การเชื่อมต่อความเชื่อมโยง สอดประสานผ่านการเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตร

การเชื่อมต่อความเชื่อมโยง
สอดประสานผ่านการเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตร

เมื่อไม่นานมานี้ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดสัมมนาผ่านการประชุมทางไกลภายใต้หัวข้อ “Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership” หรือ “การเชื่อมต่อความเชื่อมโยง : ประสานกำลังผ่านการเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตร” เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์นำไปพูดคุยต่อยอดในที่ประชุมที่เกี่ยวข้องของอาเซียน อาทิ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน และรายงานต่อที่่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อไป

๐การเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Connectivit)y และแนวคิดการเชื่อมต่อความเชื่อมโยง (Connecting the Connectivities)

การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน หรือ “ASEAN Connectivity” เป็นประเด็นสำคัญที่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทย ร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบด้านการขนส่ง และการไปมาหาสู่ในระดับประชาชน โดยปัจจุบัน อาเซียนมีแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) ค.ศ. 2016-2025 หรือ MPAC 2025 เป็นกลไกและกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว

การขับเคลื่อนการเชื่อมโยงเป็นงานชิ้นใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งงบประมาณ เทคโนโลยี และการประสานงานที่ใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ “ความร่วมมือ” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงได้สำเร็จ และไม่ใช่ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีภายนอกทั้งในและนอกภูมิภาคที่จะมาร่วมลงทุนถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมทั้งให้อาเซียนสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่างๆ ในโลกได้อย่างทั่วถึงและไร้รอยต่อ

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงได้เสนอแนวคิดการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่างๆ ในภูมิภาค หรือ “Connecting the Connectivities” ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการประชุม BRICS Summit หรือการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ครั้งที่ 9 ที่ประเทศจีน เมื่อเดือนกันยายน 2560 ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวเน้นเรื่องการสร้างความสอดประสาน (synergy) ระหว่างการดำเนินการด้านความเชื่อมโยงของอาเซียนกับการดำเนินการของประเทศและกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน Quality Infrastructure ของญี่ปุ่น หรือ Build Act ของสหรัฐ

ในช่วงปี 2562 ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้ผลักดันแนวคิด “Connecting the Connectivities” อย่างเต็มที่ โดยอาเซียนได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของผู้นำกับประเทศคู่เจรจาจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน+3 นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้ร่วมกับธนาคารโลก จัดทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของอาเซียนกับข้อริเริ่มอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในหัวข้อ “Connecting the Connectivities: ASEAN and the Regions” ด้วย

Advertisement

การสัมมนา “Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership” เป็นการต่อยอดจากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยกรมอาเซียน ได้ร่วมกับธนาคารโลก และสำนักเลขาธิการอาเซียน จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership” ผ่านระบบการประชุมทางไกล มี นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานสัมมนา ร่วมกับ นาย Kung Phoak รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และ นาย Ranjit Lamech ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก) ธนาคารโลก โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาจากภาครัฐ ภาคเอกชน และวิชาการ ทั้งภายในและภายนอกอาเซียน

ชุตินทร คงศักดิ์

การสัมมนามีขึ้นภายใต้ 3 หัวข้อที่เป็นประเด็นสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้แก่ 1.ความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน 2.การเชื่อมโยงสีเขียวและด้านดิจิทัล และ 3.การเชื่อมโยงอัจฉริยะและยั่งยืน เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมการสอดประสานกันระหว่าง MPAC 2025 กับยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่างๆ ในภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “Connecting the Connectivities” และเพื่อติดตามพลวัตและทิศทางของห่วงโซ่อุปทานโลก และแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เป็นเวทีในการหารือเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม และแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมความเชื่อมโยงนอกอาเซียน

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเสนอแนวทางซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมโลจิสติกส์ไร้รอยต่อ และการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP การพัฒนาด้านดิจิทัล ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Trade Platform) และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางเอสดีจี โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน รวมทั้งการปรับใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ในการดำเนินงานเรื่องความเชื่อมโยงด้วย

รองเลขาธิการอาเซียนเสนอแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมโยงและการสอดประสานระหว่างข้อริเริ่มความเชื่อมโยงต่างๆ ภายในภูมิภาค ได้แก่ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรเฉพาะสาขาในอาเซียน กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค และประเทศคู่เจรจา การเน้นการปฏิบัติได้จริง โดยใช้บทเรียนจากโครงการต่าง ๆ การส่งเสริมการทำงานอย่างสอดประสาน และการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างอาเซียนและภาคีภายนอกภูมิภาค
ขณะที่ผู้แทนธนาคารโลก ย้ำความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค 2.การเชื่อมโยงด้านดิจิทัล และ3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

๐ข้อเสนอแนะจากการเสวนา

ในประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งในภูมิภาค ผู้ร่วมอภิปรายเห็นว่าอาเซียนมีโอกาสที่จะฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ หากร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพื่อให้สามารถเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ ข้อเสนอที่สำคัญ ได้แก่ 1.การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้าดิจิทัล โดยพัฒนาจากกลไก/เครื่องมือที่มีอยู่เดิม เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) และ Electronic World Trade Platform (EWTP) 2.การส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multi-modal transport) เพื่อให้มีการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง และ 3.การสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน

ส่วนประเด็นการเชื่อมโยงสีเขียวและด้านดิจิทัล ผู้ร่วมอภิปรายย้ำถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวช่วยเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation) และการขยายตัวของการค้าดิจิทัล ข้อเสนอที่สำคัญ ได้แก่ 1.การใช้ประโยชน์จากโอกาสจากการค้าดิจิทัลและการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย 2.การพัฒนากฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับศักยภาพด้านดิจิทัล และ3.การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในการพัฒนาด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว

สำหรับข้อเสนอของไทยเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลในอาเซียน (ASEAN Digital Trade Platform) นั้น เป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ และมีบทบาทในการผลักดันในกรอบอาเซียน ผ่านกลไกของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) โดยเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติ ระเบียบกฏเกณฑ์ และมาตรฐานของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในการทำธุรกรรมทางการค้าในภูมิภาคให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความสามารถให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุนได้

ในเรื่องการเชื่อมโยงอัจฉริยะและยั่งยืน ผู้ร่วมอภิปรายเน้นแนวทางความร่วมมือที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ข้อเสนอที่สำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้ในภูมิภาค เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและการเดินทางในภูมิภาค 2.การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงด้านดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และการคมนาคมภายในเมือง 3.การมุ่งเน้นความร่วมมือที่ปฏิบัติได้จริงและเป็นโครงการใหม่ สามารถตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ๆ อาทิ การพัฒนา Start-up และ SMEs การสนับสนุนสตรีและเยาวชน และการบริหาร/ปกป้องข้อมูลดิจิทัล และ 4. การส่งเสริมให้มีการหารือเชิงนโยบายระหว่างอาเซียนกับกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ เพื่อความยั่งยืนและความเชื่อมโยงอัจฉริยะในภูมิภาค

การสัมมนาครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับอาเซียนและภาคีทั้งในและนอกภูมิภาคของอาเซียน เพราะมีเพียงความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้นที่จะทำให้ทุกประเทศสามารถทำให้เกิดความเชื่อมโยงรอบด้านแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะเป็นช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาตามที่ตั้งใจไว้ได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image