คอลัมน์ Think Tank: หนี้สาธารณะท่วม เรื่องปวดหัวของผู้กำหนดนโยบาย

REUTERS/Truth Leem/File Photo

ผู้บริโภคที่มีหนี้สินท่วมหัวจากการใช้จ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชียต้องประสบความยากลำบากมานานหลายปี ถึงตอนนี้คนกลุ่มนี้ ยังกลายเป็นปัญหาของธนาคารกลางแต่ละประเทศด้วย แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ผู้บริโภคและแม้กระทั่งบริษัทต่างๆ มีหนี้สินล้นพ้นจนไม่สามารถกู้ยืมเพิ่มได้อีก ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำขนาดไหนก็ตาม

เหมือนอย่างที่รัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ (จี20) ระบุไว้ในการประชุมจี20 เมื่อเดือนที่แล้วว่า “นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำไปสู่การเติบโตที่สมดุลได้”

การกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาจากการที่เงินทุนไหลจากประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่เข้ามาในตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้ธนาคารกลางในประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยและพิมพ์แบงก์ออกมาเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงิน

Advertisement

ข้อมูลของเอชเอสบีซีแสดงให้เห็นว่า 8 จาก 14 ชาติยักษ์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถึงตอนนี้มีหนี้ครัวเรือนมากกว่า 3 ใน 4 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของตน

“นั่นทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการปรับลดดอกเบี้ย เพราะผลที่ต้องการให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายจะแทบไม่เกิดขึ้นเลย” เฟรเดริก นอยมันน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีในฮ่องกงบอก

หากวัดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ต่อจีดีพี ประเทศที่มีการเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาคือจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น แต่หากวัดจากอัตราส่วนแล้ว เกาหลีใต้ มาเลเซียและออสเตรเลียมีอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 250 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งมากกว่านั้นอีกในจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์

Advertisement

ยกเว้นจีนแล้ว ปริมาณหนี้สินของประเทศเหล่านี้ยังไม่ถือเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเอเชีย จากการที่ภาระหนี้สินส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาลหรือหน่วยงานของทางการ

ถึงแม้จะไม่เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่ความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นได้หากธนาคารกลางต่างๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากกว่านี้

จากการที่เกาหลีใต้มีหนี้สาธารณะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังเพื่อปรับโครงสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อ่อนแรง เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยนอกจากอาจไม่ส่งผลอะไรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอีกด้วย

ทว่ามาเลเซียได้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากแปลกใจจากการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่เหลือความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า หลายประเทศยังคงมีช่องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก แต่ก็จะไม่ค่อยมีประสิทธิผลเท่าไหร่นัก

ท้ายที่สุดแล้วจำเป็นต้องพึ่งพาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายได้

ซึ่งเป็นเรื่องโชคร้ายที่สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image