คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “Gen Z” กับเดิมพันแห่งอนาคตที่เมียนมา

รอยเตอร์

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “Gen Z” กับเดิมพันแห่งอนาคตที่เมียนมา

ใครที่อายุมากพอที่จะผ่านห้วงเวลาของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา มาตั้งแต่เมื่อครั้ง พลเอก เน วิน ยึดอำนาจของทั้งประเทศไว้ในกำมือกองทัพเมื่อปี 1962 เรื่อยมาจนถึงการปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และประชาชนอย่างอำมหิตเมื่อปี 1988 ตลอดจนการลุกฮือครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อปี 2007

ที่ถูกเรียกขานกันในเวลานี้ว่า “แซฟฟรอนเรฟโวลูชั่น” ที่นำโดยขบวนการสงฆ์เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา

จะพบว่าเป้าหมายและข้อเรียกร้องของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาเหล่านั้น ล้วนยังคงเดิม เป็นข้อเรียกร้องเหมือนกันกับที่เกิดขึ้นเมื่อ มิน อ่อง ลาย พลเอกอาวุโส ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ยึดอำนาจเงียบอีกครั้งเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่รูปแบบของการต่อสู้กลับเปลี่ยนไป แตกต่างจากแบบฉบับของนักเคลื่อนไหวในเจเนอเรชั่นก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง

Advertisement

นั่นเนื่องเพราะหัวขบวนและองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเมียนมาในยามนี้ คือบรรดา “เจน ซี” (เจเนอเรชั่น ซี ถ้าออกเสียงตามแบบอเมริกัน อังกฤษใช้ เจน แซด) ที่แทบจะกำสมาร์ทโฟนออกมาจากท้องพ่อท้องแม่

เป็นเจน ซี ที่ยึดถือโลกออนไลน์เป็นบ้านแห่งที่สอง เป็นที่หลบภัยใหม่ เป็นแหล่งทำมาหากินใหม่ ที่ผู้คนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยคุ้นมากเท่านี้มาก่อน

เป็นคนรุ่นใหม่ ในวัยตั้งแต่ทีนเอจ เรื่อยไปจนถึง 20-25 ปี ที่ไม่เพียงแค่มีอุดมการณ์ อุดมคติงดงามอยู่ในความคิดเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงและชาญฉลาดพอที่จะตระหนักว่า ต้องทำอย่างไรถึงสามารถก้าวตามความใฝ่ฝันของตนได้ทัน

พวกเขาเรียนรู้สิ่งใหม่จากอินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา และอาจหาญมากพอที่จะเลือกหยิบเลือกใช้ประสบการณ์ออนไลน์ของตนเอง ปรับใหม่ให้เหมาะกับสภาพที่แวดล้อมอยู่รอบตัว

พวกเขาแตกต่างจากขบวนการที่เคยลุกฮือขึ้นมาเมื่อปี 88 และ 07 เปี่ยมด้วยพลัง มีชีวิตชีวา สนุกสนาน เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ชนิดที่สามารถทำให้ผู้ใหญ่หลายคนอ้าปากค้างได้เลยทีเดียว

กระนั้น ความจริงจัง มุ่งมั่นกับการต่อสู้ในครั้งนี้ก็ล้นเหลือไม่ต่างจากผู้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ไม่ยอมรับ ไม่เข้าร่วม ไม่เอาด้วยไม่ว่าในกรณีใดๆ กับเผด็จการทหาร

ขอรับเพียงประชาธิปไตยกลับคืนมาเท่านั้น!

วันที่ มิน อ่อง ลาย ยึดอำนาจ กองทัพเมียนมาจัดการตัดการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ ปิดการทำงานของระบบโทรศัพท์ และสกัดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน

ต่อมาแม้จะมีการรื้อฟื้นระบบโทรศัพท์ เปิดให้โทรทัศน์ช่องเพื่อการบันเทิงออกอากาศ แต่สถานีข่าว โดยเฉพาะช่องข่าวจากต่างประเทศ ยังคง “จอดำ” และเปิดให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้อีกครั้ง เพียงปิดกั้นการเข้าถึง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม เพื่อป้องกันการระดมมวลชนให้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

แต่กลยุทธ์ของกองทัพแบบนี้ใช้ได้ผลเพียงไม่กี่วัน การชุมนุมและการนัดหยุดงานเป็นการประท้วงก็เริ่มขยายตัว มีผู้เข้าร่วมมากขึ้นลุกลามออกไปจากนครย่างกุ้ง ที่มีผู้คนเข้าร่วมเป็นเรือนแสน ลามสู่เมืองใหญ่ทั้งหลาย และหัวเมืองย่อย อีกไม่น้อยกว่า 300 เมืองทั่วเมียนมา เมื่อหลายคนหันมาหลีกเลี่ยงการปิดกั้นของทหาร ด้วยการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในทุกที่ที่ต้องการ ผ่าน “เครือข่ายเสมือนส่วนบุคคล” (เวอร์ฌวล ไพรเวต เน็ตเวิร์ก-วีพีเอ็น) เดือดร้อนถึงกองทัพต้องตัดอินเตอร์เน็ตอีกครั้ง เป็นช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมา

นั่นคืออิทธิฤทธิ์ของ “เจน ซี” ที่อยู่ในวัยทีนและยี่สิบเศษๆ เหล่านี้

เจน ซี เปลี่ยนโฉมการชุมนุมประท้วง ให้กลายเป็น “เทศกาลบันเทิงย่อมๆ” ในสายตาของ มอน มอน เมียะ ผู้สื่อข่าวอาวุโสชาวเมียนมา ที่เคยเป็นหนึ่งในขบวนการปฏิวัติสงฆ์ มาก่อนหน้านี้

เจน ซี คือขบวนผู้คนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ออกมาบนท้องถนนในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ และเริ่มแปรสภาพเป็นขบวนการมวลชนมหึมาที่เชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วประเทศ

วัยรุ่นมากมายเหล่านี้ ปรากฏตัวในท่ามกลางมวลชนแบบที่สะท้อนชัดเจนถึงอัตลักษณ์ที่ตนชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความเป็น “ติ่ง” ของเคป๊อป หรือเคซีรีส์, ในคราบของ วีบส์ (ผู้ที่อุทิศตนให้กับป๊อปคัลเจอร์ จากญี่ปุ่น), เกมเมอร์, แอนิเมะ, แฟนบอล (สโมสรดังในอังกฤษ) เรื่อยไปจนถึง “ฮีโร่” สารพัดจากเครือ “มาร์เวล”

เราจึงไม่เพียงได้เห็น “ไอ้แมงมุม” มากมายเข้าร่วมประท้วงในเมียนมาเท่านั้น แต่ยังมีหนุ่มเหน้าสาวสวยในชุดเสื้อผ้างดงามหลากสีหลายสไตล์ กลุ่มฟิตเนส เทรนเนอร์ เปลือยอกอวดกล้ามเข้ามาสนุกสนานกับเขาด้วย

พวกเขาสรรหาถ้อยคำสารพัดมาใช้ เสียดสี ถากถาง เยาะเย้ยประดานายพลผู้กุมอำนาจ ชนิดที่ทั้งก่อความรู้สึกเจ็บๆ คันๆ เรื่อยไปจนถึงแสดงอาการกราดเกรี้ยวออกมาโดยตรง เด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง

แต่ที่สะท้อนความเป็นเจน ซี อย่างชัดเจนในเมียนมาก็คือ การหยิบยืมเอารูปแบบการประท้วงในละตินอเมริกา อย่าง การเคาะหม้อ เคาะกระทะ ฯลฯ มาใช้จนฮือฮา คว้าสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วจากขบวนการต่อสู้ในเมืองไทย ที่ได้จาก “ฮังเกอร์เกมส์” ไปประยุกต์ใช้และให้นิยามเสียใหม่จนสอดคล้องกับสิ่งที่พวกตนกำลังเรียกร้องในเมียนมา

และการบอกอย่างอหังการต่อนายทหารเมียนมาทั้งหลายว่า กำลังล้อเล่นกับคนเมียนมาผิดเจเนอเรชั่นเสียแล้ว!

เออัน ฮทู อ่อง อายุเพิ่ง 15 ปี เมื่อตอนที่เขาก้าวขึ้นเวทีชุมนุมประท้วงในย่างกุ้งเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อร้องเพลงปฏิวัติยอดนิยมของเมียนมา “อะ เยย์ จี ปยี”

แต่ไม่ใช่วัยหรือเสียงร้องของเออัน ที่เรียกความสนใจจากผู้คนล้นหลามได้สำเร็จ หากแต่เป็น “กระโปรงมินิสเกิร์ต” กับเสื้อ “ครอสส์ท็อป” ต่างหาก

เออันบอกเหตุผลของการแต่งตัวประหลาดพิกลของตนเองไว้ว่า เพื่อเรียกความสนใจจากนานาชาติให้ได้รับรู้ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นในเมียนมา เผื่อว่าเมียนมาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างหนึ่งอย่างใดจากประชาคมระหว่างประเทศได้บ้างในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร

ครั้งนี้

“มันน่าโมโหนะ ยึดอำนาจ แถมยังจับอะเม ซู (ป้าซู)ที่ดีกับประเทศนี้ไป” เขาบอก ก่อนยอมรับว่า ถ้าไม่ได้มาที่นี่ ตนก็คงเล่มเกมมือถือ หรือไม่อย่างดีก็เข้าชั้นเรียนออนไลน์ เพราะโควิด-19

แต่ไม่มาก็ไม่ได้ เพราะทหารทำความยากลำบากให้กับเมียนมามามากพอแล้ว

เออันกับคอรา และกลุ่มเพื่อนปีสองของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ยืนกรานว่าพวกตนไม่มีวันกลับเข้าเรียนอีกครั้งจนกว่าจะได้รัฐบาลพลเรือนที่ถูกต้องกลับคืนมา แม้กองทัพเตรียมประกาศเปิดเรียนในอีกไม่ช้าไม่นานก็ตาม

เอาวันเก่าๆ ของพวกเราคืนมา พวกเขาบอกอย่างนั้น

“เบลลา” อายุ 20 ปี เข้าร่วมการประท้วงบนถนนที่ชุมทางฮเลดาน ในนครย่างกุ้งติดต่อกันมา 4 วันแล้ว เธอมากับ อะนิเทีย และ คอรา เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยอีก 2 คน เดินขบวนจากย่านดาวน์ทาวน์ สู่มหาเจดีย์สุเล และชุมทางฮเลดาน ก่อนที่ทั้งหมดจะร่วมกัน “นั่งประท้วง” บนพื้นถนนเจดีย์กะบาอะเย

เธอให้เหตุผลของการร่วมชุมนุมในครั้งนี้ว่า ทุกคนรู้ดีว่าอะไรผิดอะไรถูก ทุกคนเบื่อหน่ายและเครียดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากล้มตัวลงนอนแล้วต้องผวาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้างหรือไม่ในวันพรุ่ง

“เราเซ็งเต็มทีกับการใช้อำนาจเผด็จการ ชนิดที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่โทรศัพท์จะถูกตัดขาดอีก อินเตอร์เน็ตจะใช้งานไม่ได้ขึ้นมาอีก ต้องมากังวลอยู่ตลอดเวลาว่า พรุ่งนี้ จะมีใครถูกจับอีกไหม”

อะนิเทียยอมรับเช่นกันว่า ชีวิตประจำวันของเธอ

ไม่เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ เสรีภาพและสิทธิทั้งหลายที่หายไปฉับพลันในวันนั้น ผลักดันให้หนุ่มสาวอย่างพวกเธอออกมาใช้ชีวิตตามท้องถนน ยามค่ำคืนเคาะหม้อ กระทะ ร้องรำทำเพลงกันทุกคืน ต่อเนื่องกันมานานร่วมสัปดาห์แล้ว

“พ่อแม่ของพวกเราทนทุกข์กับเผด็จการทำนองนี้มามากพอแล้ว แต่เราไม่ยอม

เราไม่ยอมให้พวกนั้นมาทำลายอนาคตของเราไปอีกรุ่นแน่ๆ”

เช่นเดียวกับ เต็ง เมียะ แช นักศึกษาปี 3 วัย 20 ปี ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา แน่นอน เธอลงคะแนนเลือกเอ็นแอลดี พรรคของ “ป้าซู” และโกรธมากที่เห็นคะแนนเสียงของตัวเองถูกทำลายไปอย่างไม่เป็นธรรม

“เรารับไม่ได้กับการรัฐประหาร ทุกคนไปลงคะแนนอย่างเป็นประชาธิปไตย มีเหตุผลอะไรถึงทำกับทุกคนอย่างไร้ความชอบธรรมอย่างนี้”

ยูมิ ซาน นักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษวัย 17 เป็นอีกคนที่ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงที่ชุมทางฮเลดานมาต่อเนื่อง 4 วันติดต่อกัน

“ประท้วงทำไมน่ะเหรอ เพราะเรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรกับเผด็จการทหารพวกนี้ ไม่ได้นั่นแหละ ทั้งประเทศ ไม่มีใครเห็นด้วยกับรัฐประหารหนนี้

“รุ่นแม่ของเรา แพ้ให้กับ อู ตาน ฉ่วย (อดีตผู้นำเผด็จการทหาร) แม่ของแม่ สูญเสียใหญ่หลวงให้กับ อู เน วิน

“ตอนนี้ถึงคราวพวกเราแล้ว ที่จะต้องเอาชนะมิน อ่อง ลาย ให้ได้

ไม่อย่างนั้น เรา-รวมทั้งเจเนอเรชั่นอีกหลายเจเนอเรชั่นที่จะตามมา ก็จะสูญเสียอนาคตของตัวเองไปด้วย”

เจน ซี ในเมียนมา อาจไม่ได้ชื่นชอบและชื่นชมต่อ ออง ซาน ซูจี มากมายนัก กระนั้น “ป้าซู” ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เท่าที่พวกเขามีอยู่ เพื่อปูทางให้กับอนาคตของตนเองและลูกหลานในวันข้างหน้า

ไม่ใช่เผด็จการทหารภายใต้มิน อ่อง ลาย เด็ดขาด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image