“เมียนมา” ความท้าทายของ “วิถีอาเซียน”

AP

“เมียนมา” ความท้าทายของ “วิถีอาเซียน”

ผู้นำอาเซียนจะจัดการประชุมพิเศษขึ้นในวันเสาร์ที่ 24เมษายนนี้ ที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือว่าอาเซียนจะดำเนินการอย่างไรได้บ้างกับสถานการณ์ที่นับวันจะถดถอยในเมียนมาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคและไกลออกไปกว่านั้น เป็นที่คาดกันว่าพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) จะเข้าร่วมการประชุมครั้งด้วย การประชุมสุดยอดครั้งนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ 54 ปีของอาเซียน และถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนจัดการประชุมในระดับสูงสุดเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่น่ากังวลในประเทศสมาชิก

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ที่ดูเหมือนจะไม่มีจุดสิ้นสุดสำหรับความรุนแรงและการสู้รบที่เพิ่มมากขึ้น แต่ละวันที่ผ่านไปมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากขึ้น เนื่องจากการปราบปรามโดยกองกำลังความมั่นคงที่รุนแรงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวในแนวทางอารยะขัดขืนยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไป และยังขยายฐานการสนับสนุนไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ

ในขณะที่นางออง ซาน ซูจี และผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัว ผู้ที่นำการเรียกร้องให้มีการฟื้นคืนประชาธิปไตยและต่อต้านการปกครองของทหารได้พยายามที่จะแสวงหาการสนับสนุนจากนานาชาติ และสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้ของพวกเขาโดยการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่นำโดยพลเรือน คู่ขนานกับ SAC ที่นำโดยทหาร

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูของเมียนมาซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด -19 อยู่แล้วก็กำลังตกอยู่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนได้รับความลำบากมากยิ่งขึ้น ขณะที่กองทัพเมียนมาดูมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามผู้เห็นต่างเพื่อต่อต้านความคิดเห็นจากโลก ที่น่าหวาดกลัวก็คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และเมียนมากำลังมุ่งหน้าไปสู่ความไม่สงบและกำลังจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว

Advertisement

ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษที่กรุงจาการ์ตาจึงมีขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง หลังจากมีการพูดคุยกันมาหลายครั้ง ในที่สุดอาเซียนก็ตระหนักว่าวิกฤตในเมียนมากลายเป็นปัญหาที่อาเซียนยากจะแก้ ซึ่งท้าทายสมมติฐานเก่าๆ หลายประการที่เป็นแนวปฏิบัติขององค์กรระดับภูมิภาคแห่งนี้ นั่นคือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของสมาชิก ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของสิ่งที่เรียกกันว่า “วิถีอาเซียน”

เห็นได้ชัดว่าโศกนาฏกรรมและความโหดร้ายที่เราได้เห็นในเมียนมามีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคโดยรวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและสถานะของอาเซียนในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ

สำหรับอาเซียน หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในควรต้องคำนึงถึงหลักการอื่นๆ ที่ถือเป็นพันธกรณีภายใต้กฎบัตรอาเซียน ซึ่งหมายรวมถึงหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ซึ่งระบุไว้ในนั้น แม้ว่ากฎบัตรอาเซียนจะเปิดช่องทางให้รัฐสมาชิกสามารถนำหลักการข้างต้นไปปฏิบัติในบริบทที่แตกต่างของแต่ละประเทศ แต่เราต้องตระหนักเสมอว่าประโยคแรกในคำนำของกฎบัตรอาเซียนเริ่มต้นด้วยวลี “We the peoples … “ (เราประชาชน…) นั่นหมายความว่ารัฐบาลของชาติสมาชิกอาเซียนทุกประเทศมีพันธกิจในฐานะตัวแทนของประชาชน และมีความรับผิดชอบหลักในการปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐบาลจะใช้แก้ตัวได้ในการอนุญาตให้ทหารหันปืนใส่พลเมืองของตนเอง ในการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน

Advertisement

ในกรณีของเมียนมา หากอาเซียนไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆ ผลที่จะตามมาอย่างแน่นอนคือความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียน การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ตลอดจนความสัมพันธ์และร่วมมือกับคู่เจรจา และที่สำคัญคือความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่เราพูดถึงกันอยู่ตลอดมา จะต้องประสบกับความเสื่อมถอยที่ไม่อาจแก้ไขได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากอาเซียนพิสูจน์ว่าไม่สามารถจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นในภูมิภาคของเราเองได้ ก็อาจเปิดทางให้ผู้อื่นที่อยู่นอกภูมิภาคเข้ามาแทรกแซงเพื่อผลักดันวาระและผลประโยชน์ของพวกเขา ทำให้อาเซียนจะต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ที่เมียนมาจะกลายเป็นเวทีสำหรับการแข่งขันและเผชิญหน้าของชาติมหาอำนาจ

AP

น่าเสียดายที่อาเซียนยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ ในด้านหนึ่งรัฐสมาชิกบางประเทศเช่นอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์ที่เพิ่งออกมาพูดเมื่อไม่นานมานี้ ได้วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างเปิดเผย และเรียกร้องให้อาเซียนดำเนินมาตรการเชิงรุกมากขึ้น ในทางกลับกันประเทศสมาชิกอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ดูเหมือนจะมีความคลุมเครือในจุดยืนของตน โดยเลือกที่จะไม่แสดงท่าทีที่เด่นชัดและรอดูสถานการณ์มากกว่า จนถึงขณะนี้อินโดนีเซียได้แสดงบทบาทในการผลักดันความริเริ่มทางการทูต แต่ความพยายามร่วมกันของอาเซียนมีน้อยมาก นอกเหนือจากการออกแถลงการณ์แสดงความกังวลของประธานอาเซียน ซึ่งค่อนข้างมีใช้ถ้อยคำที่ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนรวมถึงการประณามเมียนมา

แน่นอนว่าในการประชุมที่กรุงจาการ์ตา วัตถุประสงค์หลักในการมาของนายพลมิน อ่อง ลาย คือการแสวงหาการสนับสนุนและขอให้อาเซียนเข้าใจเมียนมา แต่ยังคงมีข้อสงสัยว่าเขาพร้อมที่จะเสนออะไรที่เป็นการผ่อนปรนอย่างแท้จริงหรือมีนัยสำคัญใดๆ หรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาเซียนต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจตีความได้ว่าเรายอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมียนมาว่าเป็นสิ่งที่จบลงแล้ว ประเด็นของการยอมรับเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดท่าทีอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพราะมันอาจกลายเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติคู่ขนานขึ้นโดยกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ความคาดหวังที่จะให้การประชุมในจาการ์ตามีความคืบหน้า ย่อมขึ้นอยู่กับการที่ผู้นำอาเซียนจะต้องเตรียมพร้อมที่จะมีท่าทีที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและพูดเป็นเสียงเดียวกันอย่างหนักแน่น ด้วยการเน้นย้ำให้พลเอกมิน อ่อง ลาย เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดในเมียนมาเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนและประชาคมโลก และมีแนวโน้มที่จะได้ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อภูมิภาคโดยรวมหากสถานการณ์ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ทหารเมียนมาจะต้องตอบสนองในเชิงบวกต่อความกังวลของอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับพัฒนาการในประเทศ หากกองทัพเมียนมายังคงปฏิเสธเสียงของประชาคมโลกต่อไป ย่อมจะทำให้เมียนมาก้าวเดินไปสู่เส้นทางของการโดดเดี่ยวตัวเองยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับเมียนมาและภูมิภาคโดยรวม ที่สำคัญผู้นำอาเซียนจะต้องหยิบยกประเด็นที่สำคัญเร่งด่วนขึ้นพูดพูดคุยกับนายพลมิน อ่อง ลาย อย่างตรงไปตรงมา อันได้แก่ การยุติความรุนแรงอย่างเร่งด่วน การปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งตอกย้ำข้อเรียกร้องให้ SAC เข้าสู่การเจรจาที่สร้างสรรค์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายในเมียนมา

ความจริงเราไม่ควรคาดหวังว่าจะมีการตอบสนองเชิงบวกใดๆ ในทันทีจากรัฐบาลทหารเมียนมา หลายคนแสดงความสงสัยว่ากองทัพเมียนมาพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกกับอาเซียนจริงหรือไม่ แม้จะเป็นเช่นนั้น อาเซียนไม่ควรที่จะลดละความพยายามที่จะกดดัน ผลักดัน และโน้มน้าวเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความพยายามที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาและเพื่อช่วยเหลือประชาชนเมียนมา และที่สำคัญการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษคงไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จที่ทุกฝ่ายคาดหวังได้ในคราวเดียว แต่ต้องเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการของการมีปฏิสัมพันธ์ของอาเซียนเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาต่อไป

ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงควรวางยุทธศาสตร์ทางการทูตที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการประสานงาน และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์สำหรับการการผลักดันไปให้เกิดความก้าวหน้า มีแนวคิดไม่น้อยทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษ (special envoy) หรือกลุ่มเพื่อนประธานอาเซียน (friends of the chair) เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการประสานงานระหว่างอาเซียนกันเอง และกับคู่เจรจาที่มีบทบาทสำคัญซึ่งคาดหวังจะเห็นบทบาทนำของอาเซียนในทางการทูต นอกจากนี้การดำเนินการด้านมนุษยธรรมโดยเลขาธิการอาเซียน เช่นเดียวกับกรณีภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีสและในช่วงวิกฤตโรฮีนจา น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับทหารเมียนมาในกรุงเนปยีดอให้เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยทางด้านมนุษยธรรม เพื่อนำไปสู่การพูดคุยในวงกว้างกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

เมื่อคำนึงถึงความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ อาเซียนต้องแนวทางที่ยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ในการใช้วิธีดำเนินการผ่านช่องทางที่หลากหลายที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งไม่ต้องจำกัดเฉพาะช่องทางทางการเท่านั้น รวมทั้งการดำเนินการทางการทูตแบบเงียบๆ ทั้งผ่านบุคคลหรือองค์กรที่มีความเชื่อมโยงและมีความเป็นกลาง เพื่อใช้เป็นการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา

วิกฤตในเมียนมาเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการคิดทบทวนและสร้างความเข้มแข็งให้กับวิถีอาเซียน (ASEAN way ) เพราะในท้ายที่สุดมันเป็นเรื่องของ “เราประชาชน … ” ตามที่เราได้ปรากฏในกฎบัตรอาเซียน และด้วยความมุ่งมั่นที่ว่าเราจะต้องไม่ทำให้ชาวเมียนมาผิดหวัง

สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image