บัวแก้วชี้ช่องผู้ประกอบการไทย มองโอกาสทำธุรกิจกับยูเอ็น

บัวแก้วชี้ช่องผู้ประกอบการไทย
มองโอกาสทำธุรกิจกับยูเอ็น

เชื่อว่าหลายคนคงได้คุ้นตากับอาคารที่มีหลังคาสีเขียวเด่นเป็นสง่า มีธงชาติหลายสิบชาติประดับประดาสวยงามอยู่ด้านหน้าที่ถนนราชดำเนิน คนทั่วไปคงรับรู้กันว่านี่คือที่ตั้งของ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 คณะกรรมการส่วนภูมิภาคของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

แม้จะได้เปรียบในการเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่สำคัญแห่งหนึ่งของยูเอ็น แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยกลับทำธุรกิจจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ กับเอสแคปน้อยมาก กระทั่ง กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเล็งเห็นถึงช่องทางและโอกาสที่จะช่วยชี้ช่องให้ภาคเอกชนไทย จึงได้จัดการสัมมนาเพื่อชี้ให้เห็นถึงลู่ทางและโอกาสในการทำธุรกิจกับยูเอ็นขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้กรมองค์การระหว่างประเทศได้จัดการสัมมนาดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “กลยุทธ์สู่ความสำเร็จพิชิตการทำธุรกิจกับยูเอ็น” โดย นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการสัมมนาโดยเน้นบทบาทที่แข็งขันของกระทรวงการต่างประเทศในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย และพยายามหาลู่ทางการตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง การสัมมนาครั้งนี้จะช่วยแนะนำลู่ทางและโอกาสในการทำธุรกิจกับยูเอ็น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วน พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะเปลี่ยนวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าและบริการของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมิติของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับยูเอ็น ที่จะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและยูเอ็นในมิติอื่นๆ เพื่อรับมือกับประเด็นความท้าทายของโลกร่วมกันต่อไป

ขณะที่ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของกรมองค์การฯ ในการส่งเสริมการทูตพหุภาคี และความร่วมมือระหว่างไทยกับยูเอ็นในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนไทยกับยูเอ็น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องในการขยายตลาดสินค้าและบริการกับหน่วยงานของยูเอ็น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างไทยกับยูเอ็น กระตุ้นภาคการผลิตและการส่งออก ส่งเสริมการจ้างงาน และกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยย้ำว่ายูเอ็นพร้อมเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ภาคธุรกิจไทยทั้งรายใหญ่รายย่อย และยินดีเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วนของไทย ทั้งยังให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) ที่มีคนเป็นศูนย์กลาง

Advertisement
ณัฐวัฒน์ กฤษณามระ

ขณะที่ นางแอน แมททิวส์ (Anne Matthews) ผู้อำนวยการฝ่ายงานบริหารของยูเอ็นเอสแคปชี้ว่า การจัดสัมมนาครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในเวลาเพียง 5 เดือน มีบริษัทไทยที่เข้าร่วมงานจำนวน 39 บริษัท จากทั้งหมด 57 บริษัท ลงทะเบียนในระบบจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาชาติ (United Nations Global Marketplace – UNGM) สำเร็จ โดยบริษัทก่อสร้าง 1 บริษัท เป็นคู่ค้ากับยูเอ็นแล้ว และอีก 2 บริษัท อยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประมูล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภาคเอกชนไทยในการทำธุรกิจกับยูเอ็น พร้อมกับย้ำว่าผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามโอกาสในการทำธุรกิจกับยูเอ็นซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก และควรเร่งรัดการลงทะเบียนในระบบ UNGM

นายรูรี โมลินา (Rury Molina) หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของยูเอ็นเอสแคปย้ำว่า ยูเอ็นเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสำหรับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ของไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการแสวงหาโอกาสทางการค้ากับ ยูเอ็นเอสแคปและยูเอ็น ซึ่งการลงทะเบียนในระบบ UNGM ซึ่งถือเป็นด่านแรกในการเป็นคู่ค้ากับยูเอ็น ทั้งนี้ยูเอ็นมีแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้าง 4 ประการ คือตรงตามวัตถุประสงค์ เที่ยงธรรมและโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และมีความคุ้มค่า

ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในฐานะที่ชนะการประมูลเปิดร้านกาแฟดอยตุงในศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (United Nations Conference Centre – UNCC) เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า มูลนิธิมีพันธกิจหลักในการดำเนินธุรกิจ 3 ข้อ ได้แก่ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ให้คนเป็นศูนย์กลาง และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของยูเอ็น ส่งผลให้มูลนิธิชนะการประมูลดังกล่าว อย่างไรก็ดีการดำเนินธุรกิจกับยูเอ็นต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตและการบริการต้องได้ประโยชน์ เป็นธุรกิจที่มีคุณค่าต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน น.ส. ศิริธร ไวยรัชพานิช นักการทูตชำนาญการพิเศษ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่ากรมความร่วมมือฯ ได้ดำเนินโครงการไตรภาคีร่วมกับยูเอ็นในประเทศต่างๆ ซึ่งมีการจัดซื้อจัดจ้างในมูลค่าที่สูงมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละโครงการ เนื่องจากยูเอ็นมีความต้องการจัดซื้อจัดจ้างบริการจำนวนมาก อาทิ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ล่าม และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชุม

นายไวโรจน์ รุกขภิบาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทธรรมดาเพรสจำกัด ให้ข้อคิดเกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นคู่ค้ากับสหประชาชาติว่า ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและบริการเป็นอันดับแรก ตรงต่อเวลา และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ พร้อมกับให้แรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ว่าการดำเนินธุรกิจกับยูเอ็นไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะยูเอ็นเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการนำเสนอสินค้าและบริการอย่างเท่าเทียม

การสัมมนาครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ เห็นได้จากผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนหลากหลายสาขา รวมทั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งรวมถึง
 นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งบริษัทดอยคำแสดงความสนใจลงทะเบียนในระบบ UNGM ด้านผู้แทนจากกรมการพัฒนาชุมชนก็ได้โอกาสในการสร้างเครือข่ายกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของยูเอ็นเอสแคปเพื่อหาแนวทางร่วมกันสนับสนุนสินค้า OTOP ของไทย นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทยเข้าร่วมการสัมมนา

การสัมมนาที่จัดขึ้นจึงไม่เพียงแต่จะบรรลุเป้าหมายในการต่อยอดการสร้างความตระหนักรู้และความตื่นตัว ในการขยายตลาดสินค้าและบริการกับยูเอ็นแก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยรับทราบข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นที่สนใจของยูเอ็นและลงทะเบียนในระบบ UNGM เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สินค้าและบริการของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหน่วยงานของยูเอ็นทั่วโลก และยังช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนไทยพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการของยูเอ็น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการของไทยสู่มาตรฐานสากล

นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับความต้องการของกรมที่จะมีส่วนร่วมส่งเสริมงานหัตถกรรมและวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์งานฝีมือท้องถิ่นของไทยสู่เวทีโลก เพื่อช่วยขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง

ยูเอ็นเอสแคปได้ย้ำในหลายโอกาสถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย โดยกรมองค์การฯ จะหารือกับยูเอ็นเอสแคปและหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อแสวงหาช่องทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 เมื่อสามารถจัดการประชุมที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ซึ่งเดิมมีการเดินทางมาของผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายประเทศถึงเกือบ 3,000 ครั้งต่อปี

การสัมมนาที่เกิดขึ้นยังช่วยชูบทบาทการเป็นประเทศเจ้าบ้านที่สร้างสรรค์และแข็งขันของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานของยูเอ็นเอสแคป โดยเฉพาะการเจรจาร่างข้อมติการจัดสรรงบประมาณเพื่อโครงการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารยูเอ็นเอสแคป โดยกรมองค์การฯ ยังวางแผนที่จะจัดกิจกรรมต่อยอดในรูปแบบที่น่าสนใจร่วมกับยูเอ็นเอสแปคต่อเนื่องในปี 2564 อีก เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสในการทำธุรกิจกับยูเอ็นและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image