คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ศึกสับปะรด ปลุกพลังชาตินิยม!

เอเอฟพี

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ศึกสับปะรด ปลุกพลังชาตินิยม!

เมื่อเรื่องของสับปะรดถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง คนเดือดร้อนด่านแรกย่อมไม่พ้นเหล่าเกษตรกรชาวไร่สับปะรด

ภาพรอยเตอร์

ความเดือดร้อนนี้เป็นสิ่งที่ชาวไร่สับปะรดในไต้หวันกำลังประสบ หลังจากเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา พญามังกรจีนประกาศห้ามนำเข้าสับปะรดจากไต้หวัน ที่จีนถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ในทันที โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากพบยาฆ่าแมลงในสับปะรดไต้หวัน

มิน หลี่มิง เจ้าของไร่สับปะรด ในเขตไท่ซานที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสับปะรด” แหล่งปลูกที่ให้ผลผลิตมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์จากทั่วไต้หวัน กล่าวเชิงตัดพ้อว่า “นี่เป็นเรื่องการเมืองที่เกษตรกรอย่างเราๆ ทำอะไรไม่ได้!”

แม้สับปะรดที่ปลูกได้ส่วนใหญ่จะบริโภคกันเองในไต้หวัน แต่ 90 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตส่วนเกินจะถูกส่งออกไปจีนที่เป็นตลาดใหญ่ ส่วนหนึ่งของการค้าทวิภาคีของไต้หวันกับจีนที่ในปี 2020 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 216,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement
เอเอฟพี

การแบนสับปะรดไต้หวันของรัฐบาลปักกิ่ง ได้ปลุกพลังฮึดให้เพื่อนร่วมชาติหันมาช่วยกันอุดหนุนช่วยกันซื้อสับปะรดไต้หวันกันมากขึ้น

ด้านภัตตาคารร้านอาหารในไต้หวันต่างพากันรังสรรค์เมนูพิเศษใหม่ๆ ขึ้นมา โดยมีสับปะรดเป็นตัวชูโรง เพื่อหวังช่วยอุดหนุนเกษตรกรชาวไร่สับปะรดกันมากขึ้น

ขณะที่การตั้งเป้าของรัฐบาลประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ที่ประกาศจะขายสับปะรดภายในไต้หวันให้ได้ 20,000 ตัน ก็ผลักดันจนทะลุเป้าไปได้ภายในเวลาแค่ 4 วัน จากการร่วมด้วยช่วยกันของกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นที่สั่งซื้อสับปะรดกันล็อตใหญ่

Advertisement
เอเอฟพี

ซันนี เหลียว นักธุรกิจหญิงที่เป็นหนึ่งในแรงผลักนั้น บอกว่า ที่ผ่านมาเธออยากเห็นบรรยากาศระหว่างไต้หวันและปักกิ่งคลายความตึงเครียดลง ตัวเธอเองสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจากัน แต่การกระทำล่าสุดของปักกิ่ง ทำให้เธอโกรธมากและรู้สึกว่าเกษตรกรกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการทำสงครามที่จะต้องเสียสละ

ศึกพิพาทร้อนๆ เรื่องสับปะรด ยังจุดคำถามให้กับชาวไต้หวันได้คิดว่าพวกเขาพึ่งพาเศรษฐกิจจีน มหาอำนาจในภูมิภาคที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับไต้หวันมากเกินไปหรือไม่ และถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนเพื่อหาทางแก้ไข จะได้ไม่ต้องตกที่นั่งลำบาก ยามถูกตอบโต้อย่างเช่นครั้งนี้

เอเอฟพี

กลับมาที่ไท่ซาน เกษตรกรชาวไร่สับปะรดแม้จะชื่นใจกับกระแสช่วยอุดหนุนสับปะรดของเพื่อนร่วมชาติที่มีเข้ามาไม่ขาดสาย แต่พวกเขามองว่านี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะฤดูเก็บเกี่ยวเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ต้องรอดูในช่วงพีคของผลิตผลที่จะออกมาในช่วงเดือนหน้าว่าดีมานด์สับปะรดจะยังมีอยู่อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องไปยาวๆ หรือไม่ แต่ทางที่ดีไต้หวันควรจะมองหาตลาดอื่นๆ เอาไว้รองรับด้วย อย่างที่ เซิ่ง ชิน หยุน ชาวนาปลูกข้าว ในวัย 60 มองว่าถึงเวลาแล้วที่ไต้หวันจะต้องหาตลาดที่หลากหลายในการขายสินค้าของตนเอง โดยเซิ่งบอกว่า “ไต้หวันเป็นประเทศอิสระ เราไม่สามารถพึ่งพาคนอื่นไปได้ตลอด”

ส่วนซู่ หยิง ฉี นักศึกษาทำงานพาร์ทไทม์ในโรงงานบรรจุผลไม้ มองว่า ไต้หวันไม่ควรก้มหัวให้กับแรงกดดันของจีน เพราะถ้าไต้หวันยอมเรื่องนี้ จีนก็จะพาลไปหาเรื่องอื่่นแทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image