วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันเชื้อแอฟริกาใต้ไม่ได้

แฟ้มภาพ เอเอฟพี

วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันเชื้อแอฟริกาใต้ไม่ได้

รอยเตอร์รายงานถึงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ร่วมกับ แคลลิท ผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอลที่แสดงให้เห็นว่า เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ หรือ บี.1.351 สามารถหลบเลี่ยงจากภูมิคุ้มกันที่วัคซีนซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ไฟเซอร์/ไบออนเทค กระตุ้นให้เกิดขึ้นในร่างกายได้

การทดลองดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 10 เมษายนนี้ ใช้ข้อมูลของชาวอิสราเอลราว 400 คน ซึ่งถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 14 วันหรือนานกว่านั้นหลังจากได้รับวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค โดยมีทั้งที่ได้รับเข็มเดียวและสองเข็ม เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุและเพศเหมือนๆ กัน

ผลการวิจัยพบว่าในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ศึกษา มีผู้ที่ติดเชื้อบี.1.351 ราว 1 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อตรวจสอบในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อบี.1.351 มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อบี.1.351ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยได้รับวัคซีนสูงถึง 8 เท่า คืออยู่ที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์กับ 0.7 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคมีประสิทธิภาพต่ำสำหรับการป้องกันเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยอมรับว่ากลุ่มตัวอย่างที่ใช้ครั้งถือว่ามีจำนวนน้อย และแม้ว่าผลวิจัยจะออกมาน่าวิตก แต่ข้อดีก็คือ บี.1.351 ไม่ได้เป็นเชื้อที่แพร่ระบาดกว้างขวางมากเท่ากับ บี.1.1.7 หรือเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงกว่า และทำหน้าที่ปิดกั้นการระบาดของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ไปในตัว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image