแสวงหาการลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค บริษัทส่วนใหญ่จะวางแผนล่วงหน้า 5 ปีกว่าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะแล้วเสร็จ เรายังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากกว่าในอดีตจากประเทศอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย
นโยบายต่างประเทศของไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ นั่นคือเน้นไปในทาง cautious และ conservative ที่อาจถือได้ว่าเป็นสไตล์ของการทูตไทย ทำให้อาจเข้าใจไปว่านโยบายต่างประเทศไม่ใช่ประเด็นหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นท้าทายประเทศที่หนักหน่วงมากมายหลายประเด็นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนก็ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะไทยสามารถที่จะผลักดันให้เกิดข้อสรุปในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) และผลักดันให้มีฉันทามติของอาเซียนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาแนวคิดเรื่องอินโด-แปซิฟิก
ผมยอมรับว่าหนึ่งในสิ่งที่เป็นความอึดอัดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต คือเมื่อมีการกล่าวถึงการก้าวขึ้นมาของอาเซียนและศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทุกคนจะพูดถึงอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ดูเหมือนไทยจะหายไปจากจอเรดาห์ โดยเฉพาะในเมืองหลวงของประเทศตะวันตก อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นความสำคัญของไทยทั้งในแง่เศรษฐกิจและในแง่ยุทธศาสตร์ แต่ต้องยอมรับว่าทูตของเราต้องใช้เวลามากมายไปกับการอธิบายว่าการเมืองไทยจะมุ่งไปในทิศทางใด แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่เราต้องทำ แต่ก็ต้องไม่ให้มันมาขัดขวางไม่ให้เราดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุก
แม้การเมืองไทยจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็ไม่เคยละทิ้งเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังประชาธิปไตย และเชื่อว่ามหาอำนาจจะดำเนินความสัมพันธ์กับไทยเช่นไร และในระดับใด ขึ้นอยู่กับการชั่งผลประโยชน์ของเขา และบทบาททางการทูตของไทย ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และยุทธศาสตร์ มันขึ้นกับว่าเราจะวางบทบาทของไทยอย่างไรในเวทีโลก และแสดงท่าทีอย่างไรให้เขาเห็นว่าไทยมีความสำคัญ
มีประเด็นมากมายที่เราให้ความสำคัญกับมันได้ อาทิ การเน้นการทูตเชิงเศรษฐกิจโดยส่งเสริมยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ใช้อีอีซีเป็นฐานหลัก สำหรับการดึงดูดการค้าการลงทุน เราต้องเข้าถึงตลาดหลักต่างๆ นอกจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและอาร์เซ็ปแล้ว เราต้องเร่งความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู และตัดสินใจโดยเร็วว่าจะเข้าร่วมกับซีพีทีพีพีหรือไม่
ปัญหาที่ท้าทายการทูตไทยอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งกลายเป็นเวทีที่มหาอำนาจเข้ามาแข่งขันกัน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงจะกลายเป็นที่มาของความตึงเครียดและความขัดแย้ง ไทยสามารถมีบทบาทนำในการจัดการประเด็นเหล่านี้ และแนวทางจัดการกับประเด็นเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์
ไทยจะต้องเป็นประเทศแนวหน้าที่ผลักดันแนวคิดแบบก้าวหน้าว่าจะรับมือกับแรงกดดันจากการแข่งขันในภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองอย่างไร โดยยังคงความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน ความเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือ และการเป็นภูมิภาคที่มีการเคารพกฎเกณฑ์กติการะหว่างประเทศ (rules-based) โดยไทยต้องเป็นสะพานในการเชื่อมความรอยร้าวที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่และทางทะเล (Mainland and Maritime ASEAN) ภายใต้สถานการณ์ที่เอกภาพของอาเซียนกำลังถูกแรงกดดันจากการแข่งขันของมหาอำนาจที่รุนแรงยิ่งขึ้น
ประการสุดท้ายที่สำคัญคือบทบาทการทูตของไทยในการมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ต้องทำให้เขาเห็นว่าไทยมีน้ำหนักในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน วางนโยบายต่อภูมิภาคของเรา