คอลัมน์ Think Tank: บราซิล การเมืองวุ่นวาย-การลงทุนรุ่งเรือง

AFP PHOTO / ANDRESSA ANHOLETE

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากบอกว่า บราซิลถือเป็นประเทศที่ยุ่งเหยิง วุ่นวาย และจากการที่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี จิลมา รุสเซฟฟ์ ออกจากตำแหน่งหรืออิมพีชเมนต์ ใกล้ถึงบทสรุป นับเป็นการยกระดับความตึงเครียดในประเทศที่เกาะกุมไปด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย การคอร์รัปชั่น และความไม่เท่าเทียมกัน

ถึงกระนั้น ธุรกิจต่างชาติยังคงกระตือรือร้นเมื่อมองมายังตลาดภายในบราซิล

สำหรับกองทุนบริหารความเสี่ยงหรือเฮดจ์ฟันด์ บริษัทเหมืองแร่ และผู้ผลิตรถยนต์หลายราย บราซิลมีมากกว่าแค่ดนตรีแซมบ้า ชายหาดและฟุตบอล

บราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา เป็นผู้ผลิตสินค้า อาหารและวัสดุหลากหลาย รวมถึงเป็นที่อยู่ของผู้บริโภค 200 ล้านคน นับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

Advertisement

ความตึงเครียดทางการเมืองพุ่งสูงในปีนี้จากการที่ประธานาธิบดีรุสเซฟฟ์ วัย 68 ปี ใกล้ถูกอิมพีชเมนต์จากข้อกล่าวหาว่าใช้เงินจากบัญชีของรัฐโดยมิชอบ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เงินสกุลเรอัลของบราซิลแข็งค่าขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

วุฒิสภาบราซิลเปิดฉากการไต่สวนเพื่ออิมพีชเมนต์รุสเซฟฟ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีกำหนดลงมติในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ที่อาจทำให้รุสเซฟฟ์ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยถาวร และมิเชล เตเมร์ รองประธานาธิบดีที่ตอนนี้รักษาการจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

นักวิเคราะห์เตือนว่า เตเมร์อาจเป็นนักการเมืองคนต่อไปในจำนวนหลายๆ คนที่ถูกจับได้ว่ามีส่วนพัวพันกับกรณีทุจริตอื้อฉาวของบริษัทพลังงานเปโตรบราสของรัฐบาลบราซิล

มาร์ก ไวส์บร็อต ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระบุว่า “ชาวบราซิลจะได้รัฐบาลที่สืบทอดนโยบายทางเศรษฐกิจอันน่ากังขาซึ่งล้มเหลวอย่างน่าเศร้าแบบไม่รู้จักจบสิ้น”

ขณะที่ จิเมนา บลังโก ผู้อำนวยการฝ่ายทวีปอเมริกาของบริษัทวิจัยความเสี่ยงเวอริสก์ เมเปิลครอฟต์ บอกว่า “รัฐบาลชุดปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นเช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้พวกเขายังคงทำงานได้”

แม้จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เตเมร์เข้ารับตำแหน่ง

ตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของบราซิลในปี 2558 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อ้างอิงจากตัวเลขของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด ขณะที่ในปี 2559 ธนาคารกลางบราซิลประเมินว่าอยู่ที่ 70,000 ล้านดอลลาร์

ดัชนีตลาดหุ้นเซาเปาโลเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลบราซิลระยะเวลา 10 ปีลดลง 28 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

สวนทางกับคะแนนนิยมในตัวของเตเมร์ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ จากโพลของดาตาโฟลญาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่าตราบใดที่ยังสามารถมองเห็นกำไรในระยะสั้น วิกฤตทางการเมืองก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image