คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : “หมู่บ้านเหอหลิน” ผลจากยุคเหมืองรุ่งเรืองของจีน

REUTERS/Jason Lee

ลึกลงไปใต้ดินในมณฑลซานซี ประเทศจีน มีเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นมากมาย ส่งผลให้เมืองเกิดการ “ทรุดตัว” ลงอย่างมาก หลังจากเหมืองเหล่านี้ปิดตัวลง หลายเมืองต้องอพยพผู้คนออกเพื่อความปลอดภัย

เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านเหอหลิน ชานเมืองเซี่ยวอี้ ที่ผู้คนต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา เพราะใต้หมู่บ้านลงไป มีเหมืองหลุมอยู่ใต้ดินมากถึงราว 100 หลุม ส่งผลให้บ้านเรือนเกิดการทรุดตัวกันเป็นแถว

แม้ว่าทางการท้องถิ่นในซานซีจะมีคำสั่งให้อพยพผู้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งหลายออกไป แต่หมู่บ้านเหอหลินยังไม่ถึงคิวที่จะต้องอพยพลำดับต้นๆ

“เรายังไม่ได้บอกให้ออกจากที่นี่ แต่ถ้ารัฐบาลมีคำสั่งเมื่อไหร่ เราก็ยินดีที่จะไปในทันที” นายหวัง จวินฉี ชาวบ้านในหมู่บ้านเหอหลินกล่าวกับผู้สื่อข่าว ในบ้านที่มีแต่รอยร้าวเพราะการทรุดตัวของพื้นดิน และต้องอยู่กันทั้งครอบครัว และว่า “ที่นี่ไม่ปลอดภัยแล้ว คนที่มีเงินหน่อยก็ย้ายหนีกันไปแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไร?”

Advertisement

ทั้งนี้ การขุดเหมืองในประเทศจีนที่มีขึ้นจำนวนมากช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตามเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหมู่บ้านและเมืองหลายเมืองที่ใต้พื้นดินลงไปเต็มไปด้วยหลุมเหมืองที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

เฉพาะที่มณฑลซานซีแห่งเดียว มีการวางแผนที่จะอพยพชาวบ้าน 655,000 คนออกจากพื้นที่เสี่ยงที่เต็มไปด้วยเหมืองภายในสิ้นปีหน้า โดยมีงบประมาณในการโยกย้ายประชาชนเหล่านี้ที่ 15,800 ล้านหยวน หรือราว 82,600 ล้านบาท และรัฐบาลมณฑลซานซีประเมินว่าเหมืองถ่านหินในซานซีนั้นได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสภาวะแวดล้อม เป็นมูลค่าสูงถึง 77,000 ล้านหยวน หรือราว 402,000 ล้านบาท

ตัวเลขจากทางการจีนระบุว่า เมื่อตอนสิ้นปี ค.ศ.2014 เหมืองถ่านหินได้ส่งผลทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นถึง 26,000 ครั้ง รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 10,000 ตารางกิโลเมตร

Advertisement

ขณะที่กระทรวงธรณีวิทยาของจีนระบุไว้เมื่อปีที่ผ่านมาว่า จะใช้เงิน 75,000 ล้านหยวน ภายในระยะเวลาอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทั่วประเทศ

จากที่อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินเคยรุ่งเรืองในจีน ตอนนี้ความต้องการถ่านหินเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ทางการจีนเตรียมปิดเหมืองอีกราว 1,000 แห่งในปีนี้ หลายแห่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านเหอหลิน

ที่ตอนนี้ชาวบ้านได้แต่อยู่กันอย่างหวาดผวา เพราะไม่รู้ว่าบ้านจะพังลงมาเมื่อไหร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image