วิปโยคเมียนมา สู่สงครามกลางเมือง

สถานการณ์น่าหวาดหวั่นมากขึ้นทุกขณะ สำหรับสมรภูมิใน เมียนมา ซึ่งภาคประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การคุกคามทำร้ายประชากรที่ต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นในแทบทุกรูปแบบ ตั้งแต่การข่มขู่ จับกุม ไปถึงขั้นสั่งประหาร

ห้วงเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน ตามมาด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตทุกเพศทุกวัย จนล่าสุดเขยิบใกล้หลักพัน การชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยคำว่าสันติในช่วงเริ่มต้น ก้าวสู่ “สงครามกลางเมือง” นำมาสู่คำถามมากมายในทางออก

รวมถึงประเด็น “กองทัพสหพันธรัฐ” โดยกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนฝั่งประชาชน

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เจ้าของหนังสือ “กระบวนการสันติภาพแห่งเมียนมา/พม่า : ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์” ชวนให้มอง บริบทรอบนอก” ใน 2 ประเด็นว่า 1.ขณะนี้กระแสกดดันจากนานาชาติ ทั้งจากเลขาฯยูเอ็น หรือแม้กระทั่งชาติมหาอำนาจต่างๆ ยังไม่สามารถกดดันรัฐบาลเมียนมา หรือระงับความสูญเสียในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ 2.ท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านในการช่วยระงับความรุนแรง ทำได้เพียงการแสดงความห่วงใย ยังไม่เห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดการเจรจาที่จะนำไปสู่การยุติความรุนแรง ปัจจุบันความคลุมเคลืออย่างหนึ่ง คือเราไม่รู้ว่ารัฐบาลทหาร หรือ มิน อ่อง ลาย จะรับฟังใครเป็นพิเศษ

Advertisement

ส่วนภาพ ภายใน” ขณะนี้เข้าสู่การยกระดับเป็นสงครามกลางเมือง เต็มรูปแบบ” ซึ่งจะส่งผลให้เข้าสู่จุดหักเหสำคัญ

“คิดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงๆ น่าจะเกิน 800 คน กำลังเข้าสู่หลักพันแล้ว ซึ่งในแง่ของการศึกษาสงครามกลางเมือง นี่คือการยกระดับเข้าสู่การเป็นสงครามกลางเมืองแบบเต็มรูปแบบ สิ่งที่กำลังจะตามมาคือ จะทำให้โครงสร้างความรุนแรงภายในประเทศเปลี่ยนไปด้วย คือ เข้าสู่จุดหักเห กล่าวคือ จะไม่ใช่การชุมนุมประท้วงระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร การตั้งบังเกอร์ชุมนุมโดยสันติวิธี หรือการใช้ก้อนหินสู้กับกระสุนปืนอีกต่อไปแล้ว

“แต่ลักษณะความรุนแรงเปลี่ยนไปแล้ว ภาพที่ชัดเจนในปัจจุบันคือมีกระแสข่าวว่าคนจำนวนหนึ่งเริ่มไปฝึกยุทธวิธีในการต่อต้านในแบบใหม่ๆ คือใช้ความรุนแรงปะทะความรุนแรง โครงสร้างความขัดแย้งในการต่อต้านรัฐจะเปลี่ยนโหมด แนวโน้มสูงมากที่จะมีการใช้อาวุธ หรือแม้กระทั่งความพยายามในการชูเรื่องกองทัพสหพันธรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว

Advertisement

สำหรับกระแสการจัดตั้งกองทัพสหพันธรัฐ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิอธิบายถึงความซับซ้อนที่ยังต้อง “ข้ามกำแพง” ในหลายเรื่อง ปัจจุบันมีความพยายามจุดกระแสเรื่องกองทัพสหพันธรัฐ อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนประการหนึ่งคือ กลุ่มชาติพันธุ์มีความหลากหลายสูงมาก ก่อนอื่นต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ก่อน คือ 1.กลุ่มที่ลงนามในสัญญาสันติภาพแล้ว ซึ่งมี 10 กลุ่ม และ 2.กลุ่มที่ยังไม่ลงนาม โดย 10 กลุ่มที่ลงนามแล้ว แน่นอนว่ามีท่าทีในการต่อต้านกองทัพและรัฐบาลทหารอย่างชัดเจน และออกแถลงการณ์ด้วยว่าสนับสนุนภาคประชาชน ในการอารยะขัดขืน แต่กลุ่มที่ยังไม่ลงนาม มีท่าทีที่แตกต่างกันไป

กลุ่มที่ต่อต้านกองทัพชัดเจนคือ คะฉิ่น (KIA) ซึ่งพยายามสนับสนุนประชาชน และลงมือใช้กำลังโจมตีทหารด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคะฉิ่นได้รับความกดดันค่อนข้างสูงมาก กองกำลังของคะฉิ่นสูญเสียเยอะ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่ไม่แสดงท่าทีว่าจะต่อต้านกองทัพ โดยเฉพาะกองกำลังใหญ่สุดคือ กลุ่มว้า กลุ่มของเมืองลา หรือแม้กระทั่งโกกั้ง ซึ่งไม่ได้มีท่าทีชัดเจน เข้าใจว่าการตั้งกองทัพสหพันธรัฐจะสำเร็จหรือไม่ จุดหักเหสำคัญคือต้องถามว่า ว้าจะเอาด้วยหรือเปล่า เพราะว้าก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง เวลาพูดถึงว้าจะมากับ 7 กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือด้วย หรือแม้กระทั่งกองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งเป็นดาวรุ่งในปัจจุบันก็ประกาศชัดว่าสนับสนุนประชาชน ต่อต้านการรัฐประหาร แต่ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเอง เพราะมีแนวทางและอุดมการณ์ของตัวเองอยู่แล้ว จึงมีจุดยืนอีกแบบหนึ่ง

มาถึงตรงนี้ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ จึงมีบทวิเคราะห์เบื้องต้นว่า ประเด็นกองทัพสหพันธรัฐ ยังมีปัญหาและต้องข้ามกำแพงในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 1.อุดมการณ์ด้านการเมืองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ หลายกองกำลังยังเป็นเผด็จการ บางกองกำลังพยายามชูเรื่องประชาธิปไตย บางกองกำลังยังเป็นคอมมิวนิสต์ชัดเจน 2.เรื่องนโยบายและตัวผู้นำเอง 3.ประเด็นขัดแย้งเรื่องพื้นที่ยึดครอง

แน่นอนว่าการมีเป้าศัตรูคนเดียวกันซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทุกคนเห็นว่ากองทัพและรัฐบาลทหารเป็นศัตรูร่วม แต่ถามว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถร่วมกันต่อต้านรัฐบาลหรือไม่นั้น ยังมีประเด็นขัดแย้งกันเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ พื้นที่ยึดครอง ว้าก็อยากมีรัฐเป็นของตัวเอง ไทยใหญ่ ทั้งภาคเหนือของเจ้าป่างฟ้า และทางใต้ของเจ้ายอดศึก มีปัญหาของการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง เรามักคิดว่าเขาเป็นเอกภาพ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ รวมถึง ตะอ้าง หรือแม้กระทั่ง โกกั้ง แต่ละกลุ่มมีปัญหาเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ยึดครอง ซึ่งยังเป็นเงื่อนไขหลักที่เขาต้องคุยกันด้วย

นอกจากประเด็นเชิงการเมือง อีกหนึ่งมุมที่ไม่อาจมองข้ามคือ เศรษฐกิจ” ซึ่ง ผศ.ดร.ฐิติวุฒิมองว่า กลุ่มชาติพันธุ์หลายกองกำลัง แต่ละกลุ่มมีเศรษฐกิจในการหล่อเลี้ยงตัวเองตลอดเวลา จึงต้องมองมิติด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ครอบครองของกลุ่มเหล่านั้นด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ว้า ซึ่งไม่ได้เดือดร้อนว่าจะ “เทกแอ๊กชั่น” หรือไม่ เนื่องจากมีกองกำลังของตนเอง ผลิตอาวุธเอง มีพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเอง ที่สำคัญคือ มีความใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษ นี่คือเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการมีศัตรูคนเดียวกัน

ส่วนการเชื่อมโยงเปรียบเทียบกับ ซีเรีย” นั้น นักวิชาการท่านนี้มองว่า เงื่อนไขของเมียนมามีทั้งเหมือนและแตกต่างอย่างมาก กรณีเมียนมาเป็นไปไม่ได้ที่จะเหมือนซีเรีย เนื่องจากเพื่อนบ้านไม่เอาด้วย ไม่อยากให้เกิด ต่างจากซีเรียที่ประเทศเพื่อนบ้านของเขาเอาด้วย

ส่วนทางออกที่เป็นได้คือ การแก้ปัญหาจากภายในประเทศของเขาเอง ต้องหาทางคุยกัน แต่ปัญหาคือใครจะเป็นตัวเชื่อม ส่วนการเจรจาการทูตในทางลับก็จะทำให้เกิดการเจรจากันได้ แต่กองทัพกับ CRPH (กลุ่มบุคคลที่ตั้งรัฐบาลคู่ขนานมาต่อต้านกองทัพ) ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วย NLD (สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) นั้น แต่ละฝ่ายจะยอมถอยมากน้อยแค่ไหน เพราะ CRPH ยังยืนยันว่า ผลการเลือกตั้งของเขามีความชอบธรรม ในขณะที่กองทัพขี่หลังเสือแล้วก็ลงไม่ได้

ดังนั้น อย่างหนึ่งที่จะเป็นทางออกได้คือ กองทัพเมียนมาเกิดแรงกระเพื่อมภายใน และรู้ตัวว่าตอนนี้สูญเสียเยอะเกินไป จนรับไม่ได้และโดดเดี่ยวมากเกินไป ต้องลองดูว่ากองทัพเมียนมาจะตัดสินใจอย่างไร ส่วนของ CRPH ถ้ายังสู้ขนาดนี้ และสมมุติว่าในอนาคตจะตัดสินใจสร้างกองกำลังของตัวเองไปร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ เขาเองก็ต้องคิดถึงต้นทุนความสูญเสียหากประเทศมีสงครามยืดเยื้อ สงครามจุดให้เกิดง่าย แต่จบยากมาก มีความซับซ้อนมากกว่าการจุดสงคราม

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ภาวนาให้เกิดมากที่สุดคือ ทั้งกองทัพและ CRPS ควรตระหนักได้แล้วว่า มีคนตายมากพอแล้ว เมื่อตระหนัก ก็จะหาทางลงได้ง่ายขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image