พิเคราะห์ ‘ข้อดี-ด้อย’ ของวัคซีนโควิดจากจีน

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผ่านการทดลองในคนในระยะที่ 3 และมีการอนุมัติให้ใช้ “เป็นกรณีฉุกเฉิน” อยู่ในหลายประเทศในเวลานี้มีอยู่ด้วยกัน 6 ตัว ประกอบด้วย ไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา, แอสทราเซเนกา, สปุตนิควี, ซิโนฟาร์ม และซิโนแวค

วัคซีนทั้ง 6 ผลิตบนแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีนที่แตกต่างกัน 3 ชนิด ไฟเซอร์/ไบออนเทคกับโมเดอร์นา ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอเหมือนกัน ส่วนแอสทราเซเนกากับสปุตนิควี ของรัสเซีย ก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกัน เรียกกันว่าไวรัลเวคเตอร์ ส่วนอีก 2 ตัวที่เหลือจากประเทศจีน ใช้เทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม หรือแบบคลาสสิก ที่เรียกว่า “อินแอคติเวเต็ดวัคซีน” หรือ “วัคซีนเชื้อตาย”

วัคซีน 3 ตัวแรก มีการเผยแพร่ขยายความทำความรู้จักกันสูงมากแล้วในเวลานี้ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ชาติตะวันตกเลือกใช้ในการฉีดให้กับประชาชนของตนเอง สปุตนิควีของรัสเซีย ใช้ฉีดอย่างเป็นทางการในหลายประเทศแล้วก็จริง แต่ข้อมูลและผลการศึกษาที่เผยแพร่ออกมายังคงมีข้อจำกัดอยู่อย่างมากในเวลานี้

วัคซีนที่ผู้ผลิตจากจีนพัฒนาขึ้นมา 2 ตัว เพิ่งผ่านการทดลองในคนระยะที่ 3 มาด้วยประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจ และไม่มีรายงานการพบผลข้างเคียงร้ายแรง ทำให้เตรียมประกาศใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลายประเทศ ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งประเทศที่มีประชากรจำนวนมากอย่างบราซิล และอินโดนีเซีย

Advertisement

 

แฟ้มภาพ วัคซีนโคโรนาแวค พัฒนาโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทคของจีน (รอยเตอร์)

อย่างไรคือวัคซีนเชื้อตาย?

“อินแอคติเวเต็ดวัคซีน” หรือ “วัคซีนเชื้อตาย” ถือเป็นเทคโนโลยีแรกสุดที่มนุษย์ใช้ในการพัฒนาวัคซีน จึงเรียกกันว่าเป็นแพลตฟอร์ม “คลาสสิก” ในการผลิตวัคซีน

กระบวนการในการผลิตวัคซีนชนิดนี้ ก็คือการนำเอาเชื้อก่อโรคที่ต้องการป้องกัน ในกรณีนี้คือ เชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือซาร์ส-โควี-2 มาทำให้ตายลง แล้วนำซากเชื้อดังกล่าวฉีดกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ที่ต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกัน

Advertisement

เนื่องจากไวรัสที่ถูกฉีดเข้าไปในร่างกายเป็นไวรัสที่ตายแล้ว ดังนั้นจึงไม่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยขึ้น แม้ผู้ได้รับวัคซีนจะเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื้อรังในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่ก็ตาม

แม้จะเป็นเชื้อตาย แต่คุณลักษณะของเชื้อและสารเคมีที่ผสมอยู่ในวัคซีน ก็สามารถไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงาน พร้อมๆ กับทำหน้าที่เหมือนเปิดสวิตช์ความจำของระบบภูมิคุ้มกัน ให้จดจำคุณลักษณะของเชื้อไว้ในระยะยาว ส่งผลให้ร่างกายสามารถป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวได้ในอนาคต

วัคซีนป้องกันโปลิโอ ที่ใช้กันอยู่ในหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ก็เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีนี้เช่นเดียวกัน

ข้อดี-ข้อเสียของวัคซีนเชื้อตาย

วัคซีนแต่ละชนิดมีข้อดีข้อด้อยอยู่ในตัวของมันเอง ข้อเสียประการหนึ่งของวัคซีนเชื้อตาย อย่างเช่นวัคซีนที่ผลิตโดยซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ก็คือ อาจจำเป็นต้องฉีดครั้งละหลายเข็ม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของวัคซีนจากประเทศจีนทั้งสองตัวกำหนดให้ใช้เพียง 2 เข็ม ในระยะห่างกันระหว่างกัน 14 วัน ในกรณีวัคซีน โคโรนาแวคของซิโนแวค และ 21 วัน ในกรณีของ บีบีไอบีพี-คอร์วี ซึ่งเป็นชื่อวัคซีนที่ซิโนฟาร์มพัฒนาขึ้น

วัคซีนเชื้อตาย อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อเป็นและเอ็มอาร์เอ็นเอ ทำให้เกิดข้อด้อยของวัคซีนเชื้อตายอีกประการขึ้น ก็คือ อาจจำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง

แต่ก็มีข้อดีในแง่ของการผลิต เพราะปลอดภัยและระบบการผลิตมีเสถียรภาพสูงกว่าการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ รวมทั้งการผลิตวัคซีนประเภทไวรัลเวคเตอร์ ซึ่งใช้ “เชื้อเป็น” มาทำให้อ่อนแอลง (เช่น วัคซีนของแอสทราเซเนกา) แม้ว่าระบบการพัฒนาและการผลิตวัคซีนทั้งสองชนิดจำเป็นต้องมีระเบียบวิธีเพื่อความปลอดภัยสูงเป็นพิเศษเหมือนกันก็ตาม

 

REUTERS/Stephane Mahe

ประสิทธิภาพวัคซีนจากจีน

วัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์มได้รับอนุมัติจากทางการจีนให้ใช้กับทหารในกองทัพจีนมาไล่เลี่ยกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ในการทดลองในคนระยะที่ 3 นั้น ซิโนฟาร์มทดลองในกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัคร 60,000 ราย จาก 125 ประเทศ ในขณะที่ซิโนแวคมุ่งเน้นการทดลองระยะที่ 3 ของตนในกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครในประเทศอย่าง ตุรกี บราซิล และอินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ซิโนฟาร์มประกาศผลเบื้องต้นของการทดลองระยะที่ 3 ว่าพบว่าวัคซีนของตนมีประสิทธิภาพ 79 เปอร์เซ็นต์

แต่ผลการทดลองที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่ามีประสิทธิภาพถึง 86 เปอร์เซ็นต์ โดยทางซิโนฟาร์มเปิดเผยว่าเตรียมเผยแพร่ผลการทดลองในคนระยะที่สามโดยละเอียดในเร็วๆ นี้

ในราวปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทางการตุรกีเผยผลเบื้องต้นของการทดลองวัคซีน โคโรนาแวคของซิโนแวคในตุรกีว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 91.25 เปอร์เซ็นต์ ต่อมา บราซิลเปิดเผยผลการทดลองเบื้องต้นของวัคซีนตัวเดียวกันนี้ในประเทศตนว่าอยู่ที่ระดับ 78 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอินโดนีเซียเพิ่งแถลงเมื่อ 11 มกราคม ว่าผลการทดลองวัคซีนโคโรนาแวคในประเทศตน ให้ประสิทธิภาพอยู่ที่ 63 เปอร์เซ็นต์

ยังไม่มีการชี้แจงว่าทำไมถึงเกิดความแตกต่างกันอยู่มากถึงขนาดนั้น แต่รายละเอียดของการทดลองทั้งหมดจะเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้ตรวจสอบกันโดยเร็วเช่นกัน

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในผลการทดลองเบื้องต้นในทั้ง 3 ประเทศ ไม่ปรากฏรายงานว่ามีผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่อผู้ได้รับวัคซีนแต่อย่างใด

แฟ้มภาพรอยเตอร์

วัคซีนของจีนกับเชื้อกลายพันธุ์

หนังสือพิมพ์ไชนาเดลีของทางการจีนรายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ นายเซิ่ง อี้ซิน รัฐมนตรีช่วยประจำสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นเอชซี) ระบุว่า ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการของจีน ที่ดำเนินการโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันห้องปฏิวัติการทางสัตวศาสตร์ (ไอแอลเอเอส) ของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน ร่วมกับมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นในมณฑลกวางตุ้ง พบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจีน มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้่อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในอังกฤษในเวลานี้ได้

โดยทีมวิจัยได้ยื่นรายละเอียดของการทดลองทั้งหมดเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ และกำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาตีพิมพ์อยู่ในเวลานี้

แม้ว่าในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อวัคซีน แต่เป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นวัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวค ซึ่งมีพัฒนาการรุดหน้าที่สุดอยู่ในเวลานี้

และนับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่เตรียมประกาศใช้วัคซีนจากประเทศจีนอยู่ในเวลานี้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image