สวีเดนกับรัฐสวัสดิการ ความฝันที่มีต้นทุน (1)

สวีเดนกับรัฐสวัสดิการ ความฝันที่มีต้นทุน (1)

หมายเหตุ “มติชน” – การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ผ่านมา หนึ่งในข้อเรียกร้องที่พูดถึงคือการจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน แน่นอนว่าการจะเป็นรัฐสวัสดิการไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย หรือได้มาฟรีๆ แต่มีต้นทุนที่เราต้องจ่ายเช่นกัน สัปดาห์นี้จึงชวนไปดูตัวอย่างของการบริหารรัฐสวัสดิการในสวีเดน ตั้งแต่ที่มา วิธีการทำสวัสดิการที่มอบให้กับประชาชน ไปจนถึงปัญหาและอุปสรรค

จากความยากจนมาสู่ความมั่นคงอย่างถ้วนหน้า

ในช่วงปี ค.ศ. 1700 – 1800 สวีเดนเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป เกิดความแร้นแค้นอดอยากในหลายพื้นที่ จนชาวสวีเดนจำนวนมากต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ เพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า

หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1760 สวีเดนได้เปิดรับเอาความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ จนกระทั่งในช่วงปลายยุค 1800 สวีเดนได้ก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม

Advertisement

การขยายตัวทางเศรษฐกิจมาพร้อมกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ระบบคมนาคมได้รับการพัฒนา รวมทั้งเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงเป็นแรงงานที่ยากจน ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่ตระกูลใหญ่ๆ ผูกขาดการลงทุนในธุรกิจ จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างบ่อยครั้ง

ปัญหาความเหลื่อมล้ำนอกจากจะเป็นปัญหาทางสังคม ยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของสวีเดน โดยในช่วง ค.ศ. 1920 สวีเดนประสบวิกฤตการเมืองจากการที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก ประชาชนไม่มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในพรรคการเมือง จนเกิดภาวะรัฐบาลเสียงข้างน้อย และนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลและการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ถึง 10 ครั้งในระยะ 10 ปี จนในปี ค.ศ. 1928 นายแพร์ อัลบิน ฮอนส์สอน จากพรรคสังคมประชาธิปไตย ได้หยิบยกแนวคิด “Folkhemmet” (บ้านของประชาชน) ขึ้นมาใช้หาเสียงเลือกตั้ง

แนวคิด “บ้านของประชาชน” คือ “การสร้างความรู้สึกมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความเป็นพลเมือง มีความเชื่อมโยงกัน รู้สึกถึงความเป็นบ้าน” โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มแรงงาน

Advertisement

ผลคือนายแพร์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสวีเดน ระหว่างปี ค.ศ. 1932-1946 ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีการปฏิรูปทางสังคมที่สำคัญของสวีเดน โดยรัฐบาลเริ่มเก็บภาษีความมั่งคั่ง เพื่อนำไปพัฒนาระบบสวัสดิการ ซึ่งเพิ่งยกเลิกจัดเก็บไปเมื่อปี ค.ศ. 2007 เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศมากขึ้น

การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมของสวีเดนใช้เวลานานเกือบศตวรรษ กฎหมายบางฉบับใช้เวลายาวนานกว่าจะได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่ในภาพรวม พรรคสังคมประชาธิปไตย ถือเป็นพรรคที่ได้วางรากฐานรัฐสวัสดิการให้กับสวีเดน กฎหมายสำคัญหลายฉบับที่พรรคสังคมประชาธิปไตยมีบทบาทผลักดัน เช่น กฎหมายเงินบำนาญแห่งชาติ ในปี ค.ศ. 1935 กฎหมายการลาประจำปี ในปี ค.ศ. 1938 และการประกันสุขภาพสาธารณะ ในปี ค.ศ. 1955

ภาคเอกชนของสวีเดนก็มีส่วนร่วมผลักดันให้สวีเดนเป็นรัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพ เช่น เมื่อปี ค.ศ. 1938 สหภาพการค้าสวีเดนกับสมาคมนายจ้างสวีเดน ได้มีการทำสัญญาร่วมกันในการกำหนดเงื่อนไขการจ้างงานและสิทธิแรงงานที่เป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมไปถึงการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่างๆ ที่ดูแลผลประโยชน์ของลูกจ้างอย่างจริงจัง

เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการต้องเก็บภาษีเท่าไร

ภาษีเป็นหัวใจของระบบรัฐสวัสดิการ คนสวีเดนยินดีจ่ายภาษี เพราะนอกจากจะเป็นหน้าที่ของประชาชนแล้ว ยังเชื่อมั่นว่ารัฐจะนำเงินภาษีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ผู้ที่หนีภาษีจะได้รับโทษตามกฎหมายความผิดด้านภาษี ในปี ค.ศ. 2019 มีการตรวจพบผู้เข้าข่ายต้องสงสัยหนีภาษี 16,795 คน ซึ่งหากผิดจริงอาจมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และจะเสียสิทธิทางสังคมหลายอย่าง เช่น ไม่ได้รับเงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วย ลาพักร้อน หรือลาคลอด รวมถึงมีผลกระทบกับเงินเกษียณ และการดำเนินชีวิตในสังคม

คนสวีเดนเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบภาษีและการทำงานของกรมสรรพากร ผลสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2019 พบว่า กรมสรรพากรสวีเดนได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนเป็นอันดับที่ 9 จากหน่วยงานราชการทั้งหมด 40 แห่ง

ปัจจุบัน การเก็บภาษีในสวีเดนหลักๆ แบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ 1.ภาษีรายได้ ประมาณร้อยละ 30-35 ของเงินเดือน 2.ภาษีนายจ้างประมาณร้อยละ 30 ของเงินเดือนลูกจ้าง/คน/เดือน และ 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมาณร้อยละ 25 ของราคาสินค้า โดยระหว่างปี ค.ศ. 2016-2018 รัฐสวีเดนมีรายได้จากการเก็บภาษีสูงมาก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อัตราการจ้างงานของสวีเดนปีค.ศ. 2019 อยู่ที่ร้อยละ 68.3 ซึ่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีอัตราการจ้างงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60 รายได้จากการเก็บภาษีในช่วงดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในปี ค.ศ. 2019 รายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท

ลองมาดูอัตราภาษีรายได้บุคคลแบบขั้นบันไดของสวีเดน ปี ค.ศ. 2020 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนได้ในแต่ละปี
รายได้ 509,300 โครนาสวีเดน หรือราว 1,629,760 บาทต่อปี ขึ้นไป หักที่ร้อยละ 30-35
(ส่วนนี้เข้าองค์การบริหารส่วนภูมิภาค (Region) และเทศบาล (Municipality) แบ่งตามสัดส่วน)
+ ร้อยละ 20 ของส่วนต่างที่เกินจาก 509,300 โครนาสวีเดน (ส่วนนี้เข้ารัฐบาลกลาง) อาทิ ผู้ที่มีรายได้ 800,000 โครนาสวีเดนต่อปี จะต้องเสียภาษีร้อยละ 30-35 และเสียเพิ่มสำหรับส่วนต่างอีกร้อยละ 20 ของ 290,700 (มาจาก 800,000-509,300)
รายได้ต่ำกว่า 509,300 โครนาสวีเดนต่อปี ร้อยละ 30-35 (ส่วนนี้เข้าองค์การบริหารส่วนภูมิภาคและเทศบาลแบ่งตามสัดส่วน)
รายได้ต่ำกว่า 20,008 โครนาสวีเดน หรือราว 64,056 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี

การบริหารจัดการรัฐสวัสดิการ

สวีเดนปกครองด้วยระบบกระจายอำนาจ องค์การบริหารส่วนภูมิภาคและเทศบาลมีอำนาจจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลและมีบทบาทพัฒนาท้องถิ่น ในการดูแลด้านสวัสดิการสังคมในสวีเดนมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็น 3 ระดับ

1.รัฐบาลกลาง ประกอบด้วย รัฐสภา รัฐบาล และหน่วยงานราชการ ดูแลภาพรวมระบบรัฐสวัสดิการ การกำหนดข้อกฎหมาย และนโยบาย

2.องค์การบริหารส่วนภูมิภาค 21 แห่ง ดูแลรับผิดชอบการให้บริการด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาล บริการด้านทันตกรรม แก่เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 22 ปี และระบบขนส่งสาธารณะ และ

3.เทศบาล 290 แห่ง รับผิดชอบการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สถานศึกษา และบริการสังคมอื่น ๆ

องค์การบริหารส่วนภูมิภาคกับเทศบาลจะแบ่งภาษีที่จัดเก็บในภูมิภาคของตน โดยภาษีรายได้บุคคล องค์การบริหารส่วนภูมิภาคจะเก็บประมาณร้อยละ 12 ส่วนเทศบาลจะเก็บประมาณร้อยละ 18

ในปี 2562 องค์การบริหารส่วนภูมิภาคต่างๆ มีรายได้รวมกันราว 1.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่มาจากการเก็บภาษีรายได้บุคคลในส่วนขององค์การบริหารส่วนภูมิภาคร้อยละ 70 (ส่วนที่เหลือมาจากงบประมาณสนับสนุนของรัฐบาล) โดยได้ใช้รายได้ร้อยละ 80 ในการลงทุนด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลในพื้นที่ ในส่วนของเทศบาลต่างๆ ในปี 2562 มีรายได้รวมกันทั้งหมด 2.3 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่มาจากการเก็บภาษีรายได้บุคคลในส่วนของเทศบาล ร้อยละ 67 (ส่วนที่เหลือมาจากงบประมาณสนับสนุนของรัฐบาล) โดยใช้รายได้ร้อยละ 78 ในการลงทุนในโรงเรียน การเรียนการสอนอื่นๆ และการดูแลผู้สูงอายุรวมถึงผู้พิการ

สวัสดิการในสวีเดนมีอะไรบ้าง

สวัสดิการสังคมในสวีเดนแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่

1.ประเภทบริการสังคมที่จำเป็น จะไม่เก็บค่าบริการ เช่น การศึกษา อุปกรณ์การเรียนการเรียนการสอน อาหารกลางวันสำหรับนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา การให้บริหารด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาต่างๆ การใช้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ของรัฐ สวนสาธารณะ และการใช้บริการสถานีรีไซเคิล

2.ประเภทบริการที่รัฐช่วยอุดหนุน เช่น การรักษาพยาบาล โรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าบริการ แต่ในราคาที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับต้นทุน การให้เงินสนับสนุนแก่ประชาชนแต่ละกลุ่มตามสิทธิของบุคคลนั้นๆ แบ่งออกเป็น “เงินสนับสนุนทั่วไป” และ “เงินสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข” ตัวอย่างเช่น เงินสนับสนุนทั่วไป เช่น เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรอายุระหว่าง 1 เดือน – 16 ปี จำนวนราว 3,750 บาทต่อบุตร 1 คนต่อเดือน ซึ่งจะได้รับทุกครอบครัว โดยไม่คำนึงถึงรายได้ หรือเงินสนับสนุนการเรียนหนังสือสำหรับเยาวชนที่มีอายุ 16-20 ปี จำนวนราว 3,750 บาทต่อเดือน

เงินสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข เช่น เงินสนับสนุนการเรียนหนังสือสำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษา จำนวนราว 9,936 บาทต่อเดือน และสามารถกู้เงินเพื่อการศึกษาเพิ่มอีกไม่เกิน 22,848 บาทต่อเดือน โดยรัฐคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.05 หรือเงินสนับสนุนค่าที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี

ดลวีร์ วรานนท์
สวิตา ศิริรัตน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image