นานาชาติกดดันหนัก อังกฤษ-แคนาดาคว่ำบาตร – เหยื่อกระสุน จนท.เมียนมาตายแล้ว

ผู้ประท้วงถือป้ายภาพนางสาวเมียะ ทเว ทเว ข่าย ที่เสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ยิง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ (เอเอฟพี)

นานาชาติกดดันหนัก อังกฤษ-แคนาดาคว่ำบาตร – เหยื่อกระสุน จนท.เมียนมาตายแล้ว

กลุ่มผู้ชุมนุมนำภาพของน.ส.เมียะ ทเว ทเว ข่าย ผู้เข้าร่วมประท้วงที่ถูกกระสุนปริศนายิงเข้าที่ศีรษะในระหว่างการชุมนุมที่กรุงเนปยีดอ ซึ่งได้เสียชีวิตลงแล้วในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ นำมาตั้งเพื่อแสดงการไว้อาลัยในนครย่างกุ้ง (รอยเตอร์)

แรงกดดันจากประชาคมโลกถาโถมเข้าใส่ผู้ปกครองทหารเมียนมามากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยังคงออกมาชุมนุมต่อต้านการก่อรัฐประหารต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยในคืนก่อนหน้าอังกฤษ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมเมียนมา และแคนาดาต่างประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อกองทัพเมียนมา โดยอังกฤษประกาศยึดทรัพย์และห้ามการเดินทางต่อนายพลเมียนมา 3 นาย โทษฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจากการมีบทบาทในกองกำลังรักษาความมั่นคงของกองทัพเมียนมา นอกจากนี้ อังกฤษยังกำลังพิจารณาที่จะยุติการทำงานร่วมกับกองทัพเมียนมาในด้านต่างๆ อีกด้วย

กลุ่มผู้ประท้วงชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจี ที่นครย่างกุ้ง (รอยเตอร์)

ส่วนแคนาดาประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมารวม 9 นาย และกล่าวหาผู้ปกครองทหารว่ารณรงค์การปราบปรามอย่างเป็นระบบโดยใช้มาตรการทางกฎหมายที่ขู่เข็ญและการใช้กำลัง
“แคนาดายืนหยัดกับประชาชนชาวเมียนมาผู้แสวงหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” นายมาร์ค การ์โน รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดากล่าว

มาตรการตอบโต้ของทั้งสองชาติมีขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศแซงก์ชั่นคณะผู้นำทหารเมียนมาไปแล้ว ด้วยการสกัดการเข้าถึงเงินกองทุนของเหล่านายพลเมียนมาที่มีอยู่ในสหรัฐราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รอยเตอร์

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่มประเทศที่เรียกว่า “ควอด” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐ และออสเตรเลีย ในการงัดข้อกับจีนในภูมิภาคเอเชีย ยังได้บรรลุความเห็นพ้องกันที่จะต้องนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็วและคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อความพยายามใดๆ แต่เพียงฝ่ายเดียวในการที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในเมียนมาโดยใช้กำลัง จากการเปิดเผยของนายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น หลังมีการหารือผ่านระบบประชุมทางไกลกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ อินเดีย และออสเตรเลีย เมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 กุมภาพันธ์

Advertisement

กลุ่มผู้ประท้วงและกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างยินดีต่อมาตรการตอบโต้ของนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา แต่นักเคลื่อนไหวบางรายต้องการให้มีมาตรการลงโทษมากกว่าต่อธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในมือของผู้ปกครองทหาร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้าอัญมณี เบียร์ และด้านการเงิน

รอยเตอร์

การชุมนุมประท้วงยังเกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ท่ามกลางข่าวร้ายว่า น.ส.เมียะ ทเว ทเว ข่าย อายุ 20 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงเข้าที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะร่วมชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพที่กรุงเนปยีดอและต้องใช้เครื่องช่วยชีวิตอยู่ในห้องไอซียูมาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์นั้น ได้เสียชีวิตลงแล้ว จากการเปิดเผยของแพทย์ซึ่งระบุด้วยว่าจะทำการชันสูตรศพของเธอต่อไป การเสียชีวิตของผู้ประท้วงเป็นรายแรกนี้จะยิ่งกระพือความโกรธเกรี้ยวต่อต้านกองทัพให้กับกลุ่มผู้ประท้วงมากยิ่งขึ้น

ที่ย่างกุ้ง ผู้ประท้วงหลายหมื่นคน รวมถึงพนักงานรถไฟและครูในชุดเครื่องแบบที่พากันหยุดงานประท้วง ได้รวมตัวชุมนุมกันเรียกร้องประชาธิปไตยและให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี โดยตำรวจได้ปิดล้อมพื้นที่บริเวณเจดีย์สุเลและตั้งเครื่องกีดขวางบนถนนทอดสู่สี่แยกซึ่งเป็นจุดชุมนุมใหญ่ ทว่ากลุ่มผู้ประท้วงก็ยังปักหลักรวมตัวกันอยู่ในบริเวณนั้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมอีกหลายพันคนรวมตัวกันอยู่อีกจุดหนึ่งใกล้กับมหาวิทยาลัยในย่างกุ้งด้วย

Advertisement

ขณะที่วิดีโอที่มีการโพสต์ในโลกออนไลน์เผยให้เห็นเหตุการณ์ที่เมืองมิตจีนา ในรัฐกะฉิ่น กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งถูกตำรวจและทหารใช้กระบองไล่ตีให้สลายการชุมนุม

ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของเมียนมาเผยว่า นับจากเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้มีผู้ที่ถูกทางการจับกุมตัวไปแล้ว 521 คน ซึ่งรวมถึงนางซูจี และประธานาธิบดีวิน มิน ตลอดจนแกนนำพรรคเอ็นแอลดีและนักเคลื่อนไหว (เอเอฟพี/รอยเตอร์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image