10 ปีสึนามิญี่ปุ่น วันนี้ยังไม่มีใครรับสาย

10 ปีสึนามิญี่ปุ่น วันนี้ยังไม่มีใครรับสาย

ในวาระครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้บอกเล่าเรื่องราวของชาวญี่ปุ่น ที่สูญเสียคนรักไปจากเหตุการณ์สึนามิ โดยได้บอกความในใจถึงคนรักที่จากไปผ่านทางโทรศัพท์ที่ไม่ได้ต่อสายไว้ เพราะพวกเขาใช้ใจบอกผ่านไปทางสายลม

คาเซะโนะเด็นวะ (the phone of the wind) ตู้โทรศัพท์สำหรับผู้ที่อยากโทรหาคนรักที่จากไป ตั้งอยู่ที่สวนเบลล์ การ์เดีย คุจิระยามะ เมืองโอสึชิ จังหวัดอิวาเตะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (รอยเตอร์)

ที่สวนแห่งหนึ่งบนเนินเขา ใต้กิ่งต้นซากุระ มีตู้โทรศัพท์สีขาวตั้งโดดเด่นท่ามกลางแสงแดดในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ภายในตู้โทรศัพท์มีนายคาสึโยชิ ซาซากิ วัย 67 ปี ที่กำลังต่อสายถึงมิวาโกะ ภรรยาที่จากไป

ซาซากิเล่าถึงโศกนาฏกรรมครั้งนั้นว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เขาตามหาภรรยาอยู่หลายวัน ไปหาทั้งที่ศูนย์อพยพ ที่เต็นท์เก็บศพชั่วคราวและที่ซากบ้านของพวกเขา

นายคาสึโยชิ ซาซากิ วัย 67 ปีที่กำลังต่อสายถึงมิวาโกะ ภรรยาที่จากไป

“ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก ผมยังจำได้ไม่ลืมเลยจนถึงทุกวันนี้ ผมส่งข้อความหาคุณเพื่อบอกว่าผมอยู่ที่ไหน แต่คุณไม่ได้เปิดอ่าน พอผมกลับมาถึงบ้านและมองขึ้นบนฟ้า ผมเห็นดาวหลายพันดวง เหมือนกำลังดูกล่องอัญมณีเลย ผมร้องไห้แล้วก็ร้องไห้อีกและผมรู้ว่ามีคนมากมายที่ต้องตาย”

Advertisement
นายคาสึโยชิ ซาซากิ หลังจากออกมาจากตู้โทรศัพท์แห่งสายลม (รอยเตอร์)

นอกจากภรรยา ซาซากิยังสูญเสียญาติพี่น้องและเพื่อนมากมายไปจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20,000 คน

ซาชิโกะ โอคาวะ วัย 76 ปี โทรหาโทอิชิโระ สามีผู้ล่วงลับที่แต่งงานด้วยกันมา 44 ปี (รอยเตอร์)

เช้าวันหนึ่งซาชิโกะ โอคาวะ วัย 76 ปี โทรหาโทอิชิโระ สามีที่จากไป เธอถามเขาว่าแต่ละวันของเขาเป็นอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ที่สึนามิได้กลืนหายไปเมื่อ 10 ปีก่อน

“ฉันเหงา” เธอพูดด้วยเสียงที่สั่นครือ และขอให้โทอิชิโระคุ้มครองครอบครัวของเราด้วย “ลาก่อนนะ แล้วจะกลับมาหาใหม่เร็วๆนี้” โอคาวะบอกว่า บางครั้งเธอรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงโทอิชิโระที่ปลายสาย และตู้โทรศัพท์ช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้นบ้าง

Advertisement

โอคาวะรู้เรื่องตู้โทรศัพท์บนเนินเขาจากเพื่อน และเธอได้พาหลายชายทั้งสองมาที่นี่เพื่อที่ทั้งคู่จะได้พูดคุยกับคุณปู่

ซาชิโกะ โอคาวะ และหลายชาย เรโอะกับไดนะ (รอยเตอร์)

“คุณปู่ ผ่านมา 10 ปีแล้วนะ ผมกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมแล้ว” ไดนะ หลานชายอายุ 12 ปีบอก “ตอนนี้มีไวรัสใหม่ที่ทำให้คนตายมากมายด้วยนะ และนี่คือสาเหตุที่พวกเราทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย พวกเราปฏิบัติตามอย่างดี”

หญิงจากเมืองโอฟุนาโตะ ที่สูญเสียเพื่อนร่วมห้องสมัยเรียนมัธยมต้นในเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 (รอยเตอร์)

ตู้โทรศัพท์สายลม สร้างโดยนายอิตารุ ซาซากิ วัย 76 ปี เจ้าของสวนสวยในโอสึชิ ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 500 กิโลเมตร ไม่กี่เดือนก่อนเหตุโศกนาฏกรรม เขาเพิ่งสูญเสียลูกพี่ลูกน้องจากโรคมะเร็งไป

นายอิตารุ ซาซากิ ผู้สร้างตู้โทรศัพท์คาเซะโนะเด็นวะ (รอยเตอร์)

“มีผู้คนมากมายที่ไม่มีโอกาสได้บอกลา มีหลายครอบครัวที่หวังว่าจะได้พูดอะไรสักหน่อย แม้จะรู้อยู่แล้วว่าพวกเขาไม่มีโอกาสได้คุยกันอีกแล้วก็ตาม”

ตู้โทรศัพท์แห่งนี้มีผู้คนจากทั่วประเทศแวะเวียนมาหาหลายพันคน ตู้โทรศัพท์นี้ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้รอดชีวิตจากสึนามิอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีไว้สำหรับผู้ที่สูญเสียคนรักจากโรคร้ายหรือการฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน

เรื่องราวของตู้โทรศัพท์แห่งนี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน (The phone of the wind) และเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซาซากิเล่าว่ามีผู้มาติดต่อขอตั้งตู้โทรศัพท์ในแบบเดียวกันที่อังกฤษและโปแลนด์เพื่อให้ผู้คนโทรหาญาติที่จากไปด้วยโควิด-19 ได้

ข้อความในสมุดโน๊ตของผู้มาเยือนตู้โทรศัพท์ เขียนไว้ว่า “แล้วเจอกันสักวันหนึ่งนะ จนกว่าจะถึงตอนนั้นก็ขอให้สบายดีนะ แล้วไว้คุยเรื่องเก่าๆตอนไปดื่มกันนะ ทุกคนที่นี่สบายดีเหมือนกัน แล้วไว้ไปคุยเรื่องสนุกๆกันนะ” (รอยเตอร์)
สมุดโน้ตของผู้มาเยือนตู้โทรศัพท์มีข้อความว่า “ฉันมาที่สวนซาซากิครั้งแรกเมื่อ 15 ปีก่อน เธออาจจะจำมันไม่ได้ ฉันพาเด็กเล็กๆมาด้วย ฉันได้ยินเรื่องคอนเซปของสวนแห่งนี้และเหล่ากุหลาบมามาก ฉันตั้งตารอที่จะได้เห็นสวนแห่งนี้ว่าเปลี่ยนไปมากแค่ไหนนับจากช่วงเวลานั้น ฉันไม่ได้มาเลยตั้งแต่เกิดภัยพิบัติ แต่ฉันก็นึกถึงมันอีกครั้งในวันนี้ และฉันพาลูกชายอายุ 20 ปีมาด้วยนะ ฉันจะมาหาใหม่เมื่อดอกไม้และต้นไม้ในสวนงอกงาม” (รอยเตอร์)
ป้ายบทกลอนในตู้โทรศัพท์ความว่า “ไม่ว่าคุณจะโทรหาใครที่ตู้โทรศัพท์แห่งสายลม คุณจะได้คุยกับเขาจากใจคุณ ถ้าคุณได้ยินเสียงลมให้บอกความรู้สึกของคุณกับเขา และความคิดของคุณจะไปถึงเขาแน่นอน” (รอยเตอร์)
โทรศัพท์ที่ไม่จำเป็นต้องต่อสาย (รอยเตอร์)
ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สึนามิญี่ปุ่น โศกนาฏกรรมที่ยากจะลบเลือน ที่เมืองอิชินิมากิ จังหวัดมิยากิ ทางเหนือของญี่ปุ่น (รอยเตอร์)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image