ฉัตรชัย วิริยเวชกุล ‘อธิบดีกรมการกงสุล’ ขับเคลื่อนการทูตเพื่อประชาชน

ฉัตรชัย วิริยเวชกุล

ฉัตรชัย วิริยเวชกุล
‘อธิบดีกรมการกงสุล’
ขับเคลื่อนการทูตเพื่อประชาชน

///

หมายเหตุ “มติชน” – ถือโอกาสที่ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการกงสุลคนใหม่ครบ 1 เดือน มติชนจึงพูดคุยถึงการทำงานในฐานะผู้บริหารกรมที่ถือว่าสำคัญที่สุดกรมหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นกรมที่ทำงานให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนงานตามคำขวัญ “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล”

///

๐1 เดือนนับจากมารับหน้าที่อธิบดีกรมการกงสุลคนใหม่ วางเป้าหมายในการทำงานอย่างไร

Advertisement

ดีใจที่ได้กลับมาที่กรมการกงสุลอีกครั้งหลังจากที่เคยอยู่มาเมื่อ 12-13 ปีก่อน กรมการกงสุลเป็นกรมที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดในบรรดากรมทั้งหมดของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นงานที่ทำให้คนไทยรู้จักกระทรวงการต่างประเทศมากกว่าเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่างานด้านอื่นของกระทรวงจะไม่สำคัญ

ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่มารับหน้าที่ ได้คุยกับน้องๆ ว่ากรมการกงสุลมีคำขวัญซึ่งตั้งกันมานานแล้วว่า “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล” ไม่ใช่แค่เป็นคำที่จำง่ายแต่ยังมีความหมายลึกซึ้ง ถ้าจะทำได้เราก็ต้องมีใจเชื่อว่าเราจะทำการทูตเพื่อประชาชนได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่คำพูด เราต้องเอาตัวเองไปอยู่ในจุดของประชาชนว่าถ้าเขาเดือดร้อนมาหาเรา เราต้องช่วยเขาอย่างไร

ยกตัวอย่างเรื่องโทรศัพท์ ซึ่งที่กรมจะมีสายด่วน เช่นเดียวกับสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก โทรศัพท์ที่เรารับอาจเป็นสายที่ 10 คำถามของประชาชนอาจเป็นคำถามเดิมๆ ที่เราเคยตอบมาแล้ว แต่สำหรับคนที่โทรมา นั่นอาจเป็นโทรศัพท์สายแรกในชีวิตของเขา และเขาอาจจะไม่โทรมาหาเราอีกไปชั่วชีวิต ดังนั้นการดูแลประชาชนสามารถเริ่มจากเรื่องง่ายๆ แค่การรับโทรศัพท์เท่านั้น

Advertisement

ประการต่อมาเราต้องดูว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดในแง่ของการบริการ เราต้องเอาบริการไปหาประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนมาหาการบริการ ซึ่งเราทำมาตั้งแต่แรก อาทิ เรื่องหนังสือเดินทาง เดิมเรามีสำนักงานหนังสือเดินทางที่กรุงเทพ จากนั้นเราก็ขยายสาขาเอาบริการไปให้ประชาชนโดยการตั้งสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวใน 18 จังหวัด และในกรุงเทพอีก 3 แห่ง นอกจากนี้ยังมีบริการต่างๆ ที่จะขยายขอบข่ายออกไป อาทิ บริการรับรองเอกสาร ซึ่งขณะนี้มีการขยายไปยังจ.เชียงใหม่ และมีแผนที่จะขยายไปยังพัทยาและจ.ภูเก็ตต่อไป ส่วนในกรุงเทพก็มีการขยายบริการรับรองเอกสารไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีแล้ว โดยมีผู้มาใช้บริการหลายร้อยคนต่อวัน ทั้งหมดนี้เป็นทิศทางที่กรมทำมาแล้ว และจะพยายามขับเคลื่อนในส่วนนี้ต่อไป

ตู้ทำหนังสือเดินทางอัตโนมัติ

นอกจากนี้ผมได้บอกกับน้องๆ ในวันทำงานวันแรกว่า การบริการของกรมการกงสุลและส่วนราชการต่างๆ ทั้งหมดจะต้องขับเคลื่อนด้วยสิ่งสำคัญคือนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริการ จากเดิมที่ต้องให้คนมาหาก็ต้องปรับเพื่อให้การให้บริการมีความรวดเร็วมากขึ้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการให้บริการ เพื่อให้เป็นการทูตเพื่อประชาชนตามเจตนารมย์ของเราจริงๆ

กรมการกงสุลมีกองต่างๆ 4 กอง เราจะขับเคลื่อนงานทั้งหมดภายใต้แนวทางนี้ อาทิ อี-วีซ่า ซึ่งเรากำลังเข้าสู่เฟส 2 จากเดิมเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่เราทำอี-แอพพลิเคชั่น คือให้คนยื่นขอวีซ่าและจ่ายเงินออนไลน์ได้ ขั้นตอนสุดท้ายก็ยังต้องมาติดสติกเกอร์วีซ่า ซึ่งทำไปแล้วในจีน สหรัฐ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ในเฟส 2 เราจะทำอี-วีซ่าแบบครบวงจร ซึ่งขณะนี้มีการทดลองระบบกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแล้ว และจะมีการนำร่องในประเทศเป้าหมายคือประเทศที่มีการทำอี-วีซ่าเฟสแรกไปแล้ว 2-3 ประเทศได้ในเร็วๆ นี้

ในส่วนของกองสัญชาติและนิติกรณ์ สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือการรับรองการแปลเอกสาร ปัจจุบันกรมกำลังหารือกับกระทรวงมหาดไทยตกลงที่จะทำเอกสารภาษาอังกฤษ 29 เอกสาร ซึ่งประชาชนสามารถยื่่นของพิมพ์เอกสารภาษาอังกฤษจากเขตแล้วนำมารับรองที่กรมการกงสุลได้เลย และกำลังเจรจากับกระทรวงมหาดไทยว่าจะทำอย่างไรให้เป็นบริการแบบ one stop service คือเอกสารทะเบียนราษฎร์ตามที่ตกลงกันแล้วให้สามารถมาที่กรมการกงสุลที่เดียว โดยกำลังเจรจาว่าอาจจะแก้ไขให้เจ้าหน้าที่กรมการกงสุลเป็นนายทะเบียนที่สามารถดึงเอกสารภาษาอังกฤษออกมาได้เลย หรือให้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยมาประจำการที่กรมการกงสุลในช่วงแรก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

เรื่องหนังสือเดินทาง ไทยมีอี-พาสปอร์ตตั้งแต่ปี 2548 ถือเป็นประเทศแรกๆ ที่นำอี-พาสปอร์ตมาใช้ ขณะนี้เข้าสู่เฟส 3 แล้ว ซึ่งหนังสือเดินทางมีมาตรการเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนด้วยการขยายอายุของหนังสือเดินทางจาก 5 ปีเป็น 10 ปี เพราะหลายคนพบปัญหาว่าเมื่อหนังสือเดินทางหมดอายุแต่ยังมีวีซ่าที่ยาวกว่า 5 ปี จึงต้องนำหนังสือเดินทางเล่มใหม่มาทำเรื่องรับรองอย่างเป็นทางการ หนังสือเดินทาง 10 ปีจะตอบโจทย์ในส่วนนี้ โดยมีเงื่อนไขเดียวคือผู้ขอหนังสือเดินทาง 10 ปีต้องไม่เป็นผู้เยาว์ โดยเริ่มมีการออกหนังสือเดินทาง 10 ปีให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา และมีคนสนใจมาทำมาก

นอกจากนี้ยังมีบริการตู้ทำหนังสือเดินทางอัตโนมัติ ปัจจุบันมีให้บริการแล้วที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวที่เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ และมีแผนที่จะขยายการให้บริการไปที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวที่เซ็นทรัลเวสต์เกต บางใหญ่ ต่อไปในอนาคต เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทำหนังสือเดินทางที่ไม่ต้องมายื่นเรื่องในเวลาราชการเท่านั้น โดยจะให้รับเล่มทางไปรษณีย์

สำหรับกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลคนไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งคนในไทยต่างประเทศที่ต้องการกลับบ้าน รวมถึงคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทย เราทำงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จนถึงปัจจุบันเราช่วยคนไทยให้เดินทางกลับบ้านแล้ว 180,000 คน และจัดระเบียบคนต่างชาติเข้าประเทศไทยครบ 100,000 คนไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังช่วยเหลือดูแลคนไทยในระหว่างเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเมื่อมีการล็อกดาวน์ที่ทำให้เดินทางไม่สะดวก จัดถุงยังชีพ ประสานงานในการเดินทางกลับตั้งแต่จัดรถ ประสานสนามบิน จัดหาสายการบิน ให้กับคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับ ซึ่งเป็นภารกิจที่ทำอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และจะทำต่อไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายจนไม่ต้องมีการกักตัว

ขณะที่ปัญหาของคนไทยในต่างประเทศที่เป็นภารกิจปกติก็ยังคงทำอยู่ ไม่ว่าการเยี่ยมเยียนนักโทษคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีคนไทยที่ติดต่อกับสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือราว 20,000 ราย ทั้งคนไทยทั่วไป แรงงานไทย หรือหญิงไทย ไม่นับรวมผู้ที่โทรศัพท์มาปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ และเรายังมีคอลเซ็นเตอร์ของกรมการกงสุลที่ทำงาน 24 ชั่วโมง คอยตอบคำถาม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการต่างๆ ของกรมทั้ง 4 ด้าน ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของงานในกรมการกงสุลในปัจจุบันและสิ่งที่เราจะทำต่อไปในอนาคต หากให้พูดถึงสิ่งที่ตั้งเป้าให้เป็น quick win ของกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องพูดถึง อี-วีซ่าที่ต้องเกิดแบบครบวงจรในปีนี้ การแปลเอกสารภาษาอังกฤษแบบ one stop service การจัดทำหนังสือเดินทาง 10 ปีซึ่งเกิดขึ้นแล้วและการทำตู้ยื่นขอหนังสือเดินทางที่จะขยายให้ได้ 2แห่ง และตั้งเป้าจะให้ครบ 10 เครื่องต่อไปเพื่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ซึ่งน่าจะครบตามที่ตั้งเป้าหมายในปีนี้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image