นับถอยหลังสู่การเป็นเจ้าภาพเอเปค กับ “เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมศก.ระหว่างประเทศ

นับถอยหลังสู่การเป็นเจ้าภาพเอเปค
กับ “เชิดชาย ใช้ไววิทย์”
อธิบดีกรมศก.ระหว่างประเทศ

หมายเหตุ “มติชน”ในปี 2565 หรืออีก 1 ปีนับจากนี้ไป ประเทศไทยจะรับหน้าที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) อีกครั้งหนึ่ง 19 ปีผ่านไปนับจากครั้งก่อนที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2546 มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายบนโลก “มติชน” พูดคุยกับ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในผู้รับผิดชอบหลักในการเตรียมความพร้อมของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยว่าเรามีการเตรียมการอย่างไร และคาดหวังอะไรจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญดังกล่าวที่จะมีการประชุมในระดับต่างๆ จัดขึ้นตลอดทั้งปี
///

เชิดชาย ใช้ไววิทย์

ไทยเดินหน้าเตรียมความพร้อมเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดที่มี ในแง่สารัตถะ สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศเน้นคือการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของไทย เพราะประเด็นในเอเปคเกี่ยวข้องโดยตรงกับการหล่อหลอมความคิดที่ว่า เราอยากเห็นประเทศในเอเชียแปซิฟิกเดินหน้าไปในทิศทางไหน อย่างไรก็ดีเอเปคไม่ใช่องค์การการค้าโลก ไม่ได้มากำหนดกฎเกณฑ์ แต่เป็นการบ่มเพาะความคิดและไอเดียบางอย่าง และสามารถนำมาขับเคลื่อนได้ผ่านโครงการต่างๆ ของเอเปค การออกแบบว่าเราอยากเห็นมันเป็นอย่างไร ก็ต้องไม่ใช่การมาวาดภาพเอาเอง

เอเปคก่อตั้งขึ้นมาในปี 1989 ตอนตั้งเอเปคเป็นยุคที่โลกกำลังฮึกเหิมกับโลกเสรีนิยม ในปี 1989 กำแพงเบอร์ลินและสหภาพโซเวียตล่มสลาย ทุกคนวิ่งเข้าหาเสรีประชาธิปไตย ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ มีการเปิดการค้าเสรี ตั้งองค์การการค้าโลก แต่มาถึงวันนี้โลกมันไม่ได้ไปถึงจุดนั้น ในปี 1993 เอเปคมีเจตนารมย์ร่วมกันที่จะเปิดการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์ในปี 2020 ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น โดยเอเปคแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 11 เขตเศรษฐกิจเป็นสมาชิก CPPTP ส่วนอีก 12 เขตเศรษฐกิจอยู่ใน RCEP ซึ่งเพิ่งลงนามไปแต่เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์มากกว่าระดับของการเปิดเสรีอย่าง CPPTP

เป้าหมายของเอเปคในอดีตจึงไม่ไปกับโทนของโลกในขณะนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่การโตขึ้นของจีน ซึ่งเป็นยุคที่เกิดขึ้นของจีนยุคใหม่ท่ามกลางโลกของเสรีนิยม จีนเอามาปรับใช้กับวิธีที่เขาผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายเขตเศรษฐกิจโดยเฉพาะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับแรงกระแทกจาการเติบโตของเศรษฐกิจจีน กรณีเลห์แมนบาร์เธอร์ส วานิชธนกิจระดับโลกที่ล่มสลายทำให้เกิดคำถามต่อเสรีนิยม หลังจากนั้นก็เกิดแนวคิดปกป้องทางการค้าขึ้น

Advertisement

ทั้งหมดทำให้เกิดคำถามที่เอเปคต้องมาค้นหาอีกครั้งว่าเราจะตอบโจทย์นี้อย่างไร เราเห็นความขัดแย้งระหว่างเขตเศรษฐกิจต่างๆ มากขึ้น ในการประชุมที่ปาปัวนิวกินี ปี 2018 ไม่สามารถออกถ้อยแถลงของผู้นำได้ เพราะบางเขตเศรษฐกิจไม่สามารถไปในทิศทางเดียวกันได้ ปี 2019 ที่ชิลีก็ไม่สามารถจัดประชุมได้ เพราะเกิดจราจลในกรุงซานติเอโก เห็นชัดว่าประชาชนกับรัฐมีความเห็นต่างกันและมีช่องว่างระหว่างกันเยอะ คนมองว่าเวทีความร่วมมือพหุภาคีทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง

เมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นรากฐานในการรวมตัวของเอเปคเป็นเพียงด้านหนึ่งของปัญหาเท่านั้น อีกทางหนึ่งคือต้องมีความพร้อมของเอเปคในการรวมตัวกัน เพื่อตอบสนองกับดีสรัปชั่นที่เกิดขึ้นว่าเราจะเตรียมความพร้อมอย่างไร

นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปี 2564 ก็ต้องดูประเด็นต่างๆ และข้อกังวลทั้งหมดของเอเปคทั้งก่อนและหลังโควิด-19 ขณะนี้นิวซีแลนด์บอกแล้วว่าในการเป็นเจ้าภาพเอเปคเขาจะดู 3 เรื่อง 1.การค้าการลงทุน 2.ทำอย่างไรจะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนที่ขาดมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือในเรื่องของกลุ่มผู้เสียโอกาสต่างๆ และ 3.อะไรคือสิ่งสำคัญในอนาคต อาทิ การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) และการดึงเอเปคให้ผงาดขึ้นมาอีกครั้ง

Advertisement

สำหรับประเทศไทยเรามองว่าต้องมีการผสมผสานกัน เรามองว่าภาคส่วนต่างๆ ต้องมีความเป็นเจ้าภาพของประเด็นและเรื่องต่างๆ ในเอเปค 2022 ของไทย แต่การมีความเป็นเจ้าของไม่ใช่จะคิดเอง ต้องมีสิ่งที่เป็นสารัตถะของเอเปคว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร เราตั้งเวทีพูดคุยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในหลายระดับมาเป็นระยะ และจะทำต่อเนื่องตลอดปี 2564 สิ่งที่ได้เป็นไอเดียมี 4-5 เรื่อง

1.การค้าการลงทุน 2.ดิจิทัลไลเซชั่น 3.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการพัฒนาที่ยั่งยืน 4.Wellbeing ซึ่งเกิดขึ้นจากโควิด-19 หรือสุขกายสุขใจ ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่มากหลังโควิด-19 หากเราสามารถการขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคมาก 5.ความมั่นคงทางอาหาร เพราะถ้าเกิดทั้งโลกเกิดดิสรัปชั่นขึ้นอีก นี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดได้ โดนประเด็น 4-5 เป็นการกลับไปยังเรื่องพื้นฐาน (back to basic) ของสังคมมนุษย์ ทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565

ภาคเอกชนที่้คุยกับเราเขาก็มีแนวคิด โครงการ และแผนดำเนินการที่ตอบโจทย์ของผู้ได้รับผลกระทบเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการบริการทางการเงิน เช่นเดียวกับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ไทยได้ริเริ่มการตั้งกองทุนเชียงใหม่ขึ้นมา ถ้าผลักดันเรื่องนี้ได้และได้รับการตอบรับที่ดีก็อาจเป็นข้อริเริ่มอันหนึ่งที่จะตอบโจทย์นี้ นอกจากนี้ยังมีการมองถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมคู่กับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ว่าถ้าทำเศรษฐกิจก็ต้องดูเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งนำไปสู่อีกประเด็นคือการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น

ขณะเดียวกันเรายังต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคธุรกิจ ต้องเข้มข้นในแง่การเตรียมความพร้อม โดยประเด็นหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยน่าจะเปิดตัวกันได้ในราวเดือนพฤศจิกายนปีนี้ในช่วงการรับมอบหน้าที่เจ้าภาพเอเปค

สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านโลจิสติกส์นั้นทำยากมาก วิธีคิดเรื่องการจัดประชุมระหว่างประเทศก็ต้องปรับตัวเป็นแบบนิวนอร์มอล เราต้องดูความพร้อมว่าโลกจะสามารถกลับมาประชุมกันได้อย่างเดิมเมื่อไหร่ แต่หากตัดปัจจัยแทรกซ้อนในภูมิภาคต่างๆ ออกไป และพัฒนาการสำคัญคือการมีวัคซีน ก็เรียกได้ว่าขณะนี้โลกเข้าสู่ยุคของการมีวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว การกระจายวัคซีนจะเป็นตัวกำหนดว่าโลกจะมีความพร้อมแค่ไหน เราหวังว่ากลางปีหน้าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าโลกจะกลับมาเชื่อมต่อกันอย่างไร ดังนั้นคิดว่าเรายังมีเวลาเตรียมการในเรื่องนี้ และเราเตรียมพร้อมสำหรับการจัดประชุมอย่างเต็มรูปแบบ

๐ความท้าทายในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยคืออะไร

วันนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอะไร คำถามคือประชาชนได้อะไร ไม่ง่ายที่รัฐบาลจะแปลงนโยบายต่างประเทศมาเป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าใจได้ และเห็นถึงผลประโยชน์ระยะสั้นของเขา

อย่างไรก็ดีโดยตัวเอเปคเองก็เป็นกลไลที่สร้างประโยชน์มหาศาล วันนี้การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศทุกอย่างไม่ว่าจะกรมไหน ต้องตอบสนองต่อเป้าหมาย 3-4 ประการ 1.post Covid-19 เรื่องเศรษฐกิจต้องมาแน่นอน การเป็นเจ้าภาพเอเปคจะกระตุ้นให้เกิดการเยือนประเทศไทยของผู้ที่จะเข้ามาร่วมประชุมทั้งปี ซึ่งจะมีคนเข้ามา 2-3 หมื่นคน ก็น่าจะช่วยพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวของไทย ขณะนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ในต้นปี 2565 เราจะมีบทบาทสำคัญในช่วงการฟื้นตัวนั้น

ในช่วงสัปดาห์การหารือของผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นปลายเดือนพฤศจิกายน จะมีผู้นำประเทศ และผู้นำภาคเอกชนที่จะมาเข้าร่วมใน CEO Summit อีกประมาณหมื่นคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เกิดการจ้างงานในไทย งบประมาณที่เตรียมไว้เช่นเดียวกับการประชุมที่ผ่านมาก็จะเอามาใช้จ่ายในประเทศ จัดซื้อจัดจ้าง นำเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของไทย นี่คือสิ่งแรกที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น

2.เอเปคเป็นที่บ่มเพาะไอเดียและความคิด การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคจะดึงไทยให้กลับมาบนแผนที่โลกอีกครั้ง เอเปคมีประชากร 34% ของประชากรโลก มีจีดีพีถึง 60% ของจีดีพีโลก ถือเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีพลวัตรสูงที่สุดในโลก การที่ไทยเป็นสมาชิกเอเปคจะได้ประโยชน์ทั้งสองทาง สำหรับไทยเราจะได้ประโยชน์จากการนำข้อปฏิบัติที่ดีของเอเปคมาใช้พัฒนาภาคส่วนต่างๆ ของไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะทำอะไรให้กับโลก โดยเอาไอเดียที่ดีต่างๆ มาพัฒนาต่อไป เพื่อสร้างประโยชน์ให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจะยกภาพลักษณ์ของไทยในแง่การสร้างความเชื่อมั่น

3.วันที่เราจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมผู้นำเอเปค น่าจะเป็นครั้งแรกที่โลกกลับมาพบปะกันเป็นปกติเช่นเดิม ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนของเรา วันนี้ประชาชนต้องมีความเป็นเจ้าของในนโยบายต่างประเทศ ไม่ควรได้ประโยชน์แค่มีคนเข้ามาประชุม แต่ถึงเวลาที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ การที่ไทยจะเป็นผู้บริหารจัดการความคิด ไอเดียว่าเราจะเชื่อมต่อประชาชนกับเอเปคอย่างไรเป็นสิ่งที่เราอยากทำ

ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่มีบทบาทนำเรื่องการค้าการลงทุน ไม่ว่าเราจะขยับอะไรก็จะส่งผลกระทบต่อโลกภายนอก แนวคิดของเราคือไทยต้องเป็นประเทศที่มีความคิดริเริ่ม และเป็นประเทศที่ผู้คนมองเห็นในภูมิภาค ประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่ทำให้เกิดผลกระทบกับโลก ซึ่งเราทำมาตลอดในอดีต วันนี้เราต้องกลับมาเป็นประเทศที่สร้างอิทธิพลได้อีกครั้งหนึ่ง

ข้อดีคือเอเปคไม่ใช่เวทีที่สร้างความขัดแย้งในสังคม ไม่ได้ถกเถียงกันเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หรือเป็นการคุยกันของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องต่างๆ แต่เอเปคคือทิศทางในอนาคตของภูมิภาค เวลาที่เราพูดถึงเอเปค เราพูดถึงประเทศไทยใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์

เราอยากให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และได้ถามภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าเขาต้องการเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร ในบริบทของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีไอเดียที่เราได้มาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ไทยหลุดจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทำเพื่อประโยชน์และการพัฒนาในภูมิภาคแต่ยังต้องปกป้องผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราเน้นเสมอว่าอนาคตของเราคืออนาคตของคนรุ่นใหม่ว่าเขาอยากจะเห็นประเทศเราเป็นอย่างไร

ท่านรัฐมนตรีดอนเน้นว่าการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคต้องจัดประชุมอย่างประหยัด ใช้เงินอย่างคุ้มค่า ตอบโจทย์ที่พูดกัน และต้องดึงทุกภาคส่วนโดยเฉพาะรากหญ้าให้เขามีส่วนร่วมด้วย การพูดคุยที่ผ่านมาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ให้ภาพว่าทุกคนจะช่วยกันออกแบบประเทศไทยอย่างไร ช่วยบ่มเพาะความคิดในการเป็นเจ้าภาพของไทย เราเตรียมการกันอย่างดีและครอบคลุม โดยคำนึงถึงบริบทของสังคมที่ปรับเปลี่ยนไป จากปี 2003 ที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพ ถึงปี 2022 ห่างกันเกือบ 20 ปี น้ำหนักของสังคมต่อเรื่องต่างๆ อาจเปลี่ยน แต่ความทุ่มเทของคนไทยไม่เปลี่ยน และทุกคนพร้อมจะช่วยกันเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image