ศาลเมียนมาสั่งประหารชีวิต 19 ผู้ประท้วง ทูตชู 3 นิ้วจี้ยูเอ็นคว่ำบาตร กลุ่มชาติพันธุ์ถล่มตำรวจรัฐฉานดับกว่า 10 ศพ

ภาพจากเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 10 เมษายน เผยให้เห้นสภาพท้องถนนในย่างกุ้ง ถูกสาดสีแดงเต็มถนน สัญลักษณ์ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา (เอเอฟพี)

ศาลเมียนมาสั่งประหารชีวิต 19 ผู้ประท้วง ทูตชู 3 นิ้วจี้ยูเอ็นคว่ำบาตร กลุ่มชาติพันธุ์ถล่มตำรวจรัฐฉานดับกว่า 10 ศพ

เมื่อวันที่ 10 เมษายน สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา ว่า นายจ่อ โม ตุน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของเมียนมาประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเรียกร้องกดดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) กำหนดเขตห้ามบินและห้ามการค้าอาวุธกับเมียนมาเพื่อไม่ให้กองทัพปฏิบัติการโจมตีใส่พื้นที่พลเรือนในเมียนมาได้อีก โดยนายจ่อ โม ตุน ทูตเมียนมาที่ชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารกลางที่ประชุมใหญ่ยูเอ็นจนถูกรัฐบาลทหารปลดออกจากตำแหน่งมาแล้ว กล่าวผ่านระบบทางไกลต่อที่ประชุมยูเอ็นเอสซีในวันศุกร์ (9 เม.ย.) ว่ายังไม่มีการดำเนินการอย่างแข็งขันและมากเพียงพอ ทั้งๆ ที่มีประชาชนหลายร้อยคนต้องล้มตายรวมถึงเด็กๆ การดำเนินการอย่างแข็งขันร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นในทันที ซึ่งตนเชื่อว่าประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะยูเอ็นเอสซีจะไม่ปล่อยให้การกระทำอันโหดร้ายทารุณเช่นนี้เกิดขึ้นในเมียนมาต่อไป

ทั้งนี้ ในข้อเรียกร้องเพื่อกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาของนายจ่อ โม ตุน ต่อยูเอ็นเอสซี มีตั้งแต่ให้กำหนดเขตห้ามบินเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพเมียนมาโจมตีทางอากาศใส่พื้นที่พลเรือน ให้ประชาคมโลกห้ามทำการค้าอาวุธกับเมียนมา อายัดบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในกองทัพและสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนระงับการลงทุนจากต่างประเทศจนกว่าเมียนมาจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา

ภาพถ่ายจากคลิปวิดีโอเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเมียนมาติดอาวุธเดินลาดตระเวนในระหว่างปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองพะโค เมื่อวันที่ 9 เมษายน (รอยเตอร์)

จีนและรัสเซีย สองชาติสมาชิกถาวรในยูเอ็นเอสซีที่มีอำนาจวีโต้ ซึ่งคัดค้านการคว่ำบาตรเมียนมาของนานาชาติ ได้แสดงความห่วงกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์ในเมียนมา ขณะที่ นางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่า กองทัพเมียนมาต้องรู้สึกถึงความสูญเสียจากการกระทำอันน่ากลัวของตนเองหลังจากที่เมินใส่ต่อการก่นประณาม ทั้งยังกล่าวจี้ยูเอ็นเอสซีว่า “จะปล่อยให้ถ้อยคำในแถลงการณ์ที่จะออกมาเป็นไปอย่างคลุมเครือต่อไปหรือเราจะทำเพื่อรักษาชีวิตประชาชนชาวเมียนมาไว้?” ด้านเอสโตเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกไม่ถาวรในยูเอ็นเอสซี เรียกร้องให้ร่วมกันร่างข้อมติที่มีมาตรการคว่ำบาตรและการห้ามค้าอาวุธกับเมียนมารวมอยู่ด้วย

Advertisement

ส่วนนางนาตาลี บรอดเฮิร์ส รองเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำยูเอ็น แจ้งต่อที่ประชุมยูเอ็นเอสซี ว่าการประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องเมียนมาของกลุ่มชาติอาเซียนจะมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายนนี้ ที่คาดว่าจะมีขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเราหวังว่าจะได้รับฟังบทสรุปของผลการประชุมดังกล่าว

ภาพจากเฟซบุ๊ก ขณะกลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารเดินขบวนประท้วงในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน (เอเอฟพี)

ยังมีความเคลื่อนไหวในความพยายามทางการทูตเพื่อคลี่คลายวิกฤตขัดแย้งในเมียนมา โดยในวันก่อนหน้า นางคริสตีน สคราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษยูเอ็นด้านเมียนมา ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อจะพบหารือแบบต่อหน้ากับตัวแทนของกองทัพเมียนมา และชาติอาเซียนรวมถึงไทย เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา แต่นางบูร์เกเนอร์ถูกทางการเมียนมาปฏิเสธที่จะให้พบ โดยนายจ่อ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร บอกกับเอเอฟพีว่าเราไม่อนุญาต และไม่มีแผนที่จะอนุญาตในเรื่องนี้ด้วย

ขณะที่การปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารของกองทัพเมียนมาด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการใช้ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป สถานีโทรทัศน์เมียวดีของทางการเมียนมา รายงานเมื่อคืนวันศุกร์ (9 เม.ย.) ว่ามีชาวเมียนมา 19 คน ถูกศาลทหารตัดสินลงโทษประหารชีวิต ฐานก่อคดีโจรกรรมและฆาตกรรม อย่างไรก็ดี ผู้ต้องหาในจำนวนนี้ 17 คน ถูกตัดสินลับหลังโดยไม่มาปรากฏตัวต่อศาล นับเป็นการตัดสินโทษที่มีการประกาศต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของทางการเมียนมานับจากเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งสื่อโทรทัศน์ทางการเมียนมาระบุว่า ผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินโทษดังกล่าวได้ร่วมกันก่อเหตุในเขตเมืองย่างกุ้งที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ศาลทหาร

Advertisement

รอยเตอร์อ้างสื่อท้องถิ่นรายงานด้วยว่า กองกำลังพันธมิตรของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ลงมือโจมตีสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองนองมอน รัฐฉาน ในช่วงเช้าวันเสาร์ (10 เม.ย.) เป็นเหตุให้ตำรวจเมียนมาถูกสังหารเสียชีวิตอย่างน้อย 10 นาย โดยกองกำลังติดอาวุธดังกล่าวมีนักรบจากกองทัพอาระกัน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมารวมอยู่ด้วย ขณะที่สื่อท้องถิ่นอีกสำนักระบุว่าเหตุโจมตีดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 14 ราย

ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ระบุตัวเลขพลเรือนเมียนมาที่ถูกสังหารเสียชีวิตนับจากวันรัฐประหารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 614 ราย ถูกจับแล้วเกือบ 3,000 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image