คอลัมน์ ไฮไลต์โลก: ‘ราเม็ง’ ของมีค่าในคุกมะกัน!

CNN

“ราเม็ง” หรือราเมน ที่จริงๆ แล้วคือบะหมี่น้ำของญี่ปุ่น แต่ที่คนตะวันตกส่วนใหญ่รู้จักหมายถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่คนไทยเราเองก็นิยมบริโภคทั้งใน “ยามยาก” และ “ยามอยาก” แต่รู้ไหมว่าตอนนี้ บะหมี่สำเร็จรูปนี่แหละกำลังเป็นของมีค่าดั่งทองในเรือนจำสหรัฐอเมริกา แทนที่ “บุหรี่” ที่นักโทษในเรือนจำส่วนใหญ่ใช้เป็นสื่อกลางแทน “เงิน” ในการซื้อขายต่อรองแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการระหว่างกัน

แนวโน้มที่พบนี้เป็นผลที่ได้มาจากกรณีศึกษาของ ไมเคิล กิบสัน-ไลท์ นักศึกษาปริญญาเอกในภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยอริโซนา ที่ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างนักโทษและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำสหรัฐระหว่างเดือน พฤษภาคม ปี 2558-พฤษภาคม ปี 2559 พบว่าตัวแปรหลักใหญ่ที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายมาเป็นของมีค่ามากที่สุดในเรือนจำสหรัฐยุคนี้ แทนที่จะเป็นบุหรี่ ซึ่งเคยเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจใต้ดินที่ทรงอิทธิพลแทนเงิน เป็นเพราะนักโทษไม่พอใจกับอาหารในเรือนจำทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ หลังจากที่งบประมาณของภาครัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตของนักโทษถูกกระจายมาลดลง กลุ่มนักโทษจึงต้องการหาตัวเลือกที่ถูก รสชาติดี ให้พลังงานสูงและอยู่ท้อง ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตอบโจทย์พวกเขาได้เป็นอย่างดี

นั่นจึงทำให้บะหมี่สำเร็จรูปกลายมาเป็นของมีค่าที่ใช้ในระบบบาร์เตอร์ ทั้งแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย การบริการ เช่น ซักผ้า และยังใช้เป็นชิปในการเล่นเกมพนันขันต่อ

กิบสัน-ไลท์ ให้ข้อมูลปูมหลังว่า การใช้บุหรี่แทนเงินในเรือนจำสหรัฐ มีมาตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองอเมริกาแล้ว เผลอๆ บางทีอาจจะมีมานานมากกว่านั้น และว่า รูปแบบของเงินที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราต้องการในระบบตลาด ไม่ใช่อะไรที่จะสามารถเปลี่ยนกันได้บ่อยๆ หรือเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ ไม่มีข้อยกเว้นแม้ในเศรษฐกิจใต้ดินอย่างในเรือนจำ ซึ่งมันจะต้องเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นเรื่องที่ถึงขั้นทำให้รู้สึกช็อก ถึงจะเปลี่ยนกันได้

Advertisement

การศึกษาของกิบสัน-ไลท์ ยังพบว่าบะหมี่สำเร็จรูปที่กลายมาเป็นของมีค่าในเรือนจำ เป็นแนวโน้มที่พบเกิดขึ้นในทุกกลุ่มของนักโทษในเรือนจำที่มีความแตกต่างกันไป และไม่ได้เป็นผลมาจากคำสั่งแบนบุหรี่ในเรือนจำ ถึงทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายมาเป็นของมีค่า เพราะแนวโน้มเช่นนี้ก็ยังเกิดขึ้นในเรือนจำที่ไม่ได้มีคำสั่งแบนบุหรี่แต่อย่างใดด้วย

กิบสัน-ไลท์ ที่เตรียมจะนำเสนอกรณีศึกษานี้ของเขาต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน ครั้งที่ 111 ยังเรียกร้องให้มีการศึกษาค้นคว้าให้มากกว่านี้ถึงการตัดลดงบประมาณด้านอาหารที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของนักโทษเพิ่มเติมด้วย หลังจากข้อมูลของสำนักงานทัณฑสถานของสหรัฐเปิดเผยออกมาก่อนหน้าชี้ว่า รัฐบาลใช้งบประมาณในการดูแลนักโทษในปี 2553 อยู่ที่ราว 48,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 5.6 เปอร์เซ็นต์

เพราะถึงแม้พวกเขาจะเป็นผู้ต้องโทษกระทำความผิด แต่ก็มีสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เหมือนเราๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image