สวีเดนกับรัฐสวัสดิการ ความฝันที่มีต้นทุน (จบ)

ระบบขนส่งสาธารณะที่รัฐช่วยอนุดหนุนราคาให้ไม่สูงจนเกินไป

สวีเดนกับรัฐสวัสดิการ ความฝันที่มีต้นทุน (จบ)

หมายเหตุ “มติชน” การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ผ่านมา หนึ่งในข้อเรียกร้องที่พูดถึงคือการจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน แน่นอนว่าการจะเป็นรัฐสวัสดิการไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย หรือได้มาฟรีๆ แต่มีต้นทุนที่เราต้องจ่ายเช่นกัน สัปดาห์นี้จึงชวนไปดูตัวอย่างของการบริหารรัฐสวัสดิการในสวีเดน ตั้งแต่ที่มา วิธีการทำสวัสดิการที่มอบให้กับประชาชน ไปจนถึงปัญหาและอุปสรรค
///

๐สวัสดิการในสวีเดนมีอะไรบ้าง (ต่อ)

การดูแลเมื่อลาป่วยจากการทำงาน โดยกำหนดหลักเกณฑ์คือ ระหว่างลาป่วยวันที่ 1-14 นายจ้างจะรับผิดชอบชดเชยการขาดรายได้จากการลาป่วยในอัตราไม่เกินร้อยละ 80 (ลาป่วยเกิน 7 วันต้องมีใบรับรองแพทย์) หลังจากลาป่วย 15 วันเป็นต้นไป สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยการขาดรายได้ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 80 ของเงินเดือน (ไม่เกิน 2,430 บาทต่อวัน) หากลาป่วยเป็นเวลานานเกิน 1 ปี จะลดเงินชดเชยเหลือไม่เกินร้อยละ 75 ของเงินเดือน

เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี และผู้สูงอายุที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป ไม่ต้องเสียค่าแพทย์หรือค่ารักษาในโรงพยาบาล บริการการแพทย์อื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น บริการศูนย์ดูแลสุขภาพเด็ก การใช้บริการคลินิกผดุงครรภ์สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ การตรวจเต้านมสำหรับผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40-74 ปี (เรียกตรวจปีเว้นปี) การตรวจภายในเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 23 ปีขึ้นไป (เรียกตรวจทุก 3 ปี)

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการดูแลจัดสรรสวัสดิการด้านทันตกรรมและการดูแลช่วงเหลือผู้สูงอายุ เช่นประชาชนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะได้รับสิทธิรับบริการบ้านพักคนชรา สถานพยาบาลคนชรา หากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยค่าธรรมเนียมสำหรับการพักอาศัยในบ้านพักคนชราไม่เกิน 6,581 บาทต่อเดือน และค่าอาหารไม่เกิน 5,154 บาทต่อเดือน ทั้งนี้จะต้องไม่เกินรายได้จากเงินเกษียณของบุคคลนั้นๆ เป็นต้น

ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลสวีเดนได้จัดสรรงบประมาณในการตรวจโควิดเชิงรุกแก่ประชาชนกว่า 200,000 คน/สัปดาห์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดสรรงบประมาณ 3,600 ล้านบาท สำหรับซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะนำมาฉีดให้กับทุกคน ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในสวีเดนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดสรรงบประมาณ 60,000 ล้านบาท ให้องค์การบริหารส่วนภูมิภาคเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อรักษาคุณภาพทางการแพทย์โดยรวม รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อฯ และอุปกรณ์การแพทย์เพื่อแจกจ่ายให้กับพื้นที่ต่างๆ

สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 รัฐบาลได้แก้ไขหลักเกณฑ์ประกันสังคมบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น แก้ไขหลักเกณฑ์การลาป่วยโดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์จากเดิม 7 วัน เพิ่มเป็น 14 วัน จ่ายเงินชดเชยการขาดรายได้ตั้งแต่วันแรกที่ลาป่วย (จากเดิมลาป่วยวันแรกจะไม่ได้รับเงินเดือน) มีคำสั่งให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกระเบียบการพิจารณาความสามารถในการทำงานหลังจากลาป่วยครบ 180 วันชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังจากโควิด-19 เสียสิทธิในการรับเงินชดเชย

Advertisement

ในส่วนของผู้ประกอบการ รัฐบาลได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจากการชดเชยการสูญเสียรายได้จากการลาป่วยของพนักงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 และเพิ่มงบประมาณจำนวน 9,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 18,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนกู้ยืมเพื่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการขอรับความช่วยเหลือของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด เป็นต้น

สวนสาธารณะในสวีเดน จะมีทุก ๆ 200-300 เมตรในเมือง

๐ปัญหาและความท้าทายของระบบรัฐสวัสดิการในสวีเดน

ตั้งแต่ปี 2543 สวีเดนมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 หรือ 1.4 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2562 สวีเดนมีประชากรรวมทั้งสิ้น 10,327,589 คน สาเหตุหลักมาจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในสวีเดนของผู้อพยพ ปัจจุบันสวีเดนให้ถิ่นพำนักแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมากถึง 1 แสนคนต่อปี นั่นหมายความว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า สวีเดนจะมีประชากรผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งก็เริ่มมีกระแสฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเช่นกัน โดยเห็นว่าบางส่วนของคนเหล่านี้ต้องให้รัฐดูแลด้วยภาษีของประชาชน

สวีเดนยังต้องเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุ โดยมีการประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ในขณะที่ประชากรที่มีอายุระหว่าง 20-64 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถประกอบอาชีพและชำระภาษีที่นำมาใช้ในระบบสวัสดิการสังคมจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งอาจสร้างปัญหาความสมดุลทางโครงสร้างอย่างรุนแรง ซึ่งในปี 2562 เทศบาลจำนวน 69 แห่ง จากทั้งหมด 290 แห่ง กำลังประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มภาษีขึ้นอีกในอนาคต

หากคำนึงถึงภาระต้นทุนของรัฐสวัสดิการที่รัฐและประชาชนต้องแบกรับในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้รัฐสวัสดิการของสวีเดนยังดำรงอยู่ได้ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งปฏิรูประบบให้เหมาะสมและสมดุลกับสภาพความเป็นจริง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากสวีเดนและในหลายประเทศคือการขยายอายุเกษียณของคนวัยทำงาน ซึ่งของสวีเดนปัจจุบันอยู่ที่ 68 ปี และกำลังจะขยายเป็น 69 ปี ในปี 2565

นอกจากความท้าทายด้านงบประมาณ การรักษาคุณภาพและจัดสรรการบริการให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนก็เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากในสวีเดนที่ต้องเข้าคิวรักษาพยาบาล การนัดแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคในโรงพยาบาลรัฐสำหรับอาการป่วยที่มีความซับซ้อนอาจใช้เวลานานเป็นเดือน ทำให้บางครั้งผู้ป่วยมีอาการทรุดหนัก จำนวนสถานศึกษา บ้านพักสวัสดิการผู้สูงอายุ หรือบ้านพักคนชราไม่เพียงพอ นอกจากนี้ รัฐยังต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสวัสดิการสังคม โดยประเมินว่าสวีเดนจำเป็นต้องจ้างบุคลากรเพิ่มอีกประมาณ 94,000 คน/ปี

ในช่วงโควิด-19 มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบรัฐสวัสดิการของสวีเดนในการดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราเยอะมาก เพราะมีผู้สูงอายุจำนวนมากเสียชีวิตจากการที่ไม่สามารถควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโรคภายในบ้านพักคนชรา และข้อจำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่จะใช้ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาที่เกิดจากการแบ่งหน้าที่การดูแลด้านสาธารณสุขระหว่างองค์การบริหารส่วนภูมิภาค เทศบาล และรัฐบาลกลาง ที่ทำให้การดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำได้ไม่ดีพอ

๐ระบบสวัสดิการสังคมที่ยังต้องพัฒนาต่อไป

ระบบรัฐสวัสดิการของสวีเดนเป็นระบบที่ตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการให้คนในสังคมได้รับโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีการเรียนรู้ ทดลอง และแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ซึ่งนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่รัฐบาลเน้นปรับปรุงในห้วงที่ผ่านมา หรือในช่วงปี 2557-2563 ได้แก่ 1. การบริหารจัดการระบบ เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมในภาพรวมให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น 2. การศึกษา เพื่อส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษาที่เท่าเทียมในทุกพื้นที่ 3. การแพทย์ ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการเข้าถึง 4. การดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมมาตรฐานและลดปัญหาการอยู่อย่างโดดเดี่ยว 5. การดูแล/ช่วยเหลือเด็กและเยาวชน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชน

ล่าสุด ในการอภิปรายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีสวีเดนยอมรับว่าระบบรัฐสวัสดิการของสวีเดนจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในด้านการดูแลผู้สูงอายุและสาธารณสุข

การจะสร้างระบบรัฐสวัสดิการและทำให้ระบบคงอยู่ได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ เช่น จำนวนประชากรในประเทศและรายได้ที่จะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีที่เพียงพอต่อการนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณสำหรับรัฐสวัสดิการ ซึ่งประเทศไทยมีประชากรมากกว่าสวีเดนถึง 7 เท่า การมีวินัยทางการเงินการคลัง รวมทั้งต้องมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดโครงสร้างสวัสดิการต่างๆ จำนวนประชากรและรายได้ ซึ่งสำหรับสวีเดน ประชาชนยอมจ่ายภาษีในอัตราที่สูงเพราะระบบการใช้งบประมาณมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบาย การดำเนินงาน และการติดตามผลการดำเนินงานที่ดี ทำให้ผู้เสียภาษีรู้สึกคุ้มค่าที่ต้องจ่ายภาษีในแต่ละเดือน และวางใจได้ว่าเงินภาษีของตนจะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นก่อนการถกเถียงว่าประเทศไทยควรเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่ อาจต้องเริ่มจากว่าเราต้องปรับปรุงระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างไร ระบบการจัดเก็บข้อมูลของเรามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารเงินภาษีของตนแค่ไหน และเราพร้อมจ่ายภาษีจำนวนมากเพื่อสังคมโดยรวมแล้วหรือไม่ และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image