โควิดอังกฤษกลายพันธุ์ซ้ำ-ต้านวัคซีน

แฟ้มภาพ รอยเตอร์

โควิดอังกฤษกลายพันธุ์ซ้ำ-ต้านวัคซีน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ บีบีซีและซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขแห่งอังกฤษ (พีเอชอี) เผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ใหม่อีกครั้งของเชื้อก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ของอังกฤษ ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลว่าจะทำให้เชื้อกลายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ระบาดเร็วอยู่แล้ว มีความสามารถในการต่อต้านแอนติบอดีที่วัคซีนโควิดสร้างขึ้น จนอาจทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของพีเอชอี ตรวจสอบตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เคนท์ (บี.1.17) ที่ระบาดรุนแรงอยู่ในอังกฤษในเวลานี้ 214,159 ตัวอย่าง พบว่า มี 11 ตัวอย่างที่เกิดการกลายพันธุ์ซ้ำ และเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งพันธุกรรมเดียวกับการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้และบราซิล ซึ่งส่งผลให้เกิดการต่อต้านแอนติบอดีในร่างกายซึ่งเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน
การกลายพันธุ์ดังกล่าวนักวิชาการด้านไวรัสวิทยาระบุว่าเป็นการกลายพันธุ์ อี484เค ซึ่งหมายถึงการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับตำแหน่งพันธุกรรมลำดับที่ 484 จาก”อี”แต่เดิมเป็น”เค”

โดยนักวิทยาศาสตร์ของพีเอชอี เชื่อว่าการกลายพันธุ์ที่จุดนี้ยังมีอีกมากในอังกฤษแต่ยังค้นหาไม่พบเท่านั้น โดยยกตัวอย่างการตรวจสอบผู้ติดเชื้อที่เมืองลิเวอร์พูลพบว่ามีมากถึง 32 ราย ที่มีการกลายพันธุ์ อี484เค และพบด้วยว่า เชื้อที่เกิดการกลายพันธุ์เหล่านี้บางส่วนกลายพันธุ์เองโดยอิสระ ไม่ได้เป็นการแพร่จากแหล่งเดียว

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นตรงกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าวิวัฒนาการครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการฉีดวัคซีนทั้งในอังกฤษและในประเทศอื่นๆ มากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยส่วนหนึ่งชี้ว่า อี484เค คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทดลองวัคซีนหลายตัวได้ผลน้อยลงในประเทศแอฟริกาใต้ ตัวอย่างเช่น วัคซีนโนวาแวกซ์ ทดลองในคนระยะที่ 3 ในอังกฤษได้ผล 89 เปอร์เซ็นต์ แต่ในการทดลองระยะที่ 2 ในแอฟริกาใต้พบว่าได้ผลเพียง 60 เปอร์เซ็นต์, วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ทดลองได้ผล 72 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐ แต่ได้ผลเพียง 57 เปอร์เซ็นต์ในแอฟริกาใต้ โดยทั้งสองกรณี การทดลองในแอฟริกาใต้นั้น กลุ่มตัวอย่าง 90-95 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ บี.1.351 ที่พบมากที่สุดในแอฟริกาใต้และมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง อี484เค ทั้งสิ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image