นายณรงค์ ศศิธร อาเซียนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายณรงค์ ศศิธร

อาเซียนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

หมายเหตุ “มติชน” ถือโอกาสที่ นายณรงค์ ศศิธร อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซีย รับหน้าที่ผู้อำนวยการบริหารศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มติชนจึงพูดคุยถึงภารกิจที่น่าสนใจของศูนย์ดังกล่าว ความท้าทาย และทิศทางที่จะในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทยและในอาเซียน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของศูนย์ได้ที่โฮมเพจ www.acsdsd.org และ FB: ACSDSD

 

ณรงค์ ศศิธร

๐ภารกิจของศูนย์คืออะไรและที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

Advertisement

เมื่อปี 2015 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (Sustainable Development Goals-SDGs) 17 เป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการ หลังจากนั้นไม่นานในปีเดียวกัน ผู้นำอาเซียนก็ได้ประกาศ “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025” ขึ้นเพื่อกระตุ้นการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน ซึ่งหนึ่งในหลักการสำคัญคือการส่งเสริมให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและรวมทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงเห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระที่มีความสำคัญและถือเป็นเรื่องท้าทาย อาเซียนได้มอบหมายให้ไทยเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-ยูเอ็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2016 และผลักดันข้อริเริ่มที่เกื้อกูลระหว่างวาระของเอสดีจีส์ของยูเอ็นกับอาเซียนว่ามีอะไรที่จะช่วยเสริมกันได้ จะทำอย่างไรให้อาเซียนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว สิ่งใดที่ทำแล้วจะทำให้เราสามารถบรรลุทั้งเอสดีจีส์และวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 เพราะในความเป็นจริงแล้วหลายเรื่องก็เกื้อกูลกัน

เราได้ข้อสรุปว่ามี 5 สิ่งที่อาเซียนทำแล้วจะทำให้บรรลุ 2 วัตถุประสงค์ไปพร้อมๆ กัน คือ 1.การขจัดความยากจน 2.โครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง 3.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน 4.การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และ 5.ความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพเดิม (Resilience) และนำมากำหนดเป็นโครงการนำร่องต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง โดยหนึ่งในนั้นก็คือการจัดตั้งศูนย์ ACSDSD แห่งนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นกลไกส่งเสริมกระบวนการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เป็นเวทีและช่องทางที่จะทำให้ประเทศที่เป็นหุ้นส่วน และประเทศที่ต้องการมีความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมาร่วมมือกับอาเซียน เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกับอาเซียน

Advertisement

 นอกจากนี้งานที่เราทำยังมีวัตถุประสงค์หลักอื่นๆ ด้วยคือการส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมความรับรู้เพื่อให้คนเข้าใจและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลแต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเป็นเจ้าของร่วมกัน นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศหุ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศประสงค์ที่จะเข้ามาพูดคุยกับเรา

ภารกิจของศูนย์คือการนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในเรื่องต่างๆ จากประเทศหุ้นส่วนที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่ยั่งยืน ทำได้ไม่ยากเกินไป และไม่แพงเกินไปจนทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ง่ายต่อความเข้าใจ นำมาแบ่งปันในอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของเรา

ปัจจุบันเราได้พูดคุยกับสหภาพยุโรป (อียู) เกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คุยกับสวิตเซอร์แลนด์เกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน คุยกับนอร์เวย์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้ยังคุยกับหุ้นส่วนที่เขามีความร่วมมือกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรอย่าง Asia Foundation เรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถ ได้พบหารือกับท่านทูตเกาหลีใต้ถึงความเป็นไปได้ของความร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมขีดความสามารถในการติดตามและประเมินผลความคืบหน้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญมากคือโดยที่ศูนย์เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยมุ่งเน้นให้สามารถดำเนินงานค่อนข้างเป็นอิสระ จึงมีความยืดหยุ่นที่สามารถจะนำแนวความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมาแนะนำ ส่งเสริม และเผยแพร่ให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย

ในช่วงที่ผ่านมาเราหารือกับผู้แทนประเทศต่างๆ ในอาเซียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศไทย และเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศอย่างยูเอ็น และสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อช่วยในการวางทิศทางและตำแหน่งการทำงานของศูนย์ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่หลายส่วนหลายฝ่ายดำเนินการอยู่แล้ว เราไม่ต้องการทำอะไรที่ซ้ำซ้อนกับคนอื่น จึงได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงาน หารือกับภาคเอกชนไทยที่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก มีการรวมตัวกันสร้างแนวร่วมที่เรียกว่าสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (Global Compact Network) ซึ่งมีในหลายประเทศรวมถึงในไทยซึ่งมีคุณศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธาน

ขณะนี้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาก เพราะตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต การมุ่งแสวงหากำไรอย่างเดียวไม่ยั่งยืน แต่ภาคธุรกิจต้องสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วย ดูตลอดห่วงโซ่อุปทาน การผลิตก็ต้องมีความโปร่งใส ภาคธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งขณะนี้เขาไปไกลมากในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

เราต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนทั่วโลกมีการศึกษาสูงขึ้น มีความอ่อนไหวต่อข้อมูลข่าวสาร ถ้าธุรกิจไหนไม่ปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนก็เป็นความเสี่ยงของธุรกิจนั้นๆ เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้รายงานแค่ผลประกอบการกำไรขาดทุนเท่านั้น แต่ยังต้องมีการรายงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทด้วย

 ประเทศไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในเรื่องนี้มาตลอด และผลักดันความร่วมมือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไทยเป็นประเทศที่มีความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ก้าวหน้ามากที่สุดในอาเซียน ในการจัดอันดับความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น แต่ประเด็นที่เป็นความท้าทายสำหรับไทยและทุกประเทศในอาเซียนคือเรื่องความไม่เสมอภาคที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันต่อไป เรามองว่าการผลักดันวาระที่เกื้อกูลระหว่างยูเอ็นกับอาเซียนจะเป็นการเสริมบทบาทของไทยในภูมิภาค

๐คนไทยทั่วไปอาจไม่รู้สึกว่าเรามีการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายมิติมากกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน

การพัฒนาที่ยั่งยืนมีหลายเป้าหมาย หลายเรื่องที่สำคัญไม่ว่าจะในประเด็นการขจัดความหิวโหย การศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไทยได้คะแนนดีมาก หรือความเท่าเทียมทางเพศไทยก็อยู่ในระดับสูง แต่สิ่งที่เราและทุกประเทศได้คะแนนไม่ดีนักคือความไม่เท่าเทียม และสภาพแวดล้อม

๐การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร

โดยรวมโลกหลักยูเอ็นประกาศเอสดีจีส์เมื่อปี 2015 ซึ่งผ่านมาแล้ว 6 ปี สภาพการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้แทนที่จะดีขึ้นมันกลับแย่ลง ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตที่เราต้องพยายามมากขึ้นและรับมือกับมันให้ได้

ไทยและประเทศในอาเซียนพยายามที่จะทำให้โควิด-19 เป็นโอกาสในการ build back better ฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่ให้ดีกว่าเดิม อาเซียนได้ออก ASEAN Comprehensive Recovery Framework เป็นกรอบนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมรอบด้าน หนึ่งในนั้นคือการกำหนดให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหนทางและวิถีทางของอาเซียน ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรการพัฒนาที่ยั่งยืนก็เป็นหนทางที่เราต้องมุ่งไป

 ขณะนี้เหลือเวลาอีกราว 10 ปีก่อนจะถึงปี 2030 ทศวรรษนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการที่เราจะมาพูด แต่ต้องเป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ ทุกคนต้องตระหนักว่าไม่ช้าก็เร็วเราต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือภาคการศึกษา การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมจะทำให้เกิดผลกระทบกับสังคมได้

๐อะไรคือความท้าทายในการทำงานของศูนย์

เราต้องพิสูจน์ว่าศูนย์นี้มีประโยชน์จริงๆ  ไม่ใช่แค่มุ่งเน้นจัดทุนวิจัย หรือทำการอบรมสัมมนาตามดัชนีวัดความสำเร็จ (KPIs) เท่านั้น แต่ต้องเป็นกลไกที่สร้างผลและทำให้เกิดอิทธิพลได้อย่างมีความหมาย ความท้าทายประการแรกคือเราต้องสร้างความตระหนักรู้ของคน เพราะความท้าทายที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือทำอย่างไรให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงโดยเฉพาะเยาวชน คนทั่วไปมองว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ อีกด้วย

จุดเปลี่ยนของภาคประชาชนคือต้องตระหนักว่าอนาคตอยู่ในมือของเรา การพัฒนาที่ยั่งยืนก็เช่นกัน เมื่อผู้คนตระหนักและเข้าใจ ก็จะทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เรื่องที่พูดเพื่อสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น หรือพูดเฉพาะในเวทีสัมมนา ความตระหนักรู้ว่านี่เป็นเรื่องที่เราทุกคนเป็นเจ้าของเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นได้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image