จากถนนสู่คนเดิน : คุณภาพชีวิตบนท้องถนนของคนสวีเดน

การจัดวางสิ่งบนทางเท้าของหน้าร้านต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบและเงื่อนไขที่เมืองกำหนดอย่างเคร่งครัด

จากถนนสู่คนเดิน : คุณภาพชีวิตบนท้องถนนของคนสวีเดน

///
หมายเหตุ “มติชน” ถือโอกาสเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีสถิติคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดช่วงหนึ่งของปี มาดูการบริหารจัดการท้องถนนในสวีเดนว่าเขาทำอย่างไร ถึงทำให้ผู้เสียชีวิตบนท้องถนนอยู่ในระดับต่ำถึงเพียง 200 กว่ารายต่อปีเท่านั้น
///

ในช่วงปีที่ผ่านมา การเรียกร้องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการมีสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นและประสบการณ์ของตนในวงกว้าง และหลายกรณีสามารถกระตุ้นเตือนผู้รับผิดชอบให้เห็นถึงปัญหาและแก้ไขหรือสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้

หนึ่งในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของใครหลาย ๆ คน คือ “วิถี” ในการสัญจรในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็จะรวมถึงการใช้ชีวิตบนท้องถนน การจราจร ไปจนถึงพื้นที่ทางเดินริมถนน โดยบ่อยครั้งมักมีการตั้งคำถามว่าวิถีชีวิตบนท้องถนนของไทยจะพัฒนาได้จริงหรือไม่ ปัญหาการเสี่ยงชีวิตบนท้องถนนจะลดลงได้อย่างไร รวมไปถึงการแก้ปัญหารถติด และการปรับปรุงทางเดินเท้าให้รองรับการเดินทางสัญจรของผู้คนจำนวนมากแทนการใช้รถยนต์จะเกิดได้จริงหรือไม่

สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งคำถามเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการตั้งคำถามของคนในสังคมได้นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างการสัญจรในประเทศสวีเดนครั้งสำคัญ โดยเมื่อปี 2540 สวีเดนได้ประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ในชื่อ “วิสัยทัศน์ให้เหลือศูนย์” หรือ Vision Zero

Advertisement

“วิสัยทัศน์ให้เหลือศูนย์” ในความหมายโดยตรงคือ ทำอย่างไรให้อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์ให้ได้มากที่สุด นั่นหมายความว่า จะต้องมีการจัดการวิถีการสัญจรของผู้คนใหม่ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบถนนที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ ระบบการจราจร กฎหมาย และได้เปลี่ยนมุมมองที่ว่า ผู้ขับขี่รถยนต์เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน มาเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ออกแบบถนนหนทางและบริหารจัดการระบบโครงสร้างการขนส่งในประเทศ เช่น หน่วยงานออกแบบถนน ทางเดินเท้า ผู้ออกกฎหมาย ผู้ผลิตรถยนต์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุที่สวีเดนเปลี่ยนมุมมองต่อผู้รับผิดชอบต่อความปลอดภัยบนท้องถนนตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ไม่มีมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนทำผิดพลาดได้ แต่ความผิดพลาดก็ไม่ควรนำไปสู่การสูญเสีย ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนระบบขนส่งอย่างครอบคลุมเพื่อรองรับโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด และไม่ให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

ความสำเร็จของ “วิสัยทัศน์ให้เหลือศูนย์” ของสวีเดน ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในสวีเดนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณปีละ 290 คน เมื่อปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวน 221 คน หรือประมาณ 1.9 คนต่อประชากร 1 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับไทย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกตามการสำรวจล่าสุดคือปี 2561 เรามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยปีละ 21,745 คน คิดเป็นอัตราเฉลี่ยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 32.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นคนเดินถนน

Advertisement

ด้วยพัฒนาการที่น่าประทับใจในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน สวีเดนได้นำประสบการณ์จาก “วิสัยทัศน์ให้เหลือศูนย์” มาเป็นวาระระดับโลก เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ ยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน รวมทั้งใช้เป็นหนึ่งในประเด็นความร่วมมือที่ใช้ผลักดันระหว่างไทย-สวีเดนด้วยเช่นกัน

ถนนที่แคบแต่พื้นที่ทางเดินเท้าในเกาะกลางถนนขนาดใหญ่สามารถพบได้ในหลายจุดในเมืองหลวงอย่างกรุงสตอกโฮล์ม ทำให้คนหันมาเดินกันมากขึ้น

๐เมาห้ามขับและวิธีห้ามเมา

หัวใจสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยลดสถิติผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในสวีเดนคือ การควบคุมการขายเหล้า ซึ่งแม้ว่าสวีเดนจะเป็นประเทศที่เน้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่การขายเหล้ากลับมีการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยรัฐจะเป็นคนผูกขาดขายเหล้าที่มีส่วนผสมเกิน 3.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ผ่านระบบร้านค้าของรัฐที่ชื่อ Systembolaget ภายใต้หลักการ “ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่เน้นผลกำไร” ซึ่งการจะซื้อก็ไม่ได้ทำง่าย ๆ ถ้าหน้าเด็กไปก็จะมีการตรวจดูบัตรว่าอายุเกิน 20 ปีหรือไม่ รวมทั้งจะไม่มีการโฆษณาหรือทำโปรโมชั่นใดๆ นอกจากนี้ ร้านยังมีเวลาเปิดขายถึงแค่ช่วงเย็นๆ และปิดในวันอาทิตย์ ทำให้เข้าถึงยากกว่าร้านค้าทั่วไป และจะเห็นว่าเย็นวันศุกร์คิวต่อแถวจะยาวมาก

นอกจากนี้ ร้านอาหารและสถานบันเทิงที่ขายเหล้าก็ต้องอยู่ภายใต้กฎที่เข้มงวด ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายเหล้าจากเทศบาล มีการตรวจสอบร้านที่ได้รับอนุญาตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าร้านใดฝ่าฝืนขายเหล้าให้กับผู้ที่ดูแล้วว่ามีอาการมึนเมา หรือผู้ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีจะถูกยึดใบอนุญาตทันที รวมทั้งอาจได้รับโทษปรับหรือจำคุก

โทษสำหรับผู้ขับขี่ก็รุนแรงมาก ในกรณีขับขี่ในขณะมึนเมาจะถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ซึ่งอาจถูกปรับหรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ในกรณีเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์แล้วค่าไม่เกิน 10 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าพบว่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อาจมีโทษจำคุกสูงถึง 2 ปี และหากมีผู้เสียชีวิตอาจติดคุกนานถึง 8 ปี ส่วนเรื่องการยึดใบขับขี่ต้องถูกยึดทันที่ที่เป่าพบค่าเกินตั้งแต่ 16 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งใบขับขี่ในสวีเดนถือว่าทำยากและมีราคาแพงมาก เพราะต้องมีการอบรมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้ขับขี่เข้าใจและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และกลัวถูกเพิกถอนใบขับขี่

๐จากถนนสู่คนเดิน

ในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน การจัดสรรพื้นที่ทางเดินที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ เพราะถนนคือพื้นที่ใช้งานของทุกคน รวมทั้งการมีพื้นที่ทางเดินที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ได้ดีที่สุด ซึ่งก็จะช่วยลดมลภาวะภายในเมืองตามมา ด้วยเหตุนี้ สวีเดนจึงให้ความสำคัญกับวิถีการสัญจรด้วยการเดินอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนคือขนาดของทางเดินเท้าในพื้นที่เมืองที่กว้าง

การเดินเป็นระบบสัญจรที่ช่วยประหยัดพื้นที่ใช้สอย เมื่อเทียบกับการสร้างถนน หรือระบบขนส่งอื่นๆ รวมทั้งการเดินก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน และช่วยลดปัญหามลภาวะ ทำให้การเดินเป็นทางเลือกหนึ่งที่ชาวสวีเดนค่อนข้างนิยม โดยสถิติที่น่าสนใจคือเมืองหลวงอย่างกรุงสตอกโฮล์ม ผู้คนประมาณร้อยละ 38 เลือกที่จะเดินไปยังที่หมายต่างๆ มากกว่าการเดินทางด้วยวิธีการอื่น ตัวเลขนี้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในยุโรป โดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงสตอกโฮล์มมีตัวเลขคนเดินสูงถึงร้อยละ 54

แม้ว่าตัวเลขคนสัญจรด้วยการเดินในกรุงสตอกโฮล์มจะสูงมากแล้ว แต่ทางเมืองได้ตั้งเป้าหมายที่สูงกว่านั้น โดยวางแผนให้ภายในปี 2573 จะต้องทำให้ถนนคนเดินในเมืองดึงดูดให้ผู้คนหันมาเดินทางด้วยการเดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 แทนที่การเดินทางด้วยวิธีการอื่น ทั้งนี้ การจะสร้างแรงจูงใจผู้คนหันมาเดินได้ เมืองได้วางแผนพัฒนาถนนคนเดินที่น่าสนใจหลายด้าน เช่น การทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย การวางแผนเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างจุดสำคัญ การสร้างสิ่งปลูกสร้างสวยงามและศิลปะต่าง ๆ การปลูกต้นไม้สร้างความร่มรื่น เพิ่มแสงสว่างทางเดิน และควบคุมความเร็วในการขับขี่ในพื้นที่เมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นการสร้างมุมมองต่อการเดินเท้าอย่างผ่อนคลายให้แก่ประชาชน

๐จากสวีเดนสู่การพัฒนาถนนและทางเดินเท้าของไทย

เรื่องของถนนหาทางและวิถีการสัญจรของผู้คนในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแค่เรื่องถนนและการเดินทางเท่านั้น เพราะเรื่องของถนนสามารถผูกโยงไปในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของประชาชนในภาพรวม สิ่งแวดล้อม พลังงาน การท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตชุมชน ผู้พิการ และอีกมากมายที่อาจนึกไม่ถึง

แน่นอนว่าการแก้ไขและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเช่นถนนหนทางไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่สวีเดนที่โดดเด่นในเรื่องนี้ ก็มีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดีขึ้น เช่น ปัญหาการเดินรถไฟไม่ตรงเวลา ระบบขนส่งสาธารณะมีความแออัดในชั่วโมงเร่งด่วน เส้นทางการจราจรในบางย่านขับรถได้ยากเพราะมีการใช้ถนนร่วมกันระหว่างรถราง รถยนต์ จักรยาน และคนเดิน ปัญหาความปลอดภัยในการสัญจรในพื้นที่เสี่ยงต่ออาชญากรรม รวมไปถึงการที่จะต้องอนุรักษ์คุณลักษณะพิเศษหรือวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่ ซึ่งวิธีการจัดการปัญหาของสวีเดนมีความน่าสนใจ และอาจปรับใช้ในบริบทในการพัฒนา “วิถี” การใช้รถใช้ถนนและทางเดินเท้าของไทยให้ปลอดภัยและสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาเลือกเดินมากขึ้น

หัวใจสำคัญในการจัดการปัญหาแบบสวีเดนคือ การเปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์ของชุมชนและสังคมอย่างเปิดกว้างและเปิดใจ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่อาจละเลยไป มีการเปิดช่องทางรับข้อร้องเรียนอย่างเป็นระบบ ในขณะที่การปรับปรุงพัฒนาพื้นที่จะให้ความสำคัญกับทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในไทยได้เริ่มเห็นภาพการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเองในลักษณะนี้บ้างแล้ว ทำให้มีความหวังว่าการพัฒนาถนนและทางเดินเท้า รวมถึงการพัฒนาเมืองของไทยจะมีความก้าวหน้าและตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

การซ่อมบำรุงท่อน้ำที่ฝังใต้ทางเดินเท้า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image