ชี้โควิดกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ดื้อยา

(แฟ้มภาพ) / AFP

ชี้โควิดกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ดื้อยา

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี รายงานเมื่อวันที่ 5 มกราคมนี้ว่า นายแพทย์ สก็อตต์ ก็อตต์เลียบ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ ที่รู้จักกันในชื่อสายพันธุ์ย่อย 501.วี2 (501.V2) กลายเป็นสายพันธุ์ย่อยที่น่าวิตกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในการทดสอบเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการทดลอง “บลูมแล็บ” พบว่าสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์นี้มีศักยภาพในการยับยั้งการทำงานของ ยาประเภทแอนติบอดี ทำให้วิธีการรักษาที่เคยใช้มาบางอย่างไม่ได้ผล และมีแนวโน้มที่จะทำให้วัคซีนที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ในเวลานี้ใช้ไม่ได้ผล

ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อย 501.วี2 ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าเดิม ถูกตรวจพบในแอฟริกาใต้ว่า เข้าไประบาดแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน แต่พอถึงกลางเดือนก็กลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดในประเทศ นายแพทย์ก็อตต์เลียบ ตั้งข้อสังเกตุเพิ่มเติมว่า ตอนนี้สายพันธุ์นี้ระบาดหนักอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้และบราซิล ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนักเพียง 2 แห่งของโลกที่อยู่ในฤดูร้อน ซึ่งทำให้ยิ่งน่าวิตกมากขึ้นไปอีก

นายแพทย์ก็อตต์เลียบ ระบุว่า ในการตรวจสอบของบลูมแล็บ พบว่า 501.วี2 เกิดการกลายพันธุ์ในส่วนที่เป็นตุ่มโปรตีนบริเวณเปลือกของไวรัส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่แอนติบอดีในร่างกายของมนุษย์เข้าไปเกาะจับเพื่อทำลายเซลล์ไวรัส การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตุ่มโปรตีน ทำให้เชื้อสามารถหลบหลีกจากภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในร่างกายได้ ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่เคยติดโควิด-19 มาก่อนหน้านี้ยังสามารถติดเชื้อใหม่นี้ได้อีก นอกจากนั้นยังอาจส่งผลให้ยาประเภทสร้างแอนติบอดีขึ้นมาจัดการกับเชื้อ ใช้ไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดีเท่าที่ผ่านมา

นายแพทย์ก็อตต์เลียบระบุว่า สหรัฐอเมริกายังโชคดีที่เชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ยังแพร่มาไม่ถึง หนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เข้ามาแพร่ในประเทศก็คือ ต้องป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากป้องกัน รักษาระยะห่าง และเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดโดยเร็วที่สุดเท่านั้น

Advertisement

ก่อนหน้านี้นายแมทท์ แฮนค็อค รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ ก็ออกมาเตือนทำนองเดียวกันเมื่อพบเชื้อสายพันธุ์ย่อยแอฟริกาใต้ในอังกฤษว่า 501.วี2 นี้สามารถแพร่ได้ง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย บี1.1.7 ของอังกฤษด้วยซ้ำไป แม้ว่า ผู้เชี่ยวชาญจะยืนยันว่าข้อมูลเกี่ยวกับ 2 สายพันธุ์ย่อยนี้ยังมีน้อยเกินไปที่จะเปรียบเทียบดังกล่าวก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image