องค์กรช่วยเหลือนักโทษซัด รบ.ทหารเมียนมา หมกเม็ดข้อมูลปราบม็อบ ชี้เข้าข่ายอาชญากรรม

แฟ้มภาพ การประท้วงในเมียนมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม (รอยเตอร์)

องค์กรช่วยเหลือนักโทษซัด รบ.ทหารเมียนมา หมกเม็ดข้อมูลปราบม็อบ ชี้เข้าข่ายอาชญากรรม

เมื่อวันที่ 22 เมษายน สมาคมเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) องค์กรเอกชนในเมียนมา ออกแถลงการณ์ตอบโต้และกล่าวหารัฐบาลทหารเมียนมา ว่า กำลังพยายามปกปิดและทำลายหลักฐานในการกระทำที่เข้าข่าย “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ของตนเอง ด้วยการออกมากล่าวหาเอเอพีพีว่า พยายามเพิ่มตัวเลขผู้ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุมประท้วงนับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์เรื่อยมาให้มากเกินจริงเป็น 738 ราย

ทั้งนี้ทางการเมียนมาอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมจริงเพียง 258 ราย โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่พยายามเข้าไปเคลียร์สิ่งกีดขวางและการปิดกั้นถนน เส้นทางสัญจรต่างๆ และส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้ “ก่อจลาจล” ไม่ใช่ผู้ประท้วงโดยสันติแทบทั้งสิ้น นอกจากนั้น 11 รายในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการยิงต่อสู้กันเองระหว่างผู้ประท้วง

เอเอพีพี ระบุว่า ข้อกล่าวหาและคำกล่าวอ้างของรัฐบาลทหารเมียนมาไร้สาระและเลื่อนลอย และแม้ว่าในถ้อยแถลงจะไม่เปิดเผยรายละเอียดของวิธีการยืนยันการเสียชีวิตแต่ละรายที่รวบรวมไว้ แต่เอเอพีพีระบุว่า ส่วนใหญ่ของกว่า 700 รายที่ทางกลุ่มระบุว่าเสียชีวิตนั้น มีรายชื่อกำกับไว้ชัดเจน รวมไปถึงอายุ ชื่อบิดาและรายละเอียดว่า แต่ละรายเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด จากสถานที่ใด มีเพียงราว 50 รายเท่านั้นที่ถูกระบุว่า “ไม่สามารถระบุชื่อ” ได้ แต่ เอเอพีพี ย้ำว่า ได้เห็นร่างของผู้เสียชีวิตทั้งหมดก่อนที่จะนำมารวมเข้ากับรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด

“ตัวเลข 738 รายเมื่อ 20 เมษายนไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นเกินจริง ศพทั้งหมดถูกระบุชัดเจน ตั้งแต่ถูกยิงที่ศีรษะ, ถูกทารุณกรรม, ถูกเผาทั้งเป็น, ทุบตีจนตาย, มัดและลากด้วยจักรยานยนต์ ทั้งหมดเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทางการ ทั้งตำรวจ, ทหาร หรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ” ถ้อยแถลงของเอเอพีพีระบุ พร้อมย้ำว่ารายชื่อทั้งหมด ถูกนำขึ้นไปรวมไว้บนเว็บไซต์วันต่อวันโดยที่สามารถเข้าถึงเพื่อตรวจสอบได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นใคร การกล่าวหาผ่านสื่อของรัฐของรัฐบาลทหารเมียนมา จึงเป็นความพยายามที่จะทำลายหลักฐานของความอำมหิต เพราะรัฐบาลทหารที่ผิดกฎหมายชุดนี้กำลังประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาตินั่นเอง

Advertisement

เอเอพีพี ยังอ้างด้วยว่า ระบอบการปกครองของทหารในเมียนมาใช้วิธีการปกปิดการเสียชีวิตที่แท้จริงมาตลอด จนเป็นเหตุให้จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงในเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในอดีตเมื่อปี 1988 จนบัดนี้ยังไม่เป็นที่รับรู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image