เผยวัคซีนไฟเซอร์ต้านกลายพันธุ์ได้

แฟ้มภาพรอยเตอร์

เผยวัคซีนไฟเซอร์ต้านกลายพันธุ์ได้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทไฟเซอร์ อิงค์.ของสหรัฐ และบริษัทไบออนเทค ของเยอรมนี ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 เมษายนว่า วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยรวมอยู่ที่ 91% อ้างอิงจากผลการทดลองทางคลินิกล่าสุดที่ได้รวมเอาข้อมูลของกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดไปแล้วนานถึง 6 เดือน ซึ่งมีจำนวนกว่า 12,000 คนเข้าไว้ด้วย

ผลการทดลองยังพบอีกว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันอาการป่วยของกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมในการทดลองในประเทศแอฟริกาใต้ ที่พบการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ B1651 แต่ผลของระดับประสิทธิภาพที่ได้นี้มาจากข้อมูลของผู้ติดเชื้อกลุ่มเล็กๆ เพียง 9 ราย

อย่างไรก็ดีแม้ข้อมูลผลการทดลองล่าสุดจะแสดงให้เห็นถึงระดับประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมอยู่ต่ำกว่า 95% จากผลการทดลองครั้งก่อนในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาซึ่งมีอาสาสมัครเข้าร่วม 44,000 คนก็ตาม แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมที่ 91.3% ในรายงานล่าสุด ก็ยังแสดงให้เห็นวัคซีนตัวนี้ยังคงเป็นเครื่องมือทรงพลังในการต่อต้านไวรัสที่มีวัฒนาการได้

Advertisement

นายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไฟเซอร์ กล่าวว่า จากผลการทดลองล่าสุดที่รวมเอาข้อมูลของกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน จำนวนกว่า 12,000 คนเอาไว้ด้วย ทำให้ทางบริษัทผู้ผลิตจะยื่นขออนุมัติจากหน่วยงานกับกำดูแลของทางการสหรัฐอเมริกาต่อไป โดยขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค เพียงได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา(เอฟดีเอ)ของสหรัฐให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินอยู่เท่านั้น

ด้านนายอูเกอร์ ซาฮิน ซีอีโอของไบออนเทค กล่าวว่า ข้อมูลการทดลองนี้ได้ให้ผลการทดลองทางคลินิกเป็นครั้งแรกที่บ่งชี้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ที่่มีอยู่ในขณะนี้ได้ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และหยุดยั้งการแพร่ระบาดทั่วโลกได้

ทั้งนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงว่าไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้และบราซิล อาจต้านทานวัคซีนและวิธีการรักษาที่มีอยู่ในขณะนี้ได้ โดยมีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้วมากกว่า 300 รายใน 25 รัฐของสหรัฐ ขณะที่ผลการทดลองก่อนหน้านี้ชี้ว่าวัคซีนไฟเซอร์/ไบอออนเทคมีศักยภาพน้อย แต่ยังสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ B1351 ที่พบเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ได้

Advertisement

ไบออนเทคยังออกมาย้ำในสัปดาห์นี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีวัคซีนเข็มกระตุ้น ในอนาคตที่สำหรับใช้จัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งทางกลุ่มกำลังเตรียมที่จะพัฒนาวัคซีนให้ดีขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image