“บัวแก้ว”ฉลองใหญ่ “อาเซียน”ย่างสู่ ปีที่50 (จบ)

ในเวทีเสวนาเรื่อง “ประชาคมอาเซียน : หลากหลายแต่หลอมรวม” คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา นักประวัติศาสตร์ นักเขียนและกวีซีไรต์ ได้หยิบยกมุมมองทางประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายความหลอมรวมทางวัฒนธรรมของอาเซียน โดยเริ่มจากต้นยางพาราที่คนนึกว่าเป็นต้นไม้ของไทย ปลูกกันมานานทางภาคใต้ แท้จริงแล้วเป็นต้นไม้ที่เจ้าเมืองตรัง หรือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ท่านคอซิมบี้ ณ ระนอง นำเข้ามาจากมลายู

คุณจิระนันท์มองว่า รูปแบบของประวัติศาสตร์จะส่งผลต่อระดับความรู้ความเข้าใจในรากเหง้าของวัฒนธรรมที่มีร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ประวัติศาสตร์ที่มีการแบ่งแยกชัดเจนและตายตัวจะทำให้เรารู้สึกถึงความแบ่งแยกและแตกแยก ดังนั้นประวัติศาสตร์ควรออกมาในลักษณะของประวัติศาสตร์ที่ไม่มีพรมแดน เช่น ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ ก็มีการกล่าวถึงหลายประเทศที่กล่าวอ้างความเป็นสุวรรณภูมิร่วมกัน มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือของประเทศเดียว แต่มีลักษณะของความเป็นรากเหง้าร่วมกันที่แยกไม่ออก เพราะประวัติศาสตร์ที่ไม่มีพรมแดนจะทำให้เรารู้ผสมกลมกลืนไปกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่รายล้อมรอบตัวเรา

ในช่วงก่อนที่จะมีการใช้แผนที่แบ่งพรมแดนแบบเดียวกับทางตะวันตกนั้น ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณแถบชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน คนคนหนึ่งก็อาจมีชื่อได้มากถึงสามภาษา อันที่จริงแล้วความเป็นไทยนั้นก็ถูกผสมผสานและมีความกลมกลืนกับวัฒนธรรมชาติต่างๆ ส่วนภาพลวงทางอัตลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นมีแต่จะทำให้เราแบ่งแยกตัวเองจากเพื่อนบ้านและสังคมโลก

ดังนั้น การเผยแพร่องค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรส่งเสริมให้คนทั่วไปได้รับทราบว่า แท้จริงแล้ววัฒนธรรมในอาเซียนนั้นมีรากเหง้าร่วมกัน ตัวอย่างเช่น การจัดนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” ที่มิวเซียมสยาม ชื่อเสมือนจะรบกัน แต่แท้จริงแล้วได้ถ่ายทอดและเปิด

Advertisement

มุมมองอีกด้านของแรงงานชาวพม่าที่เข้ามาอาศัยและทำมาหากินในประเทศไทยเพื่อให้คนทั่วไปมีความเข้าใจเพื่อนบ้านของเรามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการทำสงครามหรือความเป็นชาตินิยม คนพม่ามาทำงานเมืองไทย ไม่ได้จะมาเอาทองจากไทย แต่เพราะไทยอยู่ใกล้ที่สุด สะดวกที่สุด มีอาหารการกิน ความเชื่อ ค่านิยมและศาสนาเหมือนกันกับพม่า พวกเขาไม่ได้มาเอาเปรียบคนไทย

คุณจิระนันท์ทิ้งท้ายได้อย่างน่าคิดว่า การบูรณาการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนในเชิงวัฒนธรรมจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันกับหลายกลุ่มสาขาวิชาชีพ เพราะความร่วมมือในภูมิภาคคงจะไม่สมบูรณ์และลึกซึ้งหากปราศจากความรับรู้ ความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง

อันที่จริงหากเรามองประเทศเพื่อนบ้านด้วยสายตาและความคิดที่ปราศจากอคติและความรู้สึกชาตินิยมจนเกินพอดี เราก็จะตระหนักว่าประเทศในภูมิภาคนี้มีการถ่ายทอดและรับเอาวัฒนธรรมของกันและกันมาอย่างยาวนาน เราจึงไม่ควรจะพยายามครอบครองหรือแก่งแย่งเอาวัฒนธรรมบางอย่างมาประกาศว่าเป็นของตัวเราเท่านั้น เพราะการมองโลกด้วยสายตาเช่นนั้นจะทำให้เราไม่อาจอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ ด้วยความเป็นจริงก็สะท้อนอยู่ในคำที่คุณธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ได้พูดเอาไว้ว่า “มีอาเซียนอยู่ในตัวเรา และมีเราอยู่ในอาเซียน” มานานแล้วนั่นเอง

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในย่างก้าวสู่ปีที่ 50 ของอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนได้ “รู้จัก” และ “เข้าใจ” ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนผ่านมิติทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น เพราะที่จริงแล้ววัฒนธรรมและวิถีแห่งชีวิตคือสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้ดีกว่าสิ่งใดๆ ยิ่งในการดำรงอยู่ท่ามกลางสังคมแห่งความหลากหลาย การสร้างความหลอมรวมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในพหุสังคมวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อย ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่นานาประเทศควรให้ความสำคัญยิ่งกว่าจะยึดโยงแต่เพียงมิติด้านการพัฒนาที่มีแต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนเป็นที่ตั้ง

ผู้ที่สนใจอยากรับชมรับฟังการเสวนาดังกล่าวด้วยตนเอง สามารถเปิดฟังย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊กของสถานีวิทยุสราญรมย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image