เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา ตามรอยDNAการทูตไทย

เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา
ตามรอยDNAการทูตไทย

“เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา” คือโครงการล่าสุดที่กองการทูตวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้พาคณะหลายสิบชีวิตเดินทางย้อนอดีตไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคที่ชาวต่างชาติมากมายเดินทางเข้ามา ทั้งเพื่อการค้าการขาย การเผยแพร่ศาสนา ไปจนถึงการแสวงหาโอกาสใหม่ให้ชีวิต จนปฏิเสธไม่ได้ว่า “อยุธยา” คือยุคสมัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของสังคมพหุวัฒนธรรมในสยามที่โดดเด่นงดงามยิ่ง

ในระหว่างปีพ.ศ.1893-2310 ที่อยุธยาเป็นราชธานีของสยาม อยุธยามีสถานะเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญในภูมิภาค เพราะเป็นเมืองท่านานาชาติที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำถึง 3 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี แต่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอ่าวไทยเท่าใดนัก เป็นศูนย์รวมสินค้าเกษตร สินแร่ และของป่าจากดินแดนที่อยู่ลึกเข้าไป สินค้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการของนานาชาติ ไม่เพียงเท่านั้นอยุธยายังมีสถานะดั่งพ่อค้าคนกลางในการรับซื้อและขายต่อสินค้าจากประเทศข้างเคียง เป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่จากทั่วสารทิศ ซึ่งช่วยสร้างความร่ำรวยและมั่นคงให้กับอยุธยามายาวนานกว่า 417 ปีอีกด้วย

หมู่บ้านญี่ปุ่น

ถึงแม้จะพูดถึง “เงาฝรั่ง” แต่การเดินทางไปอยุธยาในครานี้ รศ.ดร.ปรีดีได้เล่าย้อนให้เราได้ทราบถึงเงาของชาวต่างชาติมากมายที่ทอดลงบนแผ่นดินอยุธยา ตั้งแต่ชาวจีน หรือแขกเปอร์เซีย ที่น่าจะเข้ามาก่อนชนชาติใด และยังพาไปชมร่องรอยของหมู่บ้านชาวต่างชาติเพียง 3 แห่งที่ยังหลงเหลือให้ได้เห็นกัน คือหมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา ตามด้วยวัดนักบุญโยเซฟที่เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวฝรั่งเศส แต่ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงโบสถ์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ถือเป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในไทย

รศ.ดร.ปรีดีเล่าว่า อยุธยามีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ มาอย่างยาวนาน ประเทศในฝั่งตะวันออกด้วยกันอย่างจีน ญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา ในอดีตอาจเรียกชื่อไม่เหมือนกับปัจจุบัน อย่างเวียดนามที่ในสมัยนั้นเรียกว่าโคชินไชน่า อานนาม หรือตังเกี๋ย แต่แสดงให้เห็นว่าคนอยุธยารู้จักชนชาติที่อยู่รอบข้างเป็นอย่างดี หากพูดถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก โปรตุเกสคือชาติแรกที่เข้ามาในอยุธยาในปีพ.ศ.2054 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อย่างไรก็ดีชาวต่างชาติที่เข้ามาในอยุธยามีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และประเทศที่เข้ามาก็ไม่ได้มีเพียงวัตถุประสงค์เดียว

Advertisement
แผนที่ตั้งชุมชนต่างชาติในอยุธยา

หมู่บ้านต่างชาติและชุมชนต่างชาติต่างๆ จะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะอยุธยา และตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เรือต่างชาติแต่ละลำที่จะเข้ามาถึงอยุธยาจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้ามาขาย การที่กำหนดให้ต่างชาตินำเรือเข้ามาจอดในพื้นที่นี้ก็มีประเด็นสำคัญที่ซ่อนอยู่คือไม่เพียงแม่น้ำช่วงนี้จะมีความกว้าง แต่ยังเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะเรือที่ขึ้นมาจะมีอาวุธ หากแล่นขึ้นมาผ่านป้อมเพชร ก็จะเป็นอันตรายต่ออยุธยา พูดให้เข้าใจง่ายคือได้มีการจัดโซนนิ่งต่างชาติให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดและปลอดภัยสำหรับอยุธยานั่นเอง

อยุธยาให้เสรีภาพแก่ชาวต่างชาติที่เข้ามา ไม่ว่าจะเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือเสรีภาพในการดำรงชีวิต จึงกลายเป็นที่หมายสำคัญของชาวต่างชาติ อย่างชาวญี่ปุ่นที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ และถูกเนรเทศออกจากประเทศของตนเอง กระนั้นก็ดีแม้จะให้อิสระแก่ชาวต่างชาติ แต่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาก็ทรงสร้างสมดุลในการรับมือกับต่างชาติที่บางครั้งก็มาพร้อมกับข้อเรียกร้องที่ออกจะ “มากเกินไป” ด้วยวิธีนิ่งเฉย หรือหันไปให้ความสนใจกับประเทศอื่นแทน

หมู่บ้านโปรตุเกส

ขณะที่ชุมชนต่างชาติแต่ละแห่งจะมีหัวหน้าชุมชนที่จะมีโอกาสได้เข้ารับราชการและได้รับพระราชทานยศจากพระมหากษัตริย์อยุธยา ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยุธยา สร้างสัมพันธ์ร้อยรัดชาวต่างชาติให้รู้สึกว่าอยุธยาก็เป็นดั่งบ้านของพวกเขาเช่นกัน หากพูดถึงคนต่างชาติกลายมาเป็นขุนนาง เราคงคุ้นเคยกับชื่อของ ออกญาเสนาภิมุข หรือ ยามาดะ นางามาซะ ที่เป็นขุนนางชาวญี่ปุ่น หรือ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ คอนสเตนติน ฟอลคอน ซึ่งเป็นชาวกรีกที่ได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสุงสุดถึงสมุหนายกในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อมีคำถามว่ามุมมองของคนไทยต่อชาวต่างชาติในสมัยอยุธยากับสมัยรัตนโกสินทร์ต่างกันหรือไม่อย่างไร รศ.ดร.ปรีดีกล่าวว่า คนอยุธยามองว่าชาวต่างชาติเป็นมิตร ไม่ได้มีประสงค์ร้าย เพราะมักจะเข้ามาด้วยจุดประสงค์ไม่ชัดเจน ต่างกับยุครัตนโกสินทร์ที่ชาวต่างชาติที่เข้ามามีจุดประสงค์ที่ชัดเจนเกินไป ไม่ว่าจะเข้ามาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญา หรือเข้ามาใช้อำนาจข่มขู่ ทำให้คนสยามที่ไม่ชอบอะไรโจ่งแจ้งเกิดความกลัว แต่ไม่ว่าชาวต่างชาติจะเข้ามาอย่างไรในยุคใด พระมหากษัตริย์ไทยคือผู้ที่มองการไกลและสามารถรับมือได้ทั้งหมด

หมู่บ้านฮอลันดา

ด้าน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ร่วมเดินทางตามรอยเงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยาในครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า การเดินทางมาอยุธยาทำให้เราได้เห็นถึงรากเหง้าของการต่างประเทศไทย และรากเหง้าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนานาประเทศ ซึ่งทำให้เราเข้าใจถึงบทบาทของไทยในยุคนั้น ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการติดต่อค้าขาย และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกที่ยังคงปรากฎชัดมาถึงทุกวันนี้ ก็เพราะบูรพกษัตริย์ไทยได้ดำเนินพระบรมราโชบายกับต่างประเทศที่ทำให้เกิดผลในทางที่สร้างสรรค์ตามมา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทยมาจนถึงปัจจุบันและอนาคต

รองนายกฯดอนกล่าวด้วยว่า นโยบายการทูตแบบสมดุลเป็นดีเอ็นเอของไทยในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เราเป็นมิตรที่ดีกับคนทั้งโลกได้ เมื่อใดที่เราได้รับผลกระทบจากฝ่ายใดก็ตาม เราก็มีมิตรอีกกลุ่มที่จะช่วยเหลือดูแลความลำบากใจของเรา ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ขณะเดียวกันเรายังสะท้อนกลับด้วยการทำให้เป็นคุณกับประเทศอื่น ด้วยการพยายามเข้าไปสมาน 2 ส่วนที่อาจมีความขัดแย้งให้มันลดน้อยลง เพื่อให้เกิดความสงบสุขมากขึ้น ไร้ความขัดแย้งและความตึงเครียดอันจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

วัดนักบุญโยเซฟ ที่ตั้งชุมนุมฝรั่งเศส

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า การเรียนรู้อดีตทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน และทำให้เราทำงานเพื่ออนาคตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เอกลักษณ์ของคนไทยคือมีลักษณะที่เปิดกว้าง และเปิดรับประเทศอื่นๆ ที่มีความแตกต่างกับเรามากมาย เมื่อมองมาถึงปัจจุบัน ดีเอ็นเอของคนไทยก็ยังสะท้อนให้เห็นผ่านการดำเนินความสัมพันธ์กับโลกผ่านนโยบายทางการทูต ความสัมพันธ์ที่เรามีตั้งแต่อดีตสะท้อนมาถึงปัจจุบันและอนาคต

อธิบดีธานีกล่าวว่า เรายังเห็นถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัยที่ทำให้ประเทศของเราอยู่รอดมาได้ บางยุคที่เราถูกคุกคามโดยเฉพาะต้นรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้กุศโลบายที่ทำให้เรารอดมาได้ เราจึงเข้าใจว่าทำไมเราถึงมีปฏิกริยาในเรื่องนี้ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย แม้จะมีศึกมาประชิดแต่เราก็ยังมีกำลังใจ รักษาเอกราชของเรา เราเลือกใช้นโยบายอย่างไรเมื่อมีสิ่งท้าทายเกิดขึ้น มันไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดจากนิสัยของคนไทย ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ ไม่รู้อดีต เราก็จะไม่เข้าใจปัจจุบัน

“เราต้องใช้ประวัติศาสตร์ให้เป็น ถ้าเราใช้ด้านบวก มันจะเป็นข้อดี เป็นตัวผลักให้เกิดความก้าวหน้าขึ้น ผมพูดเสมอว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้มีข้อเสีย ตราบที่เราไม่ได้ขุดด้านลบขึ้นมาใช้ อย่ามองว่าประวัติศาสตร์คือบันทึกความเจ็บแค้น แต่ประวัติศาสตร์คือวิชาที่เราใช้เพื่อพัฒนามนุษย์”รศ.ดร.ปรีดีกล่าวทิ้งท้ายไว้ในวันนั้นอย่างน่าคิด

ลายปูนปั้นสไตล์ยุโรปบนหน้าบันวัดเตว็จ ที่พบเพียงแห่งเดียวในอยุธยา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image