โลกเปลี่ยน-ไทยเปลี่ยน ทิศทางการต่างประเทศไทยในทศวรรษ2020

โลกเปลี่ยน-ไทยเปลี่ยน
ทิศทางการต่างประเทศไทยในทศวรรษ2020

ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน-ไทยเปลี่ยน ทิศทางการต่างประเทศไทยในทศวรรษ 2020” เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะเพื่อวางแผนทิศทางการต่างประเทศไทยในอนาคต ภายในงานมีวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ และ รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย นายอนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ

นายเตช บุคนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานว่า ทศวรรษ 2020 เป็นปีที่สำคัญ เพราะโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์การแข่งขันทางยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ และเบร็กซิท ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อไทยและอาเซียน ในขณะเดียวกันทศวรรษ 2020 ไทยจะดำรงตำแหน่งเป็นประธาน BIMSTEC ในปี 2021-2022 และเป็นเจ้าภาพ APEC ในปี 2022 และจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2029 นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยจะมีอายุครบรอบ 150 ปี ในปี 2029 นี้ด้วย จากบริบทดังกล่าวศูนย์ศึกษาการต่างประเทศจึงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปประกอบการกำหนดนโยบายและการมีท่าทีทางกลยุทธ์ในประเด็นต่างๆ ซึ่งศูนย์ศึกษาการต่างประเทศหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

เตช บุนนาค

๐โลกใน 10 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงในไทยและต่างประเทศ และทิศทางการต่างประเทศของไทยในอนาคต

ท่านทูตสีหศักดิ์กล่าวว่า ไทยมีปัญหาหลายอย่าง อย่างแรกคือ กระทรวงการต่างประเทศขาดขีดความสามารถในการมองนโยบายต่างประเทศในระยะยาว ขาดธิงค์แทงค์ นอกจากนี้โลกยังต้องเผชิญดิสรัปชั่นมากมาย ทั้งดิสรัปชั่นในทางภูมิรัฐศาสตร์ เวทีพหุภาคีและเทคโนโลยี ซึ่งทิศทางของไทยจะไปทางไหน

Advertisement

ปัญหาที่ 2 คือปัจจุบันประเทศไทยหายจากจอเรดาร์ของประเทศอื่นแล้ว เนื่องด้วยปัญหาการเมืองภายในหรือการต่างประเทศของไทยที่อาจไม่เข้มแข็งมากพอ ต่างชาติเมื่อพูดถึงอาเซียนมักนึกถึงอินโดนีเซียเป็นอันดับแรก ด้วยความที่เป็นประเทศใหญ่และมีนโยบายที่เป็นอิสระ ต่อมาคือสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่พูดถึงบทบาทระดับภูมิภาคด้วย ต่อมาคือมาเลเซีย ซึ่งมีบทบาทในโลกมุสลิมและในเวทีกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ส่วนประเทศที่มาใหม่คือเวียดนาม หลายประเทศพูดถึงว่าเวียดนามเป็นดาวรุ่ง เนื่องจากเวียดนามทำการต่างประเทศจนกลายเป็นประเทศมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค

การที่จะทำให้ไทยกลับมาอยู่บนจอเรดาร์ของประเทศอื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการต่างประเทศอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการเมือง เศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้วย อย่างไรก็ตามถ้าการต่างประเทศของเข้มแข็งมากพอก็สามารถสร้างจุดแข็งได้ แต่สิ่งที่ยังเป็นคำถามคือเราถูกข้อจำกัดของตนเองควบคุมการดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือไม่ แท้จริงแล้วเราทำได้มากกว่านี้หรือไม่

ลักษณะการทูตไทยคือเป็นประเทศที่เดินทางสายกลาง ใช้แนวทางอนุรักษ์นิยมในการลดความเสี่ยง ดังนั้นสิ่งแรกคือเราควรบอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยให้ดีขึ้น ให้เห็นบทบาทและทิศทางประเทศไทย อีกคำถามคือการต่างประเทศเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ไทยเผชิญหรือไม่ ขณะเดียวกันเราต้องกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาระหว่างประเทศ เช่น การที่จีนขึ้นมาท้าทายการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐ อีกเรื่องหนึ่งคือนโยบายอเมริกันเฟิร์สของทรัมป์ เบร็กซิท และปัญหาในยุโรป เป็นกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง ทำให้สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยอย่างกฏระเบียบโลกภายใต้กรอบพหุภาคีกำลังถูกบั่นทอน และกระแสต่างๆ อย่างชาตินิยมและประชานิยมเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศในหลายประเทศ สุดท้ายคือเรื่องของภัยคุกคามใหม่ อย่างโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้อพยพ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่เราต้องรับมือต่อไป

Advertisement

ท่านทูตสีหศักดิ์ได้เสนอ 6 ทิศทางในการแก้ปัญหาไว้ว่า เรื่องแรกคือปรับการต่างประเทศให้สอดคล้องกับปัญหาภายในประเทศ เช่นเรื่องเศรษฐกิจ ประเด็นที่ 2 คือ การต่างประเทศไทยมองแต่การเมืองภายในประเทศ ไม่ได้มองภูมิภาคมากนัก ฉะนั้นต้องเน้นย้ำบทบาทประเทศไทยในภูมิภาค ประเด็น 3 พลังทางการทูตสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางภูมิภาคได้ โดยต้องร่วมมือกันเพื่อรอดไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีวิกฤติของอาเซียนคือปัญหาในเมียนมา เรื่องเมียนมาไม่ใช่กิจการภายในเพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงไม่สามารถเพิกเฉยได้ และหากเมียนมาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก็ส่งผลกระทบต่ออาเซียน ในขณะนี้เรื่องของเมียนมาส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอาเซียนที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น การที่เราเข้าไปแทรกแซงไม่ได้เพื่อทำลายล้างประเทศแต่เพื่อช่วยเหลือ แต่เราก็ต้องเข้าไปแทรกแซงในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม อีกปัญหาของอาเซียนคือตำแหน่งประธานเปลี่ยนทุกปี ความเข้มแข็งของประธานก็ไม่เท่ากัน และอาเซียนยังขาดภาวะผู้นำ ทั้งนี้อยากให้ภูมิภาคนี้มีการสร้างสมดุลกับชาติมหาอำนาจมากขึ้น ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาติใหญ่อย่างจีน สหรัฐ อินเดียมากขึ้น เพื่อให้คานอำนาจกันเอง การแก้ปัญหาในปัจจุบันต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างโควิด-19 และสุดท้ายคือการต่างประเทศที่ดีต้องมีความเป็นเอกภาพ

๐การเปลี่ยนแปลงไปของโลกในปัจจุบัน ผลกระทบจากโควิด-19 และไทยจะทำอย่างไรต่อ

ด้านร.ศ.ดร.กิตติ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกต้องย้อนไปปี 2008 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้ยุโรปและอเมริกาตกต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับจีนที่ดีขึ้น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดกระแสประชานิยม ชาตินิยมมากขึ้นในหลายประเทศ เห็นได้จากนโยบายอเมริกาเฟิร์สของทรัมป์ที่เป็นผลพวงจากทศวรรษก่อนหน้า ในปี 2010 จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 และในปีเดียวกันเกิดกรณีพิพาทหมู่เกาะเซ็งกากุ ซึ่งทำให้เห็นถึงภูมิรัฐศาสตร์ของจีน-สหรัฐชัดขึ้น ในปี 2013 จีนได้ริเริ่มหลายสิ่งทั้งโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย และการประชุมผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนทางสหรัฐก็มียุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ปัจจุบันประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นมา นโยบายต่างประเทศสหรัฐมีความร่วมมือแบบพหุภาคีมากขึ้นเหมือนสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เห็นได้จากการกลับเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก และยังคงมีกำแพงการค้าและเทคโนโลยีเหมือนกับทรัมป์

ต่อมาคือผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทำให้เห็นถึงความอ่อนแอของสหรัฐ อย่างความไม่พร้อมทางสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำ การแบ่งแยกเชื้อชาติ ในขณะที่จีนแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง การส่งหน้ากาก ทีมแพทย์ และวัคซีนไปช่วยประเทศอื่น ซึ่งเป็นความเข้มแข็งในการจัดการ นอกจากนี้การที่จีนมีความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์และ5จี ซึ่งช่วยในเรื่องการจัดการและการควบคุมประชาชน และจีนยังมีความล้ำหน้าในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเองได้อัตโนมัติ สหรัฐเห็นว่าจีนเป็นภัยคุกคามอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องระเบียบโลกจะการหันไปหาพันธมิตรอื่นและคาดว่าหลายประเทศจะเข้าหาจีนมากขึ้น เช่นอิตาลี เนื่องจากจีนช่วยเรื่องโควิด-19 เยอะ และทั่วโลกจะเกิดกระแสชาตินิยม การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากมากขึ้น

ร.ศ.ดร.กิตติเสนอทิศทางของไทย 8 ประการ เรื่องแรกคือความมั่นคงด้านสุขภาพ ไทยสามารถเป็นผู้นำในการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านได้ 2.การเล่าถึงประเทศไทยใหม่ เสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์และป๊อปคัลเจอร์ เปลี่ยนมุมมองคนไทย เพราะปัจจุบันไทยมองมักจะมองประเทศในด้านลบ ประเด็น 3. และ4.คือไทยควรผลักดันการร่วมมือพหุภาคี เพราะไทยทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพต่างๆ ได้ดี เห็นได้จากการประชุมความเป็นหุ้นส่วนของรัฐสภาเอเชียและยุโรปที่ตกลงกันได้ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 5.มีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจมากขึ้นและหาประโยชน์ในประเด็นที่แต่ละชาติเข้มแข็ง เช่นความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ไทยไปร่วมมือกับญี่ปุ่น 6.การหาช่องทางเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศกำลังพัฒนา 7.ไทยต้องผลักดันความร่วมมือล้านช้างแม่โขงกับจีนมากขึ้น ให้จีนเห็นว่าหากไม่ร่วมมือจะเกิดภาพลักษณ์ด้านไม่ดีกับจีน 8.ควรมีการทูตสาธารณะมากขึ้นเพื่อให้คนต่างประเทศมองไทยในด้านดีขึ้น และการมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนในประเทศ เพื่อให้มีประชาคมด้านนโยบายต่างประเทศในประเทศไทยมากขึ้น

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีสัมมนาในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เรามองเห็นทิศทางของโลก แต่ยังช่วยให้เห็นถึงข้อจำกัด ความท้าทาย ไปจนถึงทิศทางของการต่างประเทศไทยที่ควรมุ่งไปในอนาคต เพื่อให้ไทยยืนอยู่ได้ในฐานะประเทศที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก และเพื่อให้นโยบายการต่างประเทศตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image