‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ เผย ทิศทางการ ตปท.ไทย

ดอน ปรมัตถ์วินัย

‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ เผย
ทิศทางการ ตปท.ไทย

๐ภายใต้ข้อจำกัดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา เราดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวทั้งในด้านสาระเนื้อหา รูปแบบและจุดเน้น รวมทั้งทิศทางและการเตรียมตัวรับมือกับการผุดขึ้นมาของโลกยุคหลังโควิด-19 จนกล่าวได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่คล้ายคลึงกันไปหมดในด้านการต่างประเทศของทุกประเทศ อย่างไรก็ดี สำหรับไทยซึ่งเป็นประเทศที่โดยพื้นฐานเป็นสังคมเปิดกว้าง และมีสภาวะเป็นชุมทางของต่างชาติด้วยหลายๆ สาเหตุประกอบกัน จึงมีประเด็นหลากหลายในการเดินทางเข้าออกของคนด้วยสาเหตุต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด

มิติงานด้านกงสุลเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่เดือดร้อนจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น นับจนถึงวันนี้เราอำนวยความสะดวกให้คนไทยทั่วโลกเดินทางกลับบ้านแล้วเกือบ 150,000 คน ดูแลคนไทยที่ยังคงพำนักอยู่ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นการทำงานบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ เมื่อ ศบค.ผ่อนปรนมาตรการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากว่า 58,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและผู้ที่เดินทางมาพำนักในไทยระยะยาว

งานด้านต่างประเทศยังคงเข้มข้นโดยเราใช้กลไกทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี เพื่อแสวงหาแนวทางรับมือกับไวรัสนี้ การติดต่อระหว่างกันจึงออกมาในมุมออนไลน์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทวิภาคีหรือในด้านอาเซียนหรือพหุภาคีอื่นๆ ไม่ว่ากับประเทศสำคัญๆ เช่นสหรัฐฯ ออสเตรเลีย รัสเซีย หรือประเทศบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนายาและวัคซีน การอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19” และชักชวนประเทศต่างๆ เข้าร่วม ซึ่งล่าสุดมีหลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ร่วมบริจาคเข้ากองทุน เรื่องวัคซีนเราก็กระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศต่างๆ ทั้งยังผลักดันให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงได้

Advertisement

จุดแข็งของไทยในด้านสาธารณสุขทำให้เมื่อเกิดวิกฤติ ไทยอยู่ในสายตาของประเทศต่างๆ รวมทั้ง WHO เสมอ เพราะเราเคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคซาร์ส เมอร์ส และมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บทบาทของไทยในด้านสาธารณสุขได้รับการยอมรับจาก WHO ซึ่งเคยถ่ายทำวิดีทัศน์ประชาสัมพันธ์ประสบการณ์ของไทยในการจัดการโควิด-19 นอกจากนั้น ในช่วงที่ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 73 ก็ได้ชื่นชมและขอให้ทุกประเทศดำเนินการตามตัวอย่างของไทยที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งคนไทยทุกคนควรจะภูมิใจเพราะการที่เราได้รับการยอมรับเช่นนี้ก็มาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชน

เช่นเดียวกับการปรับตัวและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่เราจะมานั่งชมความสำเร็จของตัวเอง แต่ความสำเร็จสะท้อนมาจากการจัดอันดับที่ดีขึ้นขององค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ การเป็นประเทศที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจและเหมาะกับการลงทุน การเป็นประเทศที่ทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก ความก้าวหน้าด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย เราจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศและขจัดความท้าทายที่ยังคงเหลืออยู่อย่างจริงจังต่อไป

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสหารือทางไกลกับรัฐมนตรีต่างประเทศของหลายประเทศ ซึ่งก็ไม่พ้นเรื่องความร่วมมือโควิด-19 การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งระหว่างกัน และมองไปข้างหน้าว่าจะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและร่วมมือกันในช่วงหลังโควิด-19 อย่างไร ผมยังได้รับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่เดินทางมาเยือนไทยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้คุยถึงการเชื่อมโยงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area-GBA) ของจีน รวมทั้งการลงทุนใน EEC ที่จะพัฒนาเป็นจุดศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียผ่าน “โครงการสะพานไทย” ข้ามอ่าวไทยที่รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่ นายหวัง อี้เองก็สนใจติดตามโครงการเชื่อมต่อ 3 สนามบินและเมืองอัจฉริยะใน EEC หรือที่ผมพบกับเอกอัครราชทูตสหรัฐ เขาก็เพิ่งลงพื้นที่ EEC พบปะกับเอกชนสหรัฐ และเล็งเห็นศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐเพิ่มเติม ซึ่งสะท้อนว่า EEC ยังอยู่ในความสนใจและดึงดูดประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ

Advertisement

การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าเสรีและพหุภาคี เป็นแนวทางที่ไทยมุ่งผลักดัน เพื่อช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ล่าสุดเราร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป เมือเดือน พ.ย. ซึ่งในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีที่แล้ว เราสามารถเร่งรัดจนสำเร็จทั้ง 20 ข้อบท อาร์เซ็ปจะช่วยเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดที่มีประชากรกว่า 2.2 พันล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก นอกจากนั้น ไทยยังเน้นเรื่องการให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและ Start-ups ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะด้านดิจิทัลด้วย

ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นอีกวงที่มีศักยภาพสูงด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา เมื่อคราวไทยเป็นประธานยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ในปี 2561 ได้จัดทำแผนแม่บท ACMECS ที่กำหนดเป้าหมาย 3 ด้านหลักคือ การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม ในการประชุมสุดยอด ACMECS ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้นำเห็นชอบให้มีการเพิ่มเติมอีก 1 ด้าน คือ ความมั่นคงและปลอดภัย และตกลงขอบเขตการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหลายประเทศที่เล็งเห็นศักยภาพได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ในชั้นนี้ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอิสราเอล

ความยั่งยืนเป็น “หัวใจ” ในการดำเนินงานด้านการต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนา ไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียนตั้งแต่ปี 2559 โดยทำงานร่วมกับสหประชาชาติเพื่อผลักดันการบรรลุ SDGs เราทำงานใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมได้เป็นประธานการประชุม ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development ร่วมกับกรรมาธิการยุโรปด้านหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง เป้าหมายของไทยเราในเรื่อง Bio-Circular-Green Economy (BCG) และการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังสอดคล้องกับนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป ในช่วงการเป็นประธานกลุ่ม 77 เมื่อปี 2560 เราชูธงเรื่อง SEP for SDGs ผลักดันให้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับการยอมรับเป็นแนวทางที่สามารถนำไปสู่การบรรลุ SDGs และให้กรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศต่างๆ นำ SEP ไปปรับใช้ในบริบทของประเทศตน นอกจากนั้น เรายังมีศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในเรื่องนี้ด้วย

ในบริบททะเลจีนใต้ เราส่งเสริมการเจรจาและร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ของประเทศต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และทำให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อปี 2561 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างอาเซียนกับจีนในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และในปี 2564 ไทย จีน และสหรัฐ จะเป็นประธานร่วมกันจัดการสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการขยะทะเล ภายใต้กรอบเออาร์เอฟ เราหวังที่จะเห็นความร่วมมือที่สร้างสรรค์เช่นนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และขยายวงให้กว้างขึ้นเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นมิตร ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกประเทศในช่วงที่ต้องเร่งฟื้นฟูจากวิกฤติการณ์โควิด-19

๐ทิศทางการต่างประเทศในปี 2564 จะมุ่งไปทางใด

ในปี 2564 กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินงานด้านการต่างประเทศเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงความมั่นคงและตั้งใจจริงในการผลักดันทุกเรื่องราว โดยจะเน้นใช้โอกาสทองของวิกฤติโควิด-19 ให้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศและประชาชนไทย มีบทบาทแข็งขันในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งเราเชื่อว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจย่อมที่จะเล็งเห็นผลประโยชน์ร่วมกันตรงนี้

ปี 2564 นี้เรามีงานใหญ่รออยู่คือ การเป็นประธานกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ตั้งแต่ต้นปี 2564 ไปจนถึงสิ้นปี 2565 โดยจะผลักดันการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคหลังโควิด และเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้โดยใช้ความได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ของไทย เพราะอ่าวเบงกอลมีศักยภาพจะเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตที่สำคัญของโลกในอนาคต เป็นภูมิภาคที่ไทยยังขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้อีกมาก

นอกจากนั้น ไทยยังต้องเตรียมการเพื่อเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ในปี 2565 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ และ
นำความร่วมมือที่ให้ประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยจะเน้นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อจากระยะฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 และผลักดันประเด็นสำคัญได้แก่ การค้าการลงทุนที่เสรียิ่งขึ้น การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบ เพื่อให้เอเปค
ซึ่งมีทั้งสหรัฐ จีน และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นสมาชิก กลับมาเป็นกลไกที่เข้มแข็ง

เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือเรื่องสหรัฐที่มีการเปลี่ยนผู้นำใหม่ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างต้องเห็นคุณค่าของกันและกัน และเดินหน้าไปด้วยกันอย่างที่ทำมาในอดีตตลอดความสัมพันธ์ที่ยาวนานมากว่า 200 ปี บาทบาทของเราจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมประสานให้สหรัฐได้มีความสัมพันธ์กับอีกหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยจรรโลกสันติสุข เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าของทุกประเทศ ซึ่งไม่ใช่อะไรที่เกินความสามารถ เพราะสุดท้ายเรามองว่าทุกคนไม่ได้คิดต่างกันมาก เพียงแต่ต้องรู้จักยืดหยุ่น ผ่อนปรน ประณีประนอมในการอยู่ร่วมกัน รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเป็นปัญหาร่วมที่มาจากแหล่งใดก็สุดแล้วแต่ ซึ่ง ณ วันนี้อาจมองไม่เห็นเหมือนที่เราดูแลเรื่องโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ และอนาคตข้างหน้าอาจเป็นภัยรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะทำได้ก็เมื่อพวกเราทุกคนร่วมมือกันเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image