คณะมนตรีสิทธิฯยูเอ็นร้องกองทัพเมียนมาคืนอำนาจรัฐบาลพลเรือน ปล่อย ‘ซูจี’ ทันที

AFP

คณะมนตรีสิทธิฯยูเอ็นร้องกองทัพเมียนมาคืนอำนาจรัฐบาลพลเรือน ปล่อย ‘ซูจี’ ทันที

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เรียกร้องให้ทหารเมียนมาสละอำนาจคืนให้กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ทันที

ยูเอ็นเอชอาร์ซีได้จัดประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ และชาติสมาชิกยูเอ็นเอชอาร์ซีทั้ง 47 ชาติ ได้ออกข้อมติโดยไม่ต้องมีการลงคะแนน เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ตามอำเภอใจทันทีและปราศจากเงื่อนไข พร้อมกับฟื้นคืนการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนในเมียนมา

รายงานข่าวระบว่าชาติพันธมิตรของกองทัพเมียนมาอย่างจีน รัสเซีย แยกตัวเองออกจากการลงมติ เช่นเดียวกับเวเนซุเอลา โบลิเวีย และฟิลิปปินส์

ในระหว่างการประชุมสมัยพิเศษเพื่อหารือต่อกรณีการยึดอำนาจในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นักการทูตและเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเอชอาร์ซีส่วนใหญ่แสดงความวิตกกังวลต่อเหตการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงที่ลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศด้วยการใช้ความรุนแรง

Advertisement

ด้านนายมิน ทู เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำยูเอ็น ยืนยันต่อที่ประชุมว่ากองทัพเมียนมาถูกบังคับให้ต้องแสดงความรับผิดชอบ ท่ามกลางความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไป พร้อมกับย้ำว่า เมียนมาหวังว่าจะได้รับความเข้าใจที่ดีขึ้น และการมปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงความร่วมมือจากประชาคมระหว่างประเทศ

ขณะที่มีหลายประเทศที่แสดงท่าทีปกป้องเมียนมาในการหารือ และตำหนิการจัดประชุมสมัยพิเศษของยูเอ็นเอชอาร์ซีว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา แต่ท่าทีของประเทศส่วนใหญ่คือการต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้น การควบคุมตัวคนจำนวนมาก และการใช้กำลังต่อประชาชนที่ออกมาประท้วง

รายงานข่าวระบุว่า ข้อมติที่ออกมานั้นถูกปรับลดความรุนแรงจากร่างก่อนหน้าหลังการเจรจาอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ได้มีการระบุถึงการคว่ำบาตร แต่ขอให้เมียนมาเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนในประเทศ และรับประกันว่าสมาชิกขององค์กรภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเสรีและปราศจากความหวาดกลัวต่อการใช้ความรุนแรง การข่มขู่หรือคุกคาม

Advertisement

พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้มียกเลิกมาตรการควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ต การสื่อสารต่างๆ และโซเชียลมีเดีย รวมถึงต้องให้การคุ้มครองและต้องไม่มีเครื่องกีดขวางต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

ข้อมติดังกล่าวยังเรียกร้องให้ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเมียนมาของยูเอ็น ประเมินสถานการณ์และพัฒนาการที่เกิดขึ้น และรายงานกลับมาให้ยูเอ็นเอชอาร์ซีรับทราบอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image